xs
xsm
sm
md
lg

หนุ่มวัย 25 ปีขอบคุณไวรัสร้ายโควิด ทำชีวิตเปลี่ยนทำนาแปลงใหญ่รายได้ดี-คุณภาพชีวิตดีขึ้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาฬสินธุ์ - หนุ่มชาวนามนวัย 25 ปี ลาออกจากงานวิทยากร สสส. กลับบ้านเกิดช่วงได้รับผลกระทบโควิด-19 พลิกผืนนาที่เคยแห้งแล้ง ธาตุอาหารในดินต่ำ บำรุงดินด้วยไส้เดือน ปลูกพืชสวนพืชไร่ที่ทนสภาพแห้งแล้ง จัดทำระบบน้ำพุ่งในแปลงนา ขอบคุณเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ปรับเปลี่ยนชีวิตใหม่ในวิถี New Normal ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น มีรายได้เข้าบ้านรายวัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เฮือน สวน เฮา บ้านนามน ต.นามน อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ นายธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์ เกษตร จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนักวิชาการเกษตร สื่อมวลชน ติดตามผลการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผักนามน ของนายปาฏิหาริย์ มาตสะอาด อายุ 25 ปี ซึ่งมีการต่อยอด จัดทำจุดเช็กอิน ร้านอาหาร

นายปาฏิหาริย์ได้นำชมผลการดำเนินงานในสวนที่หลากหลาย ทั้งเลี้ยงไส้เดือนดิน แปลงปลูกดอกกระเจียวหวาน สวนมะนาว และนาข้าวให้ปุ๋ยน้ำทางใบ


นายธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์ เกษตร จ.กาฬสินธุ์ จากนโยบายของรัฐบาลกำหนดให้ จ.กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดนำร่องในการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนเพื่อยกระดับรายได้ โดยได้ทำโครงการ Kalasin Green Market ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมเกษตรและอาหารปลอดภัย ยกระดับรายได้ภาคการเกษตรและพัฒนาศักยภาพเกษตรกร

โครงการดังกล่าวได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกผักรวมกลุ่มกันวางแผนการผลิต การบริหารจัดการผลผลิตและการตลาดในรูปแบบของสหกรณ์ พืชที่ปลูกมีความหลากหลาย เป็นที่ต้องการของตลาด สามารถขายได้ตลอดทุกฤดูกาล

ทั้งนี้ ผลผลิตที่ผลิตได้ต้องปลอดภัย มีคุณภาพและได้มาตรฐาน จึงจะทำให้เกิดความยั่งยืน และสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้ในที่สุด


นายธีระศักดิ์กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรได้จัดประชุมเกษตรกรกรผู้ปลูกผัก และเชิญชวนเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมปลูกผักปลอดภัยเพื่อการค้า จากนั้นจัดตั้งเป็นกลุ่มปลูกผักปลอดภัย โดย อ.นามน มีสมาชิกแรกเริ่ม 35 คน พื้นที่ปลูกผัก 51 ไร่ จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผักนามน ในปี 2561 มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 53 คน พื้นที่ปลูกผัก 115 ไร่

ต่อมาสมัครเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ คือแปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผักนามน ปัจจุบันมีสมาชิก 114 คน พื้นที่ปลูกผักประมาณ 200 ไร่

ในส่วนของแปลงเฮือนนามน ที่โดดเด่นคือเลี้ยงไส้เดือน ปลูกผักกระเจียว และวางระบบสปริงเกอร์ในแปลงนา เพื่อให้ปุ๋ยน้ำทางใบ นับเป็นเกษตรหัวก้าวหน้ารุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจและมีอนาคต สามารถเป็นแบบอย่างแก่เกษตรกรรุ่นใหม่อีกแห่งหนึ่ง


ด้านนายปาฏิหาริย์ มาตสะอาด เจ้าของแปลงเกษตรเฮือน สวน เฮา กล่าวว่า ก่อนที่ตนจะสมัครเป็นสมาชิกแปลงใหญ่ เคยผ่านการศึกษาและทำงานด้านอื่นๆ มาก่อน ล่าสุดเป็นวิทยากรของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ทำให้มีเครือข่ายหลายสาขาอาชีพ

ที่ผ่านมานั้น ถึงแม้ว่าทางครอบครัวจะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ ทำสวน แต่ตนก็ไม่เคยลงมือช่วยทำการเกษตรเลย เพราะมุ่งมั่นศึกษาเล่าเรียนและทำงานอย่างเดียว

แต่สุดท้ายชีวิตการทำงานดังกล่าวก็เหมือนจะอิ่มตัว และรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ประกอบกับเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทุกอาชีพต่างได้รับผลกระทบกันหมด จึงตัดสินใจออกจากงานแล้วกลับบ้านเกิด เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ในวิถีเกษตรกรรมธรรมชาติตามยุค New Nomal


นายปาฏิหาริย์เล่าว่า พอกลับมาอยู่บ้านทราบว่าทางเกษตรอำเภอนามนเชิญชวนเกษตรกรร่วมโครงการแปลงใหญ่ จึงหารือพ่อแม่สมัครเป็นสมาชิกเกษตรกรแปลงใหญ่ ใช้พื้นที่ประมาณ 11 ไร่ทำการเกษตรผสมผสาน นาข้าว 6 ไร่ นอกนั้นเป็นบ่อกักเก็บน้ำฝนและพืชสวน จากเดิมที่ปลูกมะนาวอยู่แล้ว ก็ต่อยอดด้วยการปลูกกระเจียวหวาน และเสริมด้วยพืชผักสวนครัวชนิดต่างๆ ช่วงแรกๆ พืชเติบโตช้าเนื่องจากสภาพดินไม่ค่อยมีคุณภาพ จากการตรวจสอบพบสารอาหารในดินต่ำ และเป็นดินทรายผสมหินกรวด

อย่างไรก็ตาม นายปฏิหาริย์บอกว่า จากการที่เคยทำงานหลายแห่งและเคยไปศึกษาดูงานหลายพื้นที่ จึงได้นำความรู้ ประสบการณ์มาประยุกต์ ควบคู่กับศึกษาการทำเกษตรผสมผสานจากยูทูป มาออกแบบเป็นนวัตกรรมเกษตรกรรมธรรมชาติ โดยเริ่มจากเพาะพันธุ์ไส้เดือนดิน ใช้ปุ๋ยคอกและอินทรีย์ชีวภาพ เพื่อปรับปรุงบำรุงดินในสวนมะนาว ดอกกระเจียวหวาน และผักสวนครัว

“ส่วนแปลงนา 6 ไร่นั้น เนื่องจากเป็นดินทรายผสมหินกรวด ผมจึงทำนาแบบนาหยอด โดยเป็นข้าวเจ้า กข 15 ลงทุนติดตั้งระบบน้ำพุ่ง โดยทำเป็นแปลงสาธิต 1 ไร่ วางสายยางทั่วแปลงนา เจาะรูเป็นระยะ เพื่อให้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพทางใบ ทำให้ประหยัดน้ำ” ปาฏิหาริย์กล่าว และเล่าต่ออีกว่า


พอลงมือทำการเกษตรตามแนวทางสมัยใหม่ที่ตนออกแบบไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อแม่หรือเพื่อนบ้านที่เป็นเกษตรกรด้วยกันไม่เคยทำ ทำให้รู้สึกสนุก ท้าทาย ทำให้เกิดรายได้ทุกวัน ซึ่งต้องขอบคุณเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ปรับเปลี่ยนชีวิตใหม่ในวิถี New Normal ให้ชีวิตดีขึ้น

“วิถีการทำนาดั้งเดิมที่พี่น้องชาวบ้านพื้นที่แถวนี้จะได้ผลผลิตข้าวแต่ละปีไร่ละประมาณ 100 กิโลกรัม แต่สำหรับผมเมื่อตั้งใจลงมือทำแล้ว ได้ตั้งเป้าที่จะต้องผลิตให้ได้ไร่ละ 400-500 กิโลกรัม ขณะที่นาข้าวในแปลงสาธิต 1 ไร่ที่ใช้ระบบน้ำพุ่งโดยเป็นการให้ปุ๋ยน้ำทางใบนั้น ตั้งเป้าต้องได้ผลผลิตถึง 1 ตันให้ได้” หนุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่วัย 25 ปีกล่าวอย่างมั่นใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น