เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ครอบครัวของเราเลือกไปแบ่งปันสิ่งดี ๆ ในโอกาสครบรอบวันเกิดของคนข้างตัวด้วยการไปเลี้ยงอาหารกลางวันมื้อพิเศษและบริจาคหนังสือพร้อมสเปรย์แอลกอฮอล์ที่ ‘บ้านกาญจนาภิเษก’ หรือเรียกเต็ม ๆ อย่างเป็นทางการว่า ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ที่มี ‘ป้ามล’ ทิชา ณ นคร เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ
บ้านกาญจนาภิเษกเป็น 1 ใน 19 สถานดูแลเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาด และเป็นหนึ่งเดียวที่มอบหมายให้ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกผู้อุทิศตนเพื่อให้เด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดสามารถออกไปใช้ชีวิตปกติของสังคม โดยเด็กและเยาวชนที่มาอยู่ที่บ้านกาญจนาภิเษกฯ ดำเนินตามคำสั่งศาล ภายหลังจากต้องคำพิพากษาก็อยู่ที่ว่าจะอยู่กี่ปีระหว่าง 3 - 6 ปี ซึ่งเยาวชนแทบทั้งหมดที่ก้าวพลาดมาอยู่ที่นี่ ส่วนใหญ่มีคดีค่อนข้างไปในทางอุกฉกรรจ์ หลายคดีเป็นข่าวหน้า 1 ในอดีต
แต่บ้านกาญจนาภิเษกก็ได้ชื่อว่าเป็นสถานพินิจฯตัวอย่างที่มีบรรยากาศค่อนข้างร่มรื่น รั้วเตี้ย ประตูเปิดตลอดเวลา เด็กและเยาวชนสามารถออกข้างนอกได้ตามกฎและเงื่อนไข และเมื่อออกไปแล้วทั้งหมดก็จะกลับมา ฉะนั้น บุคคลภายนอกที่จะเข้าไปเลี้ยงอาหารที่ศูนย์ฯแห่งนี้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ป้ามลกำหนด อาทิ ต้องไม่มีการให้เด็กและเยาวชนเข้าแถวเดินเข้าไปรับ ต้องไม่มีการถ่ายภาพเด็กและเยาวชน
ป้ามลบอกพวกเราว่า “บ้านกาญจนาภิเษกไมใช่คุก เยาวชนไม่ใช่นักโทษ เจ้าหน้าที่ไม่ใช่ผู้คุม ” ป้ามลมีหน้าที่เข้ามาสร้างทีมงานให้มีความเข้าใจเด็ก เป็นผู้ให้คำปรึกษา ทำงานร่วมกับพ่อแม่ของเด็ก ร่วมกันสร้างกระบวนการที่จุดประกายเด็กให้เห็นคุณค่า เห็นด้านที่ดีของตัวเอง เอื้อต่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้กลับไปหาด้านมืด เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับออกไปเผชิญโลกภายนอกต่อไป
ทำให้นึกถึงหนังสือ “เด็กน้อยโตเข้าหาแสง” ซึ่งป้ามลเคยบอกไว้ว่า "ตําแหน่งที่ครูยืนอยู่เป็นจุดที่เหมาะสมที่สุดที่เราจะปล่อยแสงสว่างออกจากตัว แล้วอดทนรอให้ต้นอ่อนเหล่านี้งอกงามขึ้นมาเอง เราไม่ต้องไปกังวลว่าเขาจะไม่รู้ว่าอะไรดี ไม่ดี เด็กก็เหมือนต้นไม้พวกเขาโตเข้าหาแสงเสมอ ขอให้เราแน่ใจว่าจะทําตัวเป็นแหล่งกําเนิดแสง อย่าเป็นหลุมดำก็แล้วกัน”
