xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เคว้งเมื่อหายป่วย! ลับคมทักษะนักสังคมฯ ช่วยเพื่อนมนุษย์ยุคโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ป่วยโควิด-19 ว่าเครียดแล้ว หายป่วยยังต้องเครียดต่อ ทั้งถูกตีตรา การเลือกปฎิบัติ กระทบต่อการงาน อาชีพ หลายคนต้องหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวไปพร้อมๆ กัน​ หากสังคม คนรอบข้างขาดความเข้าใจ อาจลุกลามเป็นปัญหาทางสังคมที่รุนแรงตามมาได้

"ความกลัวที่เกินพอดี สร้างปัญหาในทางอ้อมหลายๆ อย่าง ทั้งการรังเกียจ ตีตรา ทำให้ผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยที่หายแล้ว กลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ยาก ต้องเผชิญกับปัญหาทัศคติของคนรอบข้าง การไม่ถูกยอมรับ การถูกเลือกปฏิบัติจากคนในชุมชน ทั้งยังมีปัญหาด้านเศรษฐกิจในกรณีที่ต้องหยุดงานเพื่อรักษาตัว รวมไปถึงผู้สูงอายุหรือเด็กเล็กในครอบครัวที่ไม่มีคนดูแล" ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกถึงปัญหา ก่อนจะเผยต่อไปว่า การเสริมพลังทุกภาคส่วนฟื้นฟูดูแลทางสังคมกับผู้ป่วยให้สามารถปรับตัวเข้าสู่การใช้ชีวิตปกติคือเรื่องสำคัญที่ต้องทำในเวลานี้

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
สสส.จึงร่วมมือกับคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และคลินิก เทเลเมดิซีน พัฒนาทักษะนักสังคมสงเคราะห์ และระบบออนไลน์ให้คำปรึกษาทางสังคมแก่ผู้ป่วยติดเชื้อและผู้ที่เคยติดเชื้อ ภายใต้โครงการพัฒนาสมรรถนะและรูปแบบการดูแลทางสังคมและเสริมพลังชุมชนในการเฝ้าระวัง ดูแลจัดการทางสังคมสำหรับผู้ป่วย และผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า โครงการนี้ ทำงานต่อเนื่องจากระยะแรก ในพื้นที่ กทม. ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยมีเป้าหมายพัฒนาสมรรถนะนักสังคมสงเคราะห์และบุคลากรผู้ช่วยเหลือทางสังคม จำนวน 200 คน เพื่อติดตามผู้ป่วยกลับบ้าน จำนวน 1,600 คน โดยเจ้าหน้าที่จะต้องผ่านการอบรม 4 หลักสูตรคือ หลักสูตร Hotline Counseling หลักสูตร Empower Counseling หลักสูตร Cognitive Behavioral และหลักสูตร Therapy Mental Health Psycho Social Support

 รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทั้งนี้จากการทำงานในระยะแรก ผู้ที่เคยติดเชื้อมีความรู้ในการดูแลตัวเอง เกิดความมั่นใจมากขึ้นเมื่อกลับเข้าสู่สังคม ส่วนคนในครอบครัวได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม

บอกเล่าได้จาก ขนิษฐา บูรณพันศักดิ์ นักสังคมสงเคราะห์ ประจำโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ การส่งผู้ป่วยกลับบ้าน ไม่ได้แปลว่าจะออกไปสู่โลกภายนอกได้ในทันที ต้องเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการให้คำปรึกษา ดูแลด้านสุขภาวะเพื่อให้ผู้ป่วยที่หายแล้วกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ หากไม่สามารถกลับเข้าสู่ครอบครัวหรือชุมชนได้ จะนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการติดตามดูแลผลกระทบทั้งด้านสุขภาพและสังคม

"1,600 รายตอนนี้ เราตามไปประมาณ 800 รายแล้วค่ะ มีประมาณ 6-7 รายที่ยากลำบากมาก ต้องส่งอาหารไปให้ที่บ้าน บางรายเครียด บริษัทให้หยุดแต่ไม่จ่ายเงินเดือน หรือบางคนไม่กล้าไปกักตัวที่บ้าน ขออยู่หอพักจนกว่าจะมั่นใจ ซึ่งตรงนี้เราคอยให้คำปรึกษา และช่วยเหลือ หรือบางคนจำเป็นต้องกลับบ้าน แต่บ้านอยู่ต่างจังหวัด เราก็ช่วยประสานบ้านพักเด็กและเยาวชนให้ได้ เพราะทำงานร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)


ในส่วนของตัวผู้ป่วยที่หายแล้ว สิ่งที่เราเน้นย้ำตลอดก็คือ การดูแลตัวเอง ต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ ถ้าคนที่บ้านยังไม่สบายใจ อุปกรณ์ต่างๆ สามารถใช้ไฮเตอร์ผสมน้ำเช็ดทำความสะอาดได้ ซึ่งเราจะให้แนวทาง ทำเป็นคู่มือเลยว่า กลับไปบ้าน คุณจะดูแลทำความอย่างไร เวลาเข้าห้องน้ำควรเข้าเป็นคนสุดท้าย เป็นต้น ซึ่งทีมนักสังคมสงเคราะห์ที่ผ่านการอบรมจะติดตามเคสในระบบ Clicknic อยู่ตลอด จนกว่าคุณภาพชีวิตของพวกเขาจะดีขึ้น" ขนิษฐาเผย และหวังว่านักสังคมสงเคราะห์ที่ผ่านการอบรมจากโครงการนี้จะเข้ามาเสริมทัพช่วยดูแลติดตามผู้ป่วยที่กลับบ้าน และผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างมีคุณภาพ

สำหรับ clicknic เป็นแอปพลิเคชั่นที่สามารถโหลดมาใช้เพื่อขอคำปรึกษา ลดความกังวลใจท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 เริ่มตั้งแต่บริการปรึกษาแพทย์ ผ่าน VDO call ล่าสุดได้ร่วมมือกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และรพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อเพิ่มจำนวนแพทย์อาสา เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ที่คอยให้บริการในระบบ เพื่อตอบสนองความต้องการที่มากขึ้น และให้บริการอย่างมีคุณภาพ

ที่ผ่านมาแอปพลิเคชันดังกล่าวช่วยให้ระบบการดูแลผู้ประสบปัญหาทางสังคมมีประสิทธิภาพ สามารถแก้ปัญหาเคสล้นทำงานไม่ทันของนักสังคมสงเคราะห์ และช่วยพัฒนาการทำงานแบบ New Normal ของบุคลากรของกระทรวง พม. ได้อีกด้วย

สราญภัทร อนุมัติราชกิจ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
สราญภัทร อนุมัติราชกิจ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บอกว่า ตอนนี้ทางพม. ได้มีนโยบายให้จังหวัดปทุมธานีเป็นพื้นที่ทดลองพัฒนาระบบการติดตามผู้ป่วยโควิด-19 เริ่มที่สถาบันพระประชาบดี โดยเชิญนักสังคมสงเคราะห์ 28 คน จาก 13 องค์กรมาร่วมโครงการระบบติดตามผู้ป่วยโควิด-19 และส่งเสริมให้มีการพัฒนาทักษะนักสังคมสงเคราะห์ในการติดตามเคสผ่านระบบออนไลน์ หรือการเชื่อมโยงระบบการดูแลทางสังคมกับผู้ที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ หรือศูนย์ต่างๆ

"เคสที่เราต้องตาม หลายคนหายป่วยแล้ว สุขภาพดีแล้ว แต่ต้องเผชิญกับปัญหาการเข้าสังคม รวมไปถึงปัญหาปากท้อง​ ไม่รู้จะไปพึ่งพาใคร เราก็จะจัดทีมนักสังคมสงเคราะห์เข้าไปพูดคุย ถามถึงความต้องการของเขา โดยเริ่มที่ 3 จังหวัดนำร่อง จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี และจ.สมุทรปราการ ตอนนี้อยู่ในขั้นฝึกอบรมนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อเพิ่มทักษะวิชาชีพให้ทันสมัยในการเข้าถึงเคสต่างๆ" รองปลัดกระทรวงพม.เผย

แม้ว่าวันนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะเริ่มดีขึ้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง แต่ยังมีความจำเป็นต้องควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอยู่ การเสริมย้ำความรู้ในเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมยังคงต้องย้ำกันอย่างต่อเนื่อง ต้องไม่ลืมป้องกันตัวเองเมื่อออกไปใช้ชีวิตในสังคม หากมีปัญหา ต้องการความช่วยเหลือ ติดต่อสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร.1300 เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง


กำลังโหลดความคิดเห็น