เมื่อเร็วๆ นี้ ณ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.วิทย์ฯ) พร้อมด้วยคณะทำงานจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ตลอดจนหน่วยงานราชการในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ร่วมประชุมกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการ “การยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนจันทบุรีอย่างยั่งยืน” โดยมีศาสตราจารย์ กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมครั้งนี้
ศาสตราจารย์ กนก วงษ์ตระหง่าน กล่าวว่า กมธ.วิทย์ฯ มีความตั้งใจที่จะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีให้ได้คนละ 1 หมื่นบาท ภายในระยะเวลา 6 เดือน ปัจจุบันกระทรวง อว. โดย กมธ.วิทย์ฯ ร่วมกับ สกสว. บพท. วว. และมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีทั้ง 3 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ต่างบูรณาการทำงานร่วมกันภายใต้แนวคิดเดียวกัน คือ “ใช้งานวิจัยและนวัตกรรมเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก” ผ่านการทำงาน 3 โครงการย่อย คือ 1. การพัฒนาสมรรถนะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลไม้เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก 2. การเพิ่มศักยภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจและการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ประมงเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน 3. “Chantaburi Hybrid Design Project : นครนวัตกรรมการออกแบบและการผลิตสินค้าเชิงวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์” โดยการหารือการประชุมเพื่อขับเคลื่อนครั้งนี้ กมธ.วิทย์ฯ และคณะได้เดินทางไปศึกษาดูงาน ร่วมประชุมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกมังคุด กลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์จักสาน ตลอดจนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอัญมณี เพื่อรับฟังปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมหาแนวทางการพัฒนาจังหวัดจันทบุรีไปพร้อมๆ กัน
อย่างในกรณีของวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่มังคุดตำบลคมบาง อ.เมือง จ.จันทบุรี ปัจจุบันมีสมาชิกเกษตรกรกว่า 40 รายรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาพ่อค้าคนกลาง ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีอำนาจในการต่อรองราคาสินค้า ในช่วงโควิด สถานการณ์ดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อราคามังคุดมากนัก ทำให้เกษตรกรยังคงมีรายได้ไม่ต่างจากช่วงก่อนโควิดมากนัก แต่ที่ทางกลุ่มต้องการให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้คำแนะนำคือ อยากให้มีทีมมาช่วยพัฒนาทั้งในส่วนของขั้นตอนการผลิต เรายังขาดเทคโนโลยีช่วยเก็บมังคุด ตัวช่วยคัดแยกมังคุดในกรณีที่มังคุดมีขนาดแตกต่างกัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากมังคุดให้เรา เพื่อวางแผนในอนาคตหากผลมังคุดสดมีราคาต่ำลง
ด้านศาสตราจารย์ กนก วงษ์ตระหง่าน ได้ร่วมประชุมพร้อมมอบหมายให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ช่วยวิสาหกิจชุมชนในการพัฒนาเทคโลยีต่างๆ เพื่อสนับสนุนกระบวนการเก็บเกี่ยว และในส่วนของ ผศ.เดือนรุ่ง เบญจมาศ นักวิจัยจาก มรภ.รำไพพรรณี หัวหน้าโครงการพัฒนาสมรรถนะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลไม้เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก จะเข้ามาช่วยวิสาหกิจชุมชนในการสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์ เช่น การสกัดสารแซนโทนบริสุทธิ์ (Purified Xanthone) จากเปลือกมังคุด ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีมูลค่าสูง นิยมนำไปใช้แปรรูปและใส่ในเครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น อีกทั้งการจัดกิจกรรมลงพื้นที่ศึกษาดูงานเป็นเวลา 2 วัน ทำให้คณะทำงานทั้งในส่วน กมธ.วิทย์ฯ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนักวิจัยในพื้นที่ได้เข้าใจบริบทปัญหาของพื้นที่มากขึ้น เพื่อจะได้ร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดจันทบุรีให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่มากที่สุด