ที่จริงเป้าหมายที่ครอบครัวเราเลือกไปแบ่งปันที่บ้านกาญจนาภิเษก ส่วนหนึ่งเพราะเห็นสิ่งที่ป้ามลคิดและทำงานกับเด็กและเยาวชน ซึ่งต้องมีพลังใจที่ยิ่งใหญ่ในการฟันฝ่าอุปสรรครอบด้าน แต่ประเด็นสำคัญอีกประการก็คืออยากให้ลูกชายทั้ง 2 คน ซึ่งอยู่ในวัยไล่เลี่ยกับเด็กและเยาวชนที่นั่น ได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงชีวิตของวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยที่ก้าวพลาด และเป็นก้าวที่พลาดเพราะคำว่า “ชั่ววูบ” ก็มีไม่น้อย
และมีเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่ก้าวพลาด บางคนก้าวพลาดและถูกตราหน้าไปตลอดชีวิต ไม่มีแม้โอกาสได้กลับตัว แต่ถ้าเด็กได้รับ “โอกาส” มีผู้ใหญ่ที่เข้าใจ ให้โอกาส และมีกระบวนการในการสร้างทักษะชีวิตที่เหมาะสม เราก็จะมีเด็กและเยาวชนกลับคืนสู่สังคมได้เช่นกัน บางคนถึงกับพร้อมจะช่วยเหลือผู้อื่นต่อไปอีกต่างหาก
ก่อนไปดิฉันก็ทำการบ้านกับลูกชายทั้งสอง เล่าให้พวกเขาฟังว่าที่นี่มีที่มาที่ไปอย่างไร มีเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดอย่างไร และก็ชวนพูดคุยกันพอสมควรก่อนจะไปถึงสถานที่ดังกล่าว
และเมื่อไปถึงสถานที่ได้พบกับป้ามล และสิ่งที่ป้ามลเตรียมการ คือบอร์ดแสดงความเป็นมาของพวกเรา โดยเฉพาะลูกชายทั้งสองคน ซึ่งพอดีลูกชายคนโต “สรวง สิทธิสมาน” เพิ่งมีคลิปให้สัมภาษณ์สื่อและงานเขียนอยู่ในโลกออนไลน์ ป้ามลนำมาเป็นกรณีศึกษา รวมถึงมีรูปครอบครัวเราประดับอยู่บนบอร์ด รวมทั้งการ์ดคำที่เด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษกเขียนแสดงความรู้สึกสั้น ๆ พร้อมกับสมุดแทนคำขอบคุณจากลูกหลานบ้านกาญจนาภิเษก
บทสนทนาที่ได้พูดคุยกับป้ามลในวันนั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวของบ้านกาญจนาภิเษก แม้โดยส่วนตัวก็ติดตามงานการและชีวิตของป้ามลอยู่แล้ว แต่เมื่อได้มาเห็นขั้นตอนและกระบวนการในการจัดการในฐานะเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ก็อดทึ่งและประทับใจไม่ได้ เพราะป้ามลไม่ใช่ผู้บริหารที่ทำงานตามหน้าที่ แต่ได้ใช้หัวใจในการขับเคลื่อนงาน มีความเข้าใจในพัฒนาการช่วงวัย และใช้ความรักในจัดการ บนพื้นฐานที่เชื่อว่าเด็กสามารถเปลี่ยนแปลงได้ถ้าพวกเขาได้รับ “โอกาส”
