xs
xsm
sm
md
lg

เปิดฉาก!“ยางพารา”ตอบโจทย์ภารกิจคมนาคม แก้ปมความปลอดภัยบนท้องถนน-เสริมรายได้เกษตรกร

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับว่าเป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญของกระทรวงคมนาคม ที่แปรมาสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ในการนำ “ยางพารา” มาใช้ในภารกิจของกระทรวงฯ อาจเปรียบเปรยได้ว่า เป็นการ “ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว” กล่าวคือ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยบนถนน พร้อมทั้งสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางอย่างเป็นธรรม ไม่เพียงเท่านั้น ยังถือเป็นการใช้งบประมาณได้อย่างคุ้มค่า อีกทั้งยังกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคมากขึ้นด้วย

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นที่มาที่ทำให้ “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กำหนดนโยบายและภารกิจข้างต้น เป็นแผนงานเร่งด่วน และได้มีผลเห็นได้ชัดในปัจจุบัน อาทิ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการการนำยางพารามาใช้ในภารกิจคมนาคม หลังจากกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) การนำอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพาราไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุ ช่วยเกษตรกรสวนยาง

โดยในวันที่ 25 ส.ค. 2563 นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เตรียมลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เปิดพิธีเริ่มสตาร์ทโครงการ ในการนำยางพารามาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ 2 รูปแบบที่เหมาะสม คือ แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) บนถนนของกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) หลังจากก่อนหน้านี้ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ศึกษาแนวทางการเพิ่มความปลอดภัยทางถนนด้วยการใช้ยางพาราเป็นวัสดุหลัก

สำหรับ การดำเนินการนำยางพารามาใช้ในภารกิจคมนาคมนั้น ได้ผ่านการทดสอบจากสถาบันชั้นนำของโลก โดยมีการทดสอบการชนจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสถาบัน Korea Automobile Testing & Research Institute (KATRI) ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี พบว่าสามารถลดความรุนแรงของอุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ แบริเออร์แบบเดิมที่มีความสูง 90 เซนติเมตร (ซม.) ทำมุม 20 องศา จะสามารถรับแรงปะทะความเร็วของรถได้ 90 กิโลเมตร (กม.)/ชั่วโมง (ชม.) ขณะที่เมื่อนำยางพารามาแปรรูปเป็นแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์คอนกรีต สามารถรับแรงปะทะได้เพิ่มขึ้น 30% หรือรถใช้ความเร็ว 120-130 กม./ชม. เมื่อปะทะแล้วจะไม่เกิดการพลิกคว่ำ

ทั้งนี้ “กระทรวงคมนาคม” มีแผนดำเนินงานนำผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 อย่างตามที่ระบุข้างต้น มาใช้ติดตั้งบนถนนของ ทล.-ทช.ทั่วประเทศ ภายในปี 2563-2565 ซึ่งจะไม่มีการทุบแบริเออร์คอนกรีตที่มีอยู่เดิมเป็นการนำมาใช้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางทางถนนมากขึ้นโดยจะมีการใช้งบประมาณ 85,624 ล้านบาท แบ่งเป็น แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (RFB) ระยะทางรวม 12,282 กิโลเมตร และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) จำนวน 1,063,651 ต้น ใช้น้ำยางพาราในปริมาณมากถึง 1 ล้านตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรถึง 71% หรือคิดเป็นผลตอบแทนกว่า 30,000 ล้านบาท จากเดิมที่รับรายได้แค่ตัวเลขเปอร์เซ็นต์หลักเดียวเท่านั้น ซึ่งเกษตรกรจะได้รับโดยตรง เป็นการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย

ต้องยอมรับว่า การดำเนินการในครั้งนี้ จะทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน เนื่องจากทั้งแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ จะมีการเปลี่ยนทุกๆ 3 ปี เพื่อประสิทธิภาพทางด้านความปลอดภัย ขณะเดียวกัน ยังเป็นการใช้งบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าในอดีตด้วย เนื่องจากจากข้อมูล พบว่า ใช้ปริมาณยางพาราที่มากกว่าการนำมาใช้ปูผิวถนน และยังใช้งบประมาณถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการก่อสร้างเกาะกลางถนนประเภทอื่นๆ อีกด้วย เช่น ถนนที่ก่อสร้างเป็นเกาะยก มีต้นทุน 10,000 บาทต่อ 1 เมตร หรือ 1 กม.ต้องใช้งบ 10 ล้านบาท ขณะที่ใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีตระยะทาง 1 กม.มีต้นทุนเพียง 7 ล้านบาท ประหยัดงบประมาณได้ถึง 30%

นับเป็นอีกนิมิตรหมายที่ดีจากการดำเนินการของกระทรวงคมนาคม ในการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ บรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร จากปัญหาราคายางตกต่ำ รวมถึงยางล้นตลาด ที่สำคัญยังเป็นการเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนด้วย








กำลังโหลดความคิดเห็น