“ชิต เหล่าวัฒนา” เผยไทยมี 5G ก่อนโควิด-19 เป็นแต้มต่อในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เนรมิตพื้นที่ EEC เป็นเขตเศรษฐกิจอัจฉริยะสร้างโอกาสนักพัฒนาคนไทยพร้อมเดินหน้าเร่งสร้างบุคลากรดิจิทัลควบคู่โรงงานต้นแบบ 4.0 ด้านทีโอที เคาะงบ 4,900 ล้านบาท ลงทุนเน็ตเวิร์กคลื่น 26 GHz พร้อมให้บริการภาครัฐด้วยราคาสมเหตุสมผล ชี้จีโนมิกส์โอกาสสำคัญสร้างบริการคลาวด์แบบเรียลไทม์
“การผลักดันให้มีการประมูลคลื่น 5G ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 นับเป็นจังหวะที่ดีมาก ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดโควิด-19 แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วกลับกลายเป็นตัวเร่งให้เทคโนโลยีมาไวขึ้น การตกงานมีเพิ่มขึ้น ดังนั้น 5G จึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพราะ 5G ต่างกับ 4G ตรงที่มูลค่าของเทคโนโลยีกับมูลค่าของการประยุกต์ใช้งานไม่ต่างกัน ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ไม่จำเป็นต้องลงทุนเครือข่ายจำนวนมาก แต่สามารถทำลักษณะการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันได้ ความมีมูลค่าของสินค้าอยู่ที่การประยุกต์ใช้งานมากกว่าว่าจะตอบโจทย์การทำงานของลูกค้าได้มากน้อยเพียงใด ต้องขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ด้วย ที่เร่งผลักดันให้เกิดการประมูล” ชิต เหล่าวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านพัฒนาการศึกษา บุคลากร และ เทคโนโลยีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าว
*** 5G ตัวแปรโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
เขาอธิบายต่อว่า 5G จะทำให้เกิดการใช้เทคโนโลยี IoT อุปกรณ์ที่มีเซ็นเซอร์ IoT จะมีจำนวนมหาศาล พื้นที่ 1 ตารางเมตร สามารถทำให้เกิดเซ็นเซอร์ IoT ได้ 1 ล้านเซ็นเซอร์ ดังนั้น การใช้ AI เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญ 5G จึงกลายเป็นโอกาสใหม่ของการทำงานใน อนาคต
ดังนั้น หากใช้ 5G แค่ความเร็วของแบนด์วิดท์เหมือนอย่างที่โอเปอเรเตอร์ในประเทศเกาหลี ทำเพื่อตอบสนองด้านความบันเทิงเท่านั้น มูลค่าก็จะไม่เกิดเพราะสามารถเก็บรายได้เพียงแค่การใช้งานแบนด์วิดท์เท่านั้น นั่นคือ คำตอบที่ว่าทำไม ผู้ประมูลคลื่น 2600 MHz จึงต้องมีเงื่อนไขในการรับใบอนุญาตว่าต้องลงทุนเครือข่ายให้เสร็จ 50% บนพื้นที่ EEC ภายในปีแรก
เพราะนโยบายของประเทศต้องการให้ EEC คือ ภาคต่อของอีสเทิร์น ซีบอร์ด ที่ไม่ได้ต้องการเพียงต่างชาติเข้ามาลงทุนแต่ต้อง การเปิดโอกาสให้คนไทย คนรุ่นใหม่ คือ สตาร์ทอัปไทยได้มีตลาดในการแข่งขันด้วย เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐาน 5G ร่วมกันแล้วการเชื่อมต่อต้องเป็นแบบ Open API คือ อินเทอร์เฟสที่เผยแพร่ต่อสาธารณะช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถเข้าถึงได้ แพลตฟอร์มต่างๆ ที่เป็นของคนไทยจะเกิดขึ้นจำนวนมาก เพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถมีช่องทางในการทำธุรกิจด้วย
สำหรับการลงทุน 5G ในพื้นที่ EEC 50% ภายในปีแรกนั้นไม่ได้หมายถึงการลงทุนทุกพื้นที่ EEC ทั้ง 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง แต่เป็นการกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่มีความต้องการใช้งานจริงๆ เท่านั้น ซึ่งแต่เดิมโอเปอเรเตอร์ต้องการพื้นที่ 3x3 ตารางเมตรต่อจุดในการวางสถานีฐาน แต่ตนคิดว่าน่าจะเพิ่มเป็น 10x10 ตารางเมตรน่าจะเหมาะสมกว่าเพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอต่อการสร้างสถานีฐานและหม้อแปลงไฟฟ้าเป็นต้น
***พัฒนากำลังคนดิจิทัล 1.2 แสนคนภายใน 5 ปี
กลับมาดูที่กำลังคน ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เห็นได้ชัดว่าวิธีการผลิตเปลี่ยนแปลงไป มีการใช้เทคโนโลยีทำงานมากขึ้น มีการลดคนงานกว่า 60% โจทย์คือ ทำอย่างไรให้คนที่อยู่รวมถึงคนที่ถูกเลิกจ้างมีทักษะด้านดิจิทัลมากขึ้นเพื่อนำกลับมาเป็นบุคลากรที่สำคัญต่อไป เรื่องนี้ถือเป็นเรือธงสำคัญของประเทศ ซึ่ง EEC ก็มีโปรแกรมในการเทรนนิ่งให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมโดยอุตสาหกรรมออกค่าใช้จ่ายหลักสูตรเพียง 25% ก็สามารถมีบุคลากรที่ตรงกับการทำงานเข้าไปทำงานให้แก่อุตสาหกรรมของตนเอง
ทั้งนี้ EEC มีศูนย์เทรนนิ่งโดยใช้อาคารของมหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี มีความร่วมมือกับบริษัทต่างชาติที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีมาให้ความรู้ เพื่อให้สามารถสร้างบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัลให้ได้จำนวน 1.2 แสนคน ภายใน 5 ปี และ 30% ต้องมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่
ขณะเดียวกัน ก็จะมีการสร้างโรงงานต้นแบบ 4.0 โดยมีกลุ่มเป้าหมายโรงงานขนาดใหญ่ 10 แห่ง โรงงานขนาดกลาง 20 แห่ง และโรงงานขนาดย่อม 50 แห่ง โดยร่วมมือกับสมาคมผู้ประกอบการ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) ที่มีสมาชิกเป็นบริษัทเกี่ยวกับระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทยประมาณ 200-300 บริษัท ในการทำงานร่วมกัน เมื่อได้ต้นแบบแล้วก็จะกลายเป็นโมเดลที่โรงงานอื่นๆ เห็นภาพได้ชัดและนำไปพัฒนาโรงงาน 4.0 ของตนเองได้
***โอกาสทีโอทีในการให้บริการภาครัฐ
แน่นอนว่าในพื้นที่ EEC ต้องมีงานให้บริการภาครัฐที่ต้องยกระดับและใช้เทคโนโลยี 5G เป็นเครื่องมือในการทำงานด้วย แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัด อาจจะไม่สามารถใช้บริการของภาคเอกชนได้ ดังนั้น การตัดสินใจเข้าร่วมประมูลคลื่น 26 GHz ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จึงเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องในการอุดช่องโหว่ดังกล่าว เพราะทีโอที สามารถสร้างบริการตอบโจทย์ภาครัฐได้ในราคาที่ไม่แพง หรืออาจจะเท่าทุน เพื่อส่งเสริมให้บริการดิจิทัลภาครัฐขับเคลื่อนไปพร้อมๆกับความอัจฉริยะของพื้นที่ EEC
แล้วโอกาสของทีโอทีอยู่ตรงไหน “ชิต” ถอดหมวกใบแรกในฐานะที่ปรึกษา EEC ออกก่อนจะใส่หมวกในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ทีโอที อธิบายว่า EEC มีการกำหนดให้ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ในการให้บริการแพทย์แบบครบวงจร หรือจีโนมิกส์ ดังนั้น การยกระดับทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยี 5G จึงเป็นโอกาสแรกในการนำคลื่นของทีโอทีมาให้บริการ ข้อดีของคลื่น 26 GHz คือ ลงทุนเครือข่ายเฉพาะพื้นที่ที่มีการใช้งานจริง เพราะเสาส่งสัญญาณต้องอยู่ใกล้กัน ซึ่ง 5G ของทีโอที จะมาตอบโจทย์การนำข้อมูลขึ้นคลาวด์เป็นแบบเรียลไทม์ คลาวด์ได้
และยิ่งอนาคตหากมีการควบรวมกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ศักยภาพในการให้บริการของ NT มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะมีคลื่นที่หลากหลาย ทั้งคลื่น 700 MHz ที่ กสท โทรคมนาคม ได้ประมูลมาในเวลาเดียว กันกับทีโอทีด้วย
สำหรับแผนธุรกิจในการลงทุนคลื่น 26 GHz นั้น ทีโอทีได้ขออนุมัติงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จำนวน 4,900 ล้านบาทในการลงทุนเน็ตเวิร์กหลักให้เสร็จภายในครึ่งปี โดยไม่ต้องลงทุนแบบปูพรม เน้นลงเฉพาะจุดที่มีความต้องการเท่านั้นเมื่อมีความต้องการจึงค่อยต่อสายลาสไมล์ไปยังจุดให้บริการทีโอทีจะไม่มีการลงทุนซ้ำซ้อน หรือปูพรม แล้วไม่ได้ใช้งานเหมือนเมื่อก่อน
ขณะเดียวกัน ทีโอทีก็ต้องมีการเปิดระบบให้สตาร์ทอัปไทยสามารถเชื่อมต่อเข้ามาสร้างแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการได้ด้วย รวมถึงทีโอทีเองก็ต้องสร้างทีมในการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการของตนเองด้วยเช่นกัน การวางตัวของทีโอทีจะไม่ได้เป็นเพียงผู้ให้บริการโครงข่ายแบบเดิม เพราะนั่นแม้จะทำให้ทีโอทีมีกำไรเหมือนกันแต่ก็มีกำไรแค่ตัวเลขหลักเดียว แต่หากมีแพลตฟอร์มด้วย มีบริการ AI และการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย กำไรจะเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลักทันที
ดังนั้น 5G จึงไม่ใช่เพียงคำพูดเก๋ๆ ว่ามีแล้วไวกว่า 4G เพราะ 5G คือเทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนโลกไม่ใช่ได้แค่ความเร็วแบบ 4G เท่านั้น