ป้ามลเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ป้ามลก็เคยนำกรณีของ “สิน สิทธิสมาน” ลูกชายคนเล็ก ที่เคยเกือบมีอาการน็อตหลุด หรือภาษาวัยรุ่น “หัวร้อน” กับเพื่อนต่างชาติ เมื่อครั้งที่เรียนอยู่ที่เมืองจีน จนเกือบชกต่อยกัน แต่ด้วยสำนึกที่ว่าถ้ามีเรื่องแล้ว ผลที่ตามมาคงใหญ่หลวง เพราะเขาเป็นเด็กนักเรียนทุนด้วย มีเงื่อนไขว่าถ้ามีเรื่องก็อาจถูกส่งกลับประเทศ แต่อีกประการก็ไม่อยากให้พ่อแม่ร้อนใจไปด้วย
สุดท้ายก็ยอมสะกดอารมณ์ แม้จะมีเรื่องกันอีกพักใหญ่แต่เมื่อมีใครฝ่ายหนึ่งไม่ต่อความยาวสาวความยืด ทุกอย่างก็ยุติลง
สิ่งที่สินบอกในตอนนั้นคือ เขาสะกดอารมณ์สุดๆ คิดเพียงว่า “คนอาจจะมองว่าผมยอม หรือขี้แพ้ แต่จริง ๆ แล้วผมก็มีวิธีรับมือในแบบของผม ผมมาที่นี่ไม่ได้ต้องการมามีเรื่อง ผมเพียงแค่ต้องการมาเรียนให้ได้ความรู้ สอบผ่าน และจบ”
และเรื่องนี้เองที่ป้ามลได้มีโอกาสอ่านงานเขียนชิ้นนี้ของสิน ป้ามลจึงนำไปเป็นบทเรียนให้กับเด็กในบ้านกาญจนาภิเษก และชี้ให้เห็นว่าต้นทุนเรื่องครอบครัวมีความสำคัญมาก เมื่อเด็กที่มีต้นทุนจากครอบครัวที่ดี ก็จะมีวัคซีนใจมากกว่า เด็กที่ต้นทุนครอบครัวพร่อง หรือแม้แต่บางคนไม่มีแม้แต่ต้นทุนเลย
จากนั้นพวกเราก็เดินดูบอร์ดนิทรรศการที่แสดงถึงกระบวนการต่าง ๆ ของบ้านกาญจนาภิเษกที่ให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรม ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่ามีความเข้าใจและมีกระบวนการที่สร้างเป้าหมายคืนเด็กสู่สังคมที่ชัดเจน ซึ่งขณะที่พวกเรากำลังเดินดูรอบ ๆ ก็พบเห็นเด็ก ๆ กำลังทำกิจกรรมบริเวณลานกว้าง ครอบครัวเราไม่ได้เดินไปรบกวนเด็กและเยาวชน ได้เพียงแต่แอบมอง และภาพที่อยู่เบื้องหน้า พวกเขาก็คือวัยรุ่นปกติที่มีเสียงหัวเราะ กำลังทำงานกันเป็นกลุ่ม หาได้มีภาพของเด็กที่ก่อคดีอุจฉกรรจ์แต่อย่างใด
จากกรณีของครอบครัวเราสามารถถอดบทเรียนออกมาได้ว่า ป้ามลใช้วิธีให้เด็ก ๆ "เรียนชีวิตจากชีวิต" ให้เด็กเรียนรู้เรื่องราวชีวิตจากครอบครัวที่มาแบ่งปันให้พวกเขา แล้วให้พวกเขาสะท้อนชีวิตของครอบครัวเรา โดยเฉพาะลูกชายวัยรุ่น 2 คนมาเป็นบทเรียนให้เด็กถอดรหัสชีวิตของตัวเอง มองว่ามีอะไรที่หายไป มีอะไรที่ยังเหลืออยู่ เพื่อผลักดันให้เขาเป็นผู้รอดได้เหมือนกัน และมีบทเรียนใดเป็นกรณีศึกษาได้บ้างหรือไม่
ดิฉันได้อ่านบทสรุปงานกลุ่มที่ป้ามลโยนโจทย์เรื่อง ‘ทักษะชีวิต : ซ่อมความคิด ปรับพฤติกรรมเพื่อเปลี่ยนชีวิต’ ให้กับเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษกในหนังสือแทนคำขอบคุณ สารภาพว่าน้ำตาซึมทีเดียว
1. ผมคิดว่าครอบครัวนี้เห็นถึงคุณค่าตัวตนของพวกผมในบ้านหลังนี้ และการที่ครอบครัวนี้นำเงินมาบริจาคเพื่อเยาวชนที่ก้าวพลาด ครอบครัวนี้มีความเมตตามาก ๆ
2. คือการที่ป้าทำอย่างนี้ เพราะป้าพยายามทำให้รู้ว่า เราทุกคนควรมีการนึกถึงใจเขาใจเรา ให้เกียรติ์ความเป็นมนุษย์ ที่ควรมีสิทธิเท่าเทียมกันครับ
3.ในวิกฤติตอนนี้ อาชีพแต่ละอย่างอาจขาดรายได้ สิ่งใดที่ช่วยแบ่งเบากันได้ก็ช่วย ซึ่งสิ่งสำคัญและผมคิดว่าดีมากๆ ต่างคนต่างช่วยกันในวิกฤตินี้
4. ผมมีวิชาชีวิต มีหลักคิดที่เติบโต คิดก่อนจะทำอะไร มีการเปลี่ยน มองเห็นจุดยืนที่ดีต่อตัวเราและคนรอบข้าง ไม่กลับไปทำแบบเดิม
ถัดจากนั้น ป้ามลได้จัดกระบวนการต่อ โดยให้เด็ก ๆ จับกลุ่มร่วมคิดร่วมคุยร่วมค้นหา Timeline ของ “สรวง สิทธิสมาน” ซึ่งป้ามลนำเรื่องราวชีวิตของเขามาเป็นโจทย์ในการพูดคุยกับเด็กและเยาวชนในบ้าน เพื่อร่วมกันคิดและคุยว่าเส้นทางชีวิตของเขามาสู่จุดนี้น่าจะมีต้นทุนชีวิตในแต่ละช่วงวัยอย่างไร
ป้ามลสอดแทรกทุกการเรียนรู้และการให้โอกาสกับเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษกทั้งที่ยังอยู่และออกจากบ้านไปแล้ว ตอนที่ดิฉันติดต่อกับป้ามลว่าจะขอนำอาหารไปเลี้ยงลูกหลานบ้านกาญจนาภิเษก และขอให้ป้ามลเป็นผู้ดำเนินการให้ว่าเด็ก ๆ อยากกินอะไร หรือจะเลือกเมนูอะไรก็แล้วแต่ป้ามล ปรากฎว่าป้ามลแจ้งว่าถ้างั้นป้ามลขอเลือกหอยทอดและไอศครีมของ ‘ศิษย์เก่าบ้านกาญจนาภิเษก’ ที่พ้นจากบ้านออกไปมีชีวิตกับสังคมตามปกติ แต่ขณะนี้ประสบปัญหาจากวิกฤตโควิด-19
ครอบครัวเรายินดีมาก ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าแม้กลุ่มเยาวชนที่พ้นจากบ้านแห่งนี้ไปแล้ว ป้ามลก็ยังตามเด็ก และรู้ถึงชีวิตความเป็นอยู่ของบรรดารุ่นพี่เหล่านั้น ที่สำคัญก็ยังส่งต่อโอกาสให้กับรุ่นพี่เมื่อมีโอกาส โดยป้ามลได้บอกกับบรรดาลูกหลานบ้านกาญจนาภิเษกว่า นี่ไม่ใช่แค่ win win แต่เป็น 3 win
Win 1 – ศิษย์พี่ได้มีรายได้พอบรรเทาความเดือดร้อน
Win 2 - ศิษย์ปัจจุบันได้มีมื้อพิเศษ 1 มื้อในช่วงมหาวิกฤตที่ครอบครัวมาเยี่ยมไม่ได้ และออกไปอยู่กับครอบครัวตามตารางปกติไม่ได้
Win 3 – ครอบครัวสิทธิสมานได้ทำหน้าที่แบ่งปันตามเจตนารมณ์
สิ่งที่ครอบครัวเราได้เรียนรู้ในวันนั้นมีวิชาชีวิตมากมาย
เราคิดว่าวันนั้นเราจะไปเป็น “ผู้ให้” แต่แท้จริงเมื่อไปถึงที่แล้ว เราคือ “ผู้รับ” ต่างหาก !