xs
xsm
sm
md
lg

สสส.รับฟังปัญหาแรงงานในระบบ-นอกระบบ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ช่วยเหลือหนุนเสริมอาชีพทางเลือก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสส. รับฟังปัญหาแรงงานในระบบ-นอกระบบ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ช่วยเหลือหนุนเสริมอาชีพทางเลือก ร่วมมือภาคีพัฒนาโครงการใหม่รองรับ พร้อมแนะคู่มือ “ชีวิตวิถีใหม่...ในตลาด” ป้องกันการระบาดของโควิด-19 หลังคลายล็อกดาวน์

วันนี้ (26 พ.ค.) นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมรับฟังปัญหา “แรงงานในระบบและนอกระบบ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19” ที่สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา พร้อมมอบชุดคู่มือดูแลตนเอง “สู้! โควิด-19 ไปด้วยกัน” อุปกรณ์ป้องกัน อาทิ หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์

นางภรณี กล่าวว่า สสส.ดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบอย่างต่อเนื่องทำให้ สสส.ทราบถึงปัญหาและผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งด้านเศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ปัจจุบันมีแรงงานในระบบที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เกือบ 2 แสนคน จาก 6 หมื่นสถานประกอบการ แจ้งเลิกประกอบกิจการแล้วกว่า 1,000 แห่ง แรงงานในระบบตกงานกว่า1 หมื่นคน รวมถึงแรงงานนอกระบบ เช่น พ่อค้า แม่ค้า หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระไม่สามารถประกอบกิจการได้ ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 17 เมษายน และข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2562 พบว่ามีแรงงานนอกระบบประมาณ 20.34 ล้านคน ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 39 และมาตรา 40 ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 สสส. ให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือนร้อนในระยะเร่งด่วน พร้อมพัฒนาชุดความรู้ในการป้องกัน การดูแลตนเอง และการสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้หนุนเสริมการจ้างงานกลุ่มแรงงานนอกระบบโดยการผลิตหน้ากากผ้า เวชภัณฑ์อื่นๆ และร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาโครงการใหม่ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ เช่น รวมกลุ่มหาทางเลือกอาชีพใหม่ๆ นวัตกรรมเพื่อดำเนินชีวิตในชีวิตวิถีใหม่ ล่าสุดสสส. ผลิตสื่อชุด "ชีวิตวิถีใหม่" ที่เข้าใจง่าย และนำมาปฏิบัติได้ทันที ชิ้นแรกที่เผยแพร่แล้ว คือ “ชีวิตวิถีใหม่...ในตลาด” พื้นที่สาธารณะที่มีประชาชนทุกเพศทุกวัยใช้บริการ มีแนวทางการปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อแนวทางเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งกับผู้ใช้บริการ และพ่อค้า แม่ค้า

“ตลอดกว่า 10 ปี สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ พัฒนศักยภาพแรงงานให้มีความเข้มแข็ง มีความรอบรู้ทางสุขภาพ พัฒนาความรู้ที่สอดคล้องกับบริบทเรื่องเหล้า บุหรี่ สิ่งเสพติด และความปลอดภัยในการทำงาน มีผลงานเชิงประจักษ์มากมาย อาทิ พื้นที่ต้นแบบการจัดบริการเชิงรุกแบบครบวงจรด้านอาชีวอนามัย ในพื้นที่ดำเนินการ 20 จังหวัด ใน 5 เขตสุขภาพ ขับเคลื่อนให้เกิดแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบของกระทรวงแรงงาน เกิดปฏิบัติการเพื่อลดปัญหาความไม่ปลอดภัย และความเสี่ยงจากการทำงานใน 5 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ แท็กซี่ เกษตรกร แกะสลักหิน ตัดเย็บผ้า เก็บขยะ และพร้อมที่จะทำงานเพื่อคุณภาพชีวิตของแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบให้ดีขึ้น” นางภรณี กล่าว

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีแรงงานได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปลายปี 2562 เดิมมีคนว่างงานจากปัญหาเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 1.4 แสนคน สถานการณ์โควิดได้มาซ้ำเติม ขณะนี้ตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบยังไม่นิ่ง ข้อมูลจากการขึ้นทะเบียนว่างงานจากเหตุสุดวิสัยและว่างงานจากปัญหาเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากกว่านี้ สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทยมีเครือข่ายจากสหภาพแรงงาน สมาพันธ์ และสมาคมต่างๆ 93 เครือข่ายมีสมาชิกเกือบ 3 หมื่นคน ตั้งแต่เกิดสถานการ์โควิด-19 ได้มีการส่งข้อมูลข่าวสารในการดูแล ป้องกันตนเองที่ได้รับจาก สสส. ให้กับเครือข่าย มีการประชุมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ แนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และคุ้มครองสิทธิแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างต่อเรื่อง โดยมีแรงงานจำนวนไม่ร้อยที่ไม่รู้สิทธิของตนเอง

นางอรุณี ศรีโต ประธานสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 พ่อค้า แม่ค้า ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และผู้ประกอบอาชีพอิสระอื่นๆ ได้รับผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงการระบาดแรกๆ เพราะมีความวิตกกังวัล เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร และอุปกรณ์ป้องกัน ส่งผลถึงความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ ที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้รับการสนับสนุนข้อมูล และอุปกรณ์ป้องกันจาก สสส. เพื่อแจกจ่ายให้กับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ หารือกับกลุ่มแรงงานนอกระบบเพื่อประเมินสถานการณ์ สอบถามความต้องการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และร่วมมือกับอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) เพื่อจัดบริการตรวจคัดกรองเบื้องต้นให้กับประชาชนในพื้นที่ นอกจากแรงงานนอกระบบแล้ว ในพื้นที่มีแรงงานในระะบบที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ได้ทำงานเพราะโรงงานปิดชั่วคราว ทางสมาคมฯ ประสานงานไปยังกระทรวงแรงงาน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือให้ได้รับประโยชน์ตามสิทธิของตน
























กำลังโหลดความคิดเห็น