วิพากษ์หลักสูตรแบบเรียนสถานศึกษา พบเนื้อหาลดทอนคุณค่าผู้หญิง ตอกย้ำความเชื่อชายเหนือกว่า จี้ ศธ.รื้อถอนระบบตำราเรียน ด้าน “นักวิชาการ” ชี้แบบเรียนที่กดทับเป็นอุปสรรคต่อความเสมอภาคระหว่างเพศ ใช้อำนาจเหนือครอบงำ นำไปสู่ความก้าวร้าวรุนแรง ขณะที่ “กลุ่มนักเรียนเลว” เรียกร้องปฏิรูประบบการศึกษาทั้งระบบ
วันนี้ (21 ตุลาคม 2563) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์เพื่อการขับเคลื่อนสังคม จัดเวทีเสวนา “เมื่อแบบเรียนเป็นอุปสรรคต่อความเสมอภาคระหว่างเพศ”
นางสาวศศิธร สรฤทธิ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯ ได้ศึกษาข้อมูลเนื้อหาหนังสือเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2551 กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ระดับประถมศึกษา ปีที่ 1-ระดับมัธยมศึกษา ปีที่ 6 ปีการศึกษา2561-2563 พบเนื้อหาในหนังสือเรียนสะท้อนความแตกต่างผู้ชายอยู่เหนือผู้หญิงชัดเจน แบบเรียนไม่ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ เนื่องจากเนื้อหาแบบเรียนระดับประถม
พบว่า 1. แตกต่างกันระหว่างเพศด้านอารมณ์ ลักษณะนิสัย คือ เพศชาย ชอบเล่นกีฬา ใช้พละกำลัง ที่ท้าทาย ส่วนเพศหญิง จะทำกิจกรรมที่ใช้พละกำลังน้อย เช่น เล่นขายของ ทำอาหาร เล่นตุ๊กตา 2. แตกต่างด้านบทบาทหน้าที่ พบว่า เพศชายเป็นผู้นำครอบครัว หารายได้เลี้ยงครอบครัว ส่วนเพศหญิง ดูแลความสะอาดในบ้าน ช่วยเก็บออมและหารายได้เลี้ยงครอบครัว ทำอาหารให้ทุกคนรับประทาน 3. แตกต่างด้านพฤติกรรมทางเพศ นำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ พบเนื้อหา การแต่งกายล่อแหลม ยั่วยุอารมณ์ทางเพศของเพศหญิง คือในแบบเรียนระบุว่า ผู้หญิงต้องรู้จักรักนวลสงวนตัว แต่งกายไม่รัดรูป ไม่เปิดเผยเนื้อตัวมากเกินไป ระมัดระวังตนเองไม่ปล่อยตัวปล่อยใจตามอารมณ์ นอกจากนี้ การใช้ภาพประกอบในหนังสือเรียน ยังผูกขาดให้ผู้หญิงเป็นบทบาทของแม่ ดูแลลูก ทำงานบ้าน ใช้ชีวิตในบ้าน ส่วนผู้ชาย เป็นหัวหน้าครอบครัว ทำงานนอกบ้าน ใช้ชีวิตนอกบ้าน หารายได้ เป็นต้น
“เนื้อหาแบบเรียนถือเป็นเบ้าหลอมสำคัญในการสร้างเสริมเจตคติ มิติหญิงชาย ความเสมอภาคระหว่างเพศ ผ่านโรงเรียน สื่อการสอน โครงสร้างโรงเรียนและแบบเรียนที่ใช้จากรุ่นสู่รุ่น และสิ่งสำคัญคือ บุคลากรทางการศึกษาล้วนมีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของนักเรียน จากข้อมูลที่ปรากฏในแบบเรียน ทางมูลนิธิฯ จึงมีข้อเสนอเพื่อให้กระทรวงศึกษาฯ นำไปพิจารณา
ดังนี้ 1. หลักสูตรแกนกลางต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยออกแบบหลักสูตรที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียมกันทุกเพศ ทุกวัย เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองที่เคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายของตนเองและผู้อื่นอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม 2. ปรับปรุง พัฒนา แก้ไข และยกเลิกเนื้อหาแบบเรียนที่กดทับ ตอกย้ำทางความคิดความเชื่อที่มองว่าเพศชายเหนือกว่าเพศอื่นๆ เช่น ผู้ชายเป็นผู้นำ เข้มแข็ง ผู้หญิงเป็นแม่บ้าน เลี้ยงลูก เป็นต้น 3. ต้องพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา โดยเฉพาะวิชาชีพครูที่ต้องมีความรู้ ความเข้าใจในแนวคิดการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายของตัวเองและผู้อื่น และมีแนวทางการสอนที่สอดคล้องกับช่วงวัยของเด็ก 3 ช่วง คือ เด็กเล็ก เด็กก่อนวัยรุ่น และวัยรุ่น 4. ผู้บริหารโรงเรียนต้องยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติในการเลือกแบบเรียนที่มีความก้าวหน้า ไม่มีเนื้อหาการละเมิดสิทธิเด็ก 5. ควรพัฒนาให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกเพศทุกวัย เป็นพื้นที่เคารพในเนื้อตัวร่างกายของกันและกัน” นางสาวศศิธรกล่าว
ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วิธีคิดของคนที่สร้างหลักสูตรนี้ถือว่าล้าหลัง ไม่เสมอภาคเท่าเทียมระหว่างเพศ เนื่องจากแบ่งแยกเนื้อหาออกเป็น 2 ขั้วชายหญิง ปลูกฝังระบบเพศสภาพที่มากำกับพฤติกรรม วิธีคิด การใช้ชีวิต การมองโลก ปลูกฝังขั้วตรงข้ามให้แก่ผู้เรียน ปลูกฝังผู้เรียนไม่ให้ยืดหยุ่น ไม่ปรับตัว เอาเพศตัวเองเป็นศูนย์กลาง ยึดมั่นกับกฎกติกาที่ตายตัว จึงยากที่จะปรับเปลี่ยน เพราะเป็นการปลูกฝังทางอ้อมที่แนบเนียนและเป็นอันตราย นำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด
ดร.ชเนตตี กล่าวว่า การคิดที่เนื้อหาฝังหัวให้มองว่าโลกนี้มีแค่หญิงกับชาย ส่วนผู้หญิงต้องเป็นผู้หญิงที่ดี รักนวลสงวนตัว สุภาพอ่อนหวานน่ารัก ทำงานบ้าน เป็นภรรยา เป็นแม่ สุดท้ายจะกลายเป็นกับดักทำให้ผู้หญิงไม่มีทางเลือกมากในชีวิต ทำให้เยาวชนหญิงเติบโตอย่างไร้คุณภาพ เพราะเขามองไม่เห็นทางเลือกอื่น ซึ่งเป็นแนวคิดที่เน้นการเปรียบเทียบ อำนาจครอบงำกำกับอยู่เบื้องหลังระหว่างเพศ ทำให้อีกเพศหนึ่งนั้นสยบยอม ส่วนอีกฝ่ายกลายเป็นคนที่มีความแข็งกร้าว ดุดัน กดขี่ ไม่รับฟัง เพราะใช้อำนาจในฐานะที่ถูกปลูกฝังให้เป็นผู้นำ สุดท้ายจะผลิตเยาวชนไม่ให้ยอมรับในความแตกต่าง ไม่ยืดหยุ่นไม่ปรับตัว ไม่ยอมรับความหลากหลาย ใช้อำนาจเหนือครอบงำ ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง มักจะเป็นคนพิพากษาสิ่งต่างๆ ในสังคม นอกจากวิธีคิดแบบนี้จะไม่เหลือพื้นที่ให้กับเพศสภาพ แล้วความหลากหลายอื่นๆ ก็จะถูกขจัด สร้างความร้าวฉานรุนแรงได้
“ศธ.ต้องยกระดับเนื้อหาหลักสูตร เพราะโลกมันไปไกลแล้ว ต้องรื้อถอนวิธีคิดแบบเพศออกไป แล้วเอาคุณลักษณะของความเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ก็ต้องมีทางเลือกที่หลากหลาย ไม่ยึดติด ไม่ตีตราเพศใดเพศหนึ่ง ไม่พยายามจัดกล่องให้ผู้หญิงผู้ชายมีคุณลักษณะที่ตายตัว แต่ต้องสามารถเรียนรู้ที่จะเติบโตเป็นคนที่มีคุณค่า และหลักสูตรต้องเน้นให้เด็กรู้จักระบบโครงสร้างวัฒนธรรมต่างๆ ในสังคม สอนให้รู้เท่าทัน ที่สำคัญ หาก ศธ.มีตำราเรียนมีเนื้อหาปรับปรุงใหม่และพร้อมสำหรับเด็กแล้ว ศธ.ต้องสร้างครูผู้สอนรุ่นใหม่ที่มีสำนึกเข้าใจ มีความเท่าเทียม มองเห็นความยุติธรรมในเรื่องเพศ เลิกจัดวางเด็กหญิงเด็กชายลงตามกรอบ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่า เรามีตำราที่ก้าวหน้า แต่ผู้สอนยังเข้าไม่ถึงตำรา” ดร.ชเนตตีกล่าว
นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษกฯ กล่าวว่า อำนาจนิยมเป็นการจัดการความกลัวของผู้ที่มีอำนาจ เราไม่กล้าที่จะให้เด็กๆ เติบโตได้ จึงทำให้อำนาจนิยมในโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้ใหญ่ที่ทำงานกับเด็ก ผ่านวาทกรรมคำว่ารัก ความหวังดี ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาจึงควรทำการปฏิรูปทั้งระบบ ไม่ใช่การปฏิรูปบางส่วนเท่านั้น ตนอยากให้การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาครั้งต่อไปควรเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เข้ามามีบทบาทในการปฏิรูประบบการศึกษาของพวกเขา อำนาจนิยมที่กดทับมาเรื่อยเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ในที่สุดจะเกิดการสะสม และจะเกิดเป็นแรงต้านขึ้นมา การเรียกร้องของเด็กๆ ในวันนี้เป็นสิ่งที่ชอบธรรมมากที่สุด
“เมื่อเราเป็นเจ้าของอำนาจ เราหวงอำนาจของเรา การเข้ามาเขย่าของเด็กๆ ในครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนในสังคม แต่เราจะต้องใช้ความอดทนอย่างเพียงพอ ที่ผ่านมาเราไม่เคยตั้งคำถามกับรากเหง้าของปัญหา แต่เรามักจะตั้งคำถามกับผู้ที่ถูกกระทำ” นางทิชากล่าว
ขณะที่ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลวเสนอว่า เนื้อหาแบบเรียนตอนนี้ควรแก้ได้แล้ว เพราะไม่สอดคล้องกับชีวิตจริง ลักษณะแบบนี้มันสะท้อนความคิดผิดเพี้ยนบิดเบี้ยว เช่น รักนวลสงวนตัว ไม่แต่งตัวล่อแหลม คือ เวลาเกิดคดีข่มขืน จะโทษเหยื่อว่าแต่งตัวโป๊ นอกจากนี้ ในข้อสอบชอบตั้งคำถามกับผู้ถูกกระทำ อย่างเรื่องที่เป็นความไม่เท่าเทียมทางเพศ ที่พบเห็นในบทเรียนบอกว่า ผู้ชายเข้มแข็ง เป็นผู้นำ ผู้หญิงจะต้องเรียบร้อย ในบทเรียน #saveเกี๊ยว หรือตัวละครหนึ่งในบทเรียนภาษาไทย หนังสือภาษาพาที หนังสือบอกว่าเกี๊ยวทำตัวแบบนี้เท่ากับผิด หรือบทเรียนเรื่อง ใครทำหน้าที่ภายในบ้าน คำตอบที่ถูกคือ เเม่ ถ้าตอบพ่อคือผิด ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ควรยัดความคิดเรื่องแบบนี้ แสดงให้เห็นความล้าหลังของหลักสูตรอย่างเห็นได้ชัด จึงเรียกร้องต่อกระทรวงศึกษาฯ ให้ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ
“สิ่งเหล่านี้มันโยงไปสู่จุดเดิม เป็นระบบอำนาจนิยม เราทุกคนถูกกดทับ แบบเรียนเป็นอุปสรรคล้าหลัง ถูกผลักไม่ให้เห็นคุณค่าของตัวเอง เพศหญิงไม่จำเป็นต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก มันเหมือนถูกผลักให้ต่ำลง สุดท้ายทำให้สังคมมีปัญหา อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ทางกลุ่มนักเรียนเลวกำลังทำเคมเปญ นักเรียนแต่งกายแบบที่ต้องการ แบบไหนก็ได้ เพราะเป็นสิทธิ” ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลวกล่าว