เมื่อพูดถึง “กล้วย” หลายๆ คนคงจะรู้กันดีว่า เป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เกือบทั้งต้น เช่น “ผลกล้วย” ทั้งดิบหรือสุกมีประโยชน์ทางโภชนาการ “ใบตอง” นำมาใช้เป็นภาชนะใส่อาหารหรือประดับตกแต่ง “ลำต้นกล้วย” นำมาทำเป็นปุ๋ย หรือใช้ทำเป็นกระทงลอยในเทศกาลวันลอยกระทง แต่ในบางครั้ง ก็ไม่ได้มีการนำทุกๆ ส่วนของกล้วยมาใช้ประโยชน์ ทำให้ส่วนที่ไม่ได้นำมาใช้ถูกทิ้งเป็นขยะไร้ประโยชน์ ด้วยเหตุนี้จึงได้เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้ อาจารย์โสภิดา วิศาลศักดิ์กุล อาจารย์ประจำสาขาศิลปะประดิษฐ์ในงานคหกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ทำการวิจัยเพื่อนำส่วนที่ไม่ได้ใช้ของกล้วย มาผลิตเป็น “เส้นใยกล้วย” เพื่อต่อยอดให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคา
อาจารย์โสภิดา เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาว่า ในปัจจุบันมีการเพาะปลูกกล้วยเป็นจำนวนมาก เช่นในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ที่มีการเพาะปลูกกล้วยและส่งขายถึง 4 หมื่นตันต่อปี และหลังจากเก็บเกี่ยวผลกล้วยแล้ว ต้นกล้วยก็จะถูกตัดทิ้งส่งผลให้เกิดเป็นขยะทางการเกษตรจำนวนมาก ด้วยความเสียดายต้นกล้วยที่ถูกทิ้ง จึงได้เกิดแนวคิดในการนำ “กาบกล้วย” ที่เป็นส่วนประกอบของต้นกล้วย มาผลิตเป็น “เส้นใยกล้วย” เพื่อใช้วัตถุดิบสำหรับผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ถักทอ โดยได้มีการร่วมมือกับทาง บริษัท วัน บานาน่า และ ได้รับการส่งเสริมทุนวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) ศึกษาเป็นงานวิจัยในชื่อ “การพัฒนาเส้นใยจากล้วย สำหรับผลิตภัณฑ์งานถักทอ”
“เส้นใยจากกล้วย ถือเป็นหนึ่งในเส้นใยธรรมชาติที่ได้จากพืชที่มีความแข็งแรงเป็นอย่างมาก เมื่อครั้งอดีตมีการนำเส้นใยกล้วยมาใช้ประโยชน์ในหลายด้าน เช่น เชือกกล้วยที่ความเหนียวทน สามารถนำไปลากจูงเรือในแม่น้ำได้ ด้วยความแข็งแรงของเส้นใยนี้ การนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ถักทอต่างๆ ก็จะทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ คงทนแข็งแรงด้วย” อาจารย์โสภิดา กล่าวเสริม
เส้นใยจากล้วยที่ได้วิจัยและผลิตขึ้นนั้น ได้มากจากกาบของกล้วยน้ำว้า โดยการนำมากาบกล้วยมาขูดฟองออก แล้วนำตากให้แห้งในโรงอบและนำเข้าสู่เครื่องปั่นด้าย เพื่อผลิตเป็นเส้นใยกล้วย ที่มี 2 แบบ คือ “เส้นใยแบบเส้นแบน” นำมาถักทอเป็นเสื่อ เพื่อนำเสื่อที่ได้มาตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น กระเป๋า , แจกันดอกไม้ , ปกสมุดบันทึก และ “เส้นใยแบเส้นกลม” นำมาถักเป็นเกลียวแล้วนำไปถักขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ ตะกร้า เครื่องประดับ ดอกไม้ประดิษฐ์เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้นั้นมีความสวยงามมันