xs
xsm
sm
md
lg

เลือกจันทบุรีนำร่องโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราเพิ่มความปลอดภัยทางถนน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จันทบุรี - นายกรัฐมนตรี เปิดโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราปรับปรุง-เพิ่มความปลอดภัยทางถนน จ.จันทบุรี นำร่องพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตรกรชาวสวนยาง แก้ปัญหาราคา ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ

วันนี้ (25 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางลงพื้นที่บ้านชำโสม จ.จันทบุรี พร้อมเป็นประธานเปิดโครงการนำร่องการนำยางพารามาใช้ปรับปรุงและเพิ่มความปลอดภัยทางถนนบริเวณถนนบำราศนราดูร อ.เมืองจันทบุรี-เขาคิชฌกูฏ ตามนโยบายส่งเสริมการใช้ยางพาราในภาครัฐ

ภายใต้การทำข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะร่วมกันผลักดันให้เกษตรกรสามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิต ด้วยการนำยางพารามาแปรรูปเป็นวัสดุด้านการจราจรและเพิ่มความปลอดภัยทางถนน

โดยมี นายพงษ์พัฒน์ วงศ์ตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นำหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้นำท้องถิ่น ตัวแทนสหกรณ์ ประชาชน และเกษตรกรให้การต้อนรับ

 


สำหรับโครงการนำร่องการนำยางพารามาใช้ปรับปรุงและเพิ่มความปลอดภัยทางถนนใน จ.จันทบุรี จะเป็นโครงการต้นแบบให้แก่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ โดยมีระยะทางเริ่มต้นในการติดตั้งขอบยางหุ้มแบริเออร์ ความยาว 432 เมตร

นอกจากนั้น ยังมีการนำเสาหลักนำทาง ซึ่งผลิตจากยางพารามาติดตั้งบริเวณทางโค้งตลอดทางหลวงหมายเลข 3249 ตอนควบคุม 0100 ตอนเขาไร่ยา-แพร่งขาหยั่ง อ.เมือง จ.จันทบุรี รวม 47 ต้น

ทั้งนี้ การนำยางพารามาแปรรูปเป็นวัสดุด้านการจราจรและเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ซึ่งกระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมให้การสนับสนุนสหกรณ์ ประกอบด้วย การนำแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางจากยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) สำหรับนำไปใช้ในกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2563-2565


โครงการดังกล่าว กระทรวงคมนาคมได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและความปลอดภัยทางท้องถนนที่ผลิตจากยางพารา และได้มีการทดสอบการชนและการกระแทกจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยแล้วว่าวัสดุที่ผลิตจากยางพาราธรรมชาติช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และคาดว่าจะช่วยลดความสูญเสีย สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินบนท้องถนนที่ไม่อาจประเมินค่าได้ และยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางพารา ซึ่งหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม จะรับซื้อผลิตภัณฑ์ยางพาราจากสถาบันเกษตรกรโดยตรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกร

อนึ่ง ปัจจุบันสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจยางพาราในประเทศไทยมีจำนวน 661 แห่ง ในพื้นที่ 56 จังหวัด มีสมาชิกสหกรณ์ที่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา 355,181 ราย มีสมาชิกในครัวเรือนที่ได้รับผลประโยชน์ จำนวน 1.42 ล้านราย






กำลังโหลดความคิดเห็น