การทำเกษตรของคนรุ่นใหม่ Young smart farmer ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา เพราะหลายคนมีไอเดียที่จะเพิ่มรายได้จากพื้นที่ทำการเกษตรในหลายรูปแบบ ไม่ได้มีแค่ผลผลิตจากการเกษตรเท่านั้น แต่สามารถสร้างรายได้จากช่องทางอื่น ๆ เช่นเดียวกับ Young smart farmer รายนี้ “นางสาววราภรณ์ สร้อยโสม” (กอล์ฟ) เจ้าของสวนเกษตรออร์แกนิก “บ้านไร่ยายบัวศรี”
ไอเดียจากโครงการหลวงอ่างขาง จากผักเมืองหนาว ปลูกพื้นที่ภาคอีสาน
นางสาววราภรณ์ เล่าว่า เธอเรียนจบด้านการเกษตร จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล คลองหก ในสาขาเทคโนโลยีการเกษตร หลังจากเรียนจบออกไปหาประสบการณ์ การทำงานอยู่ ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ก่อนจะได้มีโอกาสขึ้นไปทำงานอยู่ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ ในตำแหน่งผู้ช่วยนักวิชาการเกษตร ได้ 1 ปี ตัดสินใจลาออก เพราะการได้อยู่ที่โครงการหลวง ทำให้เธอได้เรียนรู้อะไรมากมาย โดยเฉพาะการปลูกพืชเมืองหนาวที่มีราคาสูง เกิดความคิดว่า ทำไมเราไม่กลับไปทำการเกษตรพืชเมืองหนาวที่บ้านเราที่จังหวัดเลย ซึ่งมีอากาศที่ใกล้เคียงกับบนดอยที่อ่างขาง ในช่วงฤดูหนาว
ด้วยเหตุนี้เอง เธอคิดกลับบ้านเกิดเพื่อลงมือทำเกษตร โดยนำผักเมืองหนาวกลับมาปลูกที่บ้านของเธอ เริ่มจากการปลูกผักออร์แกนิกแบบกินใบ เช่น ผักสลัด ทั้ง กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค มินิคอส ฟิลเลย์ ฯลฯ และตระกูลผักคะน้า ซึ่งผักคะน้าที่นิยมปลูกกันมากและมีสารอาหารเยอะ มีอยู่หลายสายพันธุ์ แต่ที่เราเลือกมาปลูก คือ คะน้าใบหยิก หรือ ผักแคล และคะน้าแมกซิโก หรือ บ้านเราเรียกว่า ต้นไชยา ที่นำมาแทนผงชูรสได้ โดยผักคะน้า ทั้ง 2 ชนิด หลังจากไร่ของ “คุณกอล์ฟ” ได้มาตรฐานออร์แกนิก เธอก็นำมาแปรรูปเป็นผักผง เพื่อสะดวกต่อการขายสำหรับลูกค้าที่อยู่ไกล หรือคนที่ต้องการรับประทานผักทั้ง 2 ชนิด แบบง่ายๆ โดยเฉพาะผู้ป่วย ผู้สูงอายุ หรือเด็กๆ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากกลุ่มคนรักษ์สุขภาพ จากเดิมที่ขายผักคะน้าสดหน้าสวนเกษตรบ้านไร่ยายบัวศรี สัปดาห์ ละ 1,500 บาท พอนำมาแปรรูปเพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 3,000 บาท
สำหรับพื้นที่ที่ “คุณกอล์ฟ” สาวน้อย Young smart farmer คนนี้ เธอได้รับการจัดสรรมาจากครอบครัว จำนวน 7 ไร่ เดิมครอบครัวของเธอทำเกษตรอยู่แล้วจำนวน 20 ไร่ แต่เป็นการปลูกไม้ผลเป็นพืชเชิงเดียวแบบใช้สารเคมี และในแถวบ้านของเธอส่วนใหญ่ก็จะทำเกษตรเชิงเดียวกันเกือบทั้งหมด ไม่มีใครปลูกผักขาย เธอก็เลยขอแบ่งพื้นที่มา 7 ไร่ เพื่อนำมาทำแปลงเกษตรอินทรีย์ออร์แกนิก การปลูกพืชแบบผสมผสาน ซึ่งพืชที่ปลูกประกอบไปด้วย พืชตัดใบขาย และบางส่วนทำไม้ผล ปลูกไผ่ และทำนา สวนเกษตรของเธอได้รับการขึ้นทะเบียน มาตรฐาน Organic Thailand
กว่าจะได้เป็นสวนเกษตรที่ได้มาตรฐาน Organic Thailand
“กอล์ฟ” เล่าว่า กว่าจะได้มาตรฐานดังกล่าวมาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเธอต้องใช้เวลาในการปรับพื้นที่เพื่อให้ได้มาตรฐานอยู่หลายปี และมีหลายขั้นตอนมากกว่าจะผ่านและได้ใบรับรอง เจ้าหน้าที่จะต้องส่งทีมเข้ามาตรวจพื้นที่ของเราหลายรอบ ว่าได้ตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งเมื่อผ่านมาตรฐาน Organic Thailand มาได้เหมือนใบเบิกทาง ทำให้ผลผลิตที่ไร่ของเราเป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่เป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ และราคาผลผลิตที่ได้ก็ปรับขึ้นไปจากปกติ 2 เท่าตัว ลูกค้าเพิ่มมากขึ้น วันนี้ ผลผลิตที่ได้ยังไม่เพียงพอต่อออเดอร์ที่สั่งเข้ามาในแต่ละวัน บางครั้งลูกค้าต้องสั่งล่วงหน้า ซึ่งช่องทางการขายของเราส่วนหนึ่งมาจากการบอกกันแบบปากต่อปาก และรู้จักเราผ่านทางหน้าเพจ บ้านไร่ยายบัวศรี
สร้างสนามกอล์ฟมินิ ในสวนเกษตร รองรับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร
นอกจากผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นออร์แกนิก แล้ว “คุณกอล์ฟ” ยังมีไอเดียที่เปิดไร่ของเธอ เป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยคุณพ่อของเธอมีอาชีพหลัก คือ การทำสนามกอล์ฟ ลูกสาวก็เลยอยากมีสนามกอล์ฟที่ข้างสวนผักของเธอบ้าง เพื่อให้คนที่มาเที่ยวมาชมธรรมชาติ และกินอาหารพื้นเมืองจากผักสดที่ไร่ของเธอ ได้มีพื้นที่ให้ลูก ได้มาวิ่งเล่น หรือ คนที่อยากจะหัดตีกอล์ฟ ก็มาทดลองสนามเล็ก ก่อนไปตีสนามจริง
โดยเธอได้ใช้พื้นที่จำนวน 1 ไร่ ให้พ่อของเธอออกแบบเป็นสนามกอล์ฟมินิ ที่มีอยู่จำนวน 3 หลุม ย่อขนาดทุกอย่างให้เล็กลง เพื่อให้เด็กสามารถตีได้ หรือ ผู้ใหญ่ที่เป็นนักกอล์ฟมืออาชีพ ก็ยังมาหัดตีกอล์ฟที่สนามกอล์ฟมินิ แห่งนี้ เพราะความท้าทายด้วยขนาดของพื้นที่ และมีความยากในการตี ที่ต่างจากสนามใหญ่ แต่การจำลองสัดส่วนครั้งนี้ อิงจากมาตรฐานสนามกอล์ฟขนาดใหญ่ ส่วนไม้กอล์ฟ เนื่องจากสนามเล็ก และคนที่มาตีส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก ก็เลยให้ใช้ไม้กอล์ฟแบบพลาสติก นอกจากผู้ใหญ่มาตีจะใช้ไม้กอล์ฟจริง
สำหรับค่าบริการต่อครั้ง เริ่มที่ 100 บาท และ 200 บาท เล่นได้ทั้งวัน อยากจะมาเล่นเวลาไหนก็ได้ ส่วนใหญ่ พ่อแม่ก็พาลูกมาเล่น ช่วงวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ และเนื่องจาก สนามกอล์ฟ เพิ่งเปิดให้บริการช่วงหลังโควิด ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเลย และ สนามกอล์ฟของเราอยู่ติดกับสนามกอล์ฟ ของค่ายทหาร บางที่ พ่อ มาตีกอล์ฟสนามใหญ่ ลูกๆ หรือ คุณแม่จะพาลูกมาวิ่งเล่น ตีกอล์ฟที่สนามของเรา
เงินทุน 1 ล้านบาท เป็นเจ้าของสนามกอล์ฟได้
“วราภรณ์” เล่าว่า ในส่วนค่าใช้จ่ายในการทำสนามกอล์ฟมินิของเธอและครอบครัว ประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะเป็น เรื่องของหญ้าที่นำมาปู พ่อจะเลือกใช้หญ้าที่เป็นแบบเดียวกับสนามใหญ่เลย ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่าง เช่น การขุดดิน พ่อและคนในครอบครัวจะช่วยกันทำเป็นส่วนใหญ่ เรามีรถขุดทำเกษตรก็นำมาใช้ เพียงช่วงแรกที่จ้างรถขุดที่เป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่มาช่วย หลังจากนั้น พ่อจะทำเอง เพราะพ่อมีอุปกรณ์ รถขุดเหล่านี้อยู่แล้ว “คุณกอล์ฟ” บอกว่า ถ้าใครสนใจต้องการทำสนามกอล์ฟมินิที่ได้มาตรฐานแบบเธอ ก็ติดต่อพ่อของเธอให้ไปทำให้ได้เช่นกัน พื้นที่เริ่ม 1 ไร่แบบเธอก็ทำได้
ทั้งนี้ นอกจากสนามกอล์ฟ และการเข้ามาชมธรรมชาติ เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์มาตรฐาน Organic จะมีบริการอาหารพื้นบ้าน ซึ่งเป็นฝีมือการปรุงของคนในครอบครัว ทำกันเอง แต่ลูกค้าที่จะมากินอาหารจะต้องสั่งล่วงหน้า เนื่องจากตอนนี้ยังไม่ได้เปิดเป็นร้านอาหาร งานหลัก คือการทำเกษตร ไม่มีเวลาทำอาหาร แต่เปิดรับเฉพาะคนที่สั่งล่วงหน้าและอยากจะมากินอาหารพื้นถิ่นและใช้ผักออร์แกนิกจากที่สวนของเรา
“วราภรณ์” เล่าถึง แนวคิดทั้งหมดที่เธอ นำมาทำกับบ้านไร่ยายบัวศรี ในครั้งนี้ มาจากการที่เธอได้ทำงานและฝึกงานที่ดอยอ่างขางที่โครงการหลวง เราได้เห็น นักท่องเที่ยว มาเรียนรู้มาถ่ายรูป มาทำกิจกรรมร่วมกันในวันหยุดพักผ่อน ก็เลยคิดนำไอเดียนี้มาใช้บ้าง โดยดูว่าในพื้นที่ของเรามีกิจกรรมอะไรให้กับนักท่องเที่ยวได้บ้าง ถ้าในเชิงท่องที่ยวการเกษตร เรียนรู้การทำนาข้าว การเลี้ยงปลาจับปลา มีสระน้ำ และมีสนามกอล์ฟมินิ เล่นกอล์ฟ ส่วนหนึ่งอาชีพของพ่อ พ่อทำสนามกลอล์ฟอยู่แล้ว ก็เลยไม่ยากสำหรับเราในการที่จะมีสนามกอล์ฟของเราเอง ในขณะที่หลายคนก็อาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะต้องใช้เงินทุนค่อนข้างสูง แต่ของเราทำกันเองก็เลยใช้เงินไม่มาก ขุดดินกันเอง ปูหญ้ากันเอง
อย่างไรก็ตาม ถ้าเพื่อนหรือ คนอื่นๆอยากทำสวนเกษตรเชิงท่องเที่ยว อย่าได้กังวล เพราะมีอีกหลายวิธี ในการปรับพื้นที่การเกษตรของเราให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการขุดบ่อน้ำ ให้นักท่องเที่ยวได้มาเล่นน้ำ ก็ทำได้เช่นกัน หรือมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ฯลฯ ซึ่งการทำเกษตรต้องอดทน แต่สิ่งที่ได้ คือ ความยั่งยื่น อย่างน้อยมีอาหารการกิน ที่ไม่จำเป็นต้องไปซื้อหา ได้อยู่กับครอบครัว ถ้าเราทำในสิ่งที่รัก อยู่กับสิ่งที่รัก ทำให้เราอยู่ได้ยั่งยื่น
ติดต่อ FB:บ้านไร่ ‘ยายบัวศรี’
โทร.08-5249-2431
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *