xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรยิ้มออกยางราคาขึ้นต่อเนื่อง หลัง "เฉลิมชัย" โชว์ฝีมือทำราคาดีสูงสุดในรอบหลายปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แรงไม่หยุดจริง ๆ สำหรับราคายางพาราที่วันนี้พุ่งกระฉูดใกล้แตะ 100 บาทกิโลกรัมเข้าไปแล้ว จากตัวเลขหลังปิดตลาดล่าสุด( ณ 28 ต.ค.63) ราคายางแผ่นรมควันพุ่งแตะสูงสุด 82.80 บาท/กก. ที่ตลาดกลางยางพารา จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สงขลา

ส่วนตลาดกลางฯ จ.สุราษฎร์ธานี ราคาอยู่ที่ 82.69 บาท/กก. โดยหลังจากเปิดตลาดสัปดาห์นี้เพียง 3 วัน ราคาเพิ่มขึ้นกว่า 16 บาท คาดการณ์ว่าราคาสามารถพุ่งสูงต่อเนื่องอาจแตะ 100 บาท/กก.ได้ในไม่ช้า ทั้งนี้ ราคายางจะยังคงอยู่ในแนวบวกอย่างต่อเนื่อง และทะลุแนวต้านสูงสุดในรอบ 3 ปี 5 เดือน

ปฎิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจากปัจจัยกลไกตลาดและมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะการขับเคลื่อนโมเดล "เกษตรฯ-พาณิชย์ทันสมัย”และนโยบาย”เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ซึ่งเป็นความร่วมมือการทำงานระหว่าง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ได้ดำเนินงานร่วมกันตั้งแต่ปีที่แล้วทั้งโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางเฟส1และ2 โดยเฟส2 เริ่มเมื่อวันที่1ตุลาคม ผ่านมา โดยกำหนดราคายางแผ่น 60 บาท/กก. น้ำยางสด 57 บาท/กก. ยางก้อนถ้วย 46 บาท/กก. แม้ขณะนี้ราคายางแผ่นรมควัน จะทะลุเกิน 60 บาท กก.ไปแล้ว แต่โครงการก็ยังคงต้องดำเนินการต่อไป

“ขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารามีความสุข ยิ้มได้ กระทรวงเกษตรฯจึงเตรียมปรับเป้าหมายราคายางพาราสูงขึ้นมากกว่า 65 บาท/กิโลกรัม (กก.) หลังผ่านเป้าหมายแรก 60 บาท/กก. แต่โครงการประกันรายได้ชาวสวนยางพารา ระยะที่ 2 (เฟส 2)ก็ยังคงต้องดำเนินการต่อไป” บางช่วงบางตอนที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวระหว่างนำคณะลงพื้นที่พบปะพี่น้องชาวสวนยางในจ.นครศรีธรรมราชวันก่อน

และการเดินทางไปเปิดตลาดสินค้าเกษตรที่ประเทศจีนของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 พร้อมลงนามความร่วมมือ(MOU)ซื้อขายสินค้าเกษตรกันในหลายฉบับทั้งยางพาราและข้าว รวมไปถึงการศึกษาดูงานเทคโนโลยีการเกษตรต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในประเทศไทย ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เริ่มส่งผลให้เห็นเป็นรูปธรรมในวันนี้

ซึ่งในส่วนของยางพารานั้นได้มีการหารือร่วมกับผู้บริหาร บ.ชิโนเคม กรุ๊ป ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับฝ่ายจีนว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายในการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรทุกชนิด โดยเฉพาะยางพารา ซึ่งประเทศไทยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนและมีมาตรการต่างๆ ที่จะอำนวยความสะดวกให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนเรื่องยางพารา ซึ่งล่าสุด บ. Sino - Chem International มีแผนเข้ามาลงทุนธุรกิจยางพาราในจ.ระยองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ยังได้จับมือ 3 บริษัทน้ำยางข้นยักษ์ใหญ่จีน 

โดยลงนามความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางด้านธุรกิจระหว่างการยางแห่งประเทศไทย กับ 3 บริษัทน้ำยางข้นจีน ได้แก่ 1. บ. GOAMI ZHENGFENG TRADING (บ.นำเข้าน้ำยางข้น อันดับ 1 ของจีน) 2. บ. NINGBO CHANGHKEN (บ.นำเข้าน้ำยางข้นจากไทยเป็นอันดับ 1) 3. บ. SANGDONG XINGYU (บ. ใช้น้ำยางข้นผลิตถึงมือยางอันดับ 1 ของจีน) ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชาจีนอีกด้วย

ขณะเดียวกันความต้องการยางในตลาดโลกและประเทศจีนมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นอ้างอิงได้จากปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติเดือนตุลาคม 2563 อยู่ที่ 4.4 แสนตัน น้อยกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ ร้อยละ 10 ขณะเดียวกันความต้องการยางในตลาดเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ สินค้าประเภทยุทธภัณฑ์ ถุงมือยาง ยางยืด

ล่าสุดยอดการใช้ยางพาราในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยจีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้ายางที่มากที่สุด มีการเติบโตของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.9 ดัชนี PMI ของจีนยังอยู่ที่ 51.50 ซึ่งอยู่เหนือระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจยังคงมีการขยายตัว คำสั่งซื้อยางของจีนจากต่างประเทศกลับมาฟื้นตัว การจำหน่ายรถยนต์ของจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 63 กำลังการผลิตของโรงงานผลิตยางรถยนต์เพิ่มขึ้น จึงมีแนวโน้มใช้ยางมากขึ้น เชื่อว่าราคายางยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อไป

ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของ”โควิด-19” เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคายางพุ่ง เหตุความต้องการใช้ยางธรรมชาติ เพื่อนำใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยางและอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้น

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่าการส่งออกถุงมือยางเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา ได้ขยายตัวสูงถึง 154.9% ขณะที่การส่งออก 9 เดือนปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) ขยายตัว 61.4% ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่ดีขี้น ทำให้ไทยคงมีคำสั่งซื้อต่อเนื่องถึงปี 2564
ขณะที่ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทยระบุจากการที่โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก ณ ปัจจุบัน( ณ 29 ต.ค.63 มีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 42 ล้านคนและเสียชีวิต 1.1 ล้านคน มีความต้องการใช้ถุงมือยาง ไม่น้อยกว่า 400 ล้านชิ้นต่อวัน ขณะยางสังเคราะห์(ไนไตร)ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตขาดตลาดและราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก จึงนักลงทุนหันมาสั่งซื้อยางธรรมชาติ(ลาเทค)แทน ซึ่งราคาถูกลงกว่าครึ่ง
โดยปัจจุบันราคายางสังเคราะห์(ไนไตร)อยู่ที่ 3,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ยางธรรมชาติ(ลาเทค)ราคาอยู่ที่ 1,600 เหรียญสหรัฐต่อตัน  

“เฉพาะแพทย์ พยาบาลใช้ถุงมือยางเฉลี่ย 10 ชิ้น(5คู่)ต่อผู้ป่วยต่อคนต่อวัน เมื่อผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น 42 ล้านคนทั่วโลก ปริมาณการใช้ถุงมือยางก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ยังไม่นับรวมคนทั่วไปที่ต้องการใช้ถุงมือยาง จึงเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่ต่างชาติหอบเงินเข้ามาลงทุน เพราะความต้องการถุงมือยางจากทั่วโลกขณะนี้ยังมีอีกมาก” อุทัย สอนหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาสภาการยางแห่งประเทศไทย (สภยท.)ให้ความเห็น
ขณะ ผศ.ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนและผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมยางพารา มองว่าโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความต้องการยางธรรมชาติ(ลาเทค)มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยางที่มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เฉพาะในวงการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้นยังกระจายไปสู่โฮมยูส และคนทั่วไปอีกด้วย. 

“ตราบใดที่โควิด-19 ยังระบาดการใช้ถุงมือยางก็จะยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้หลังโควิดเชื่อว่าการใช้ถุงมือยางก็จะยังไม่ลด เพราะคนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น ฉะนั้นรัฐจะต้องเร่งดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่เอื้อต่อนักลงทุนผลิตถุงมือยางตั้งแต่วันนี้ทันทีถ้าจะรอไปอีก 3-5 ปีก็คงจะไม่ทันการ”ผศ.ดร.มนต์ชัยกล่าวย้ำ




กำลังโหลดความคิดเห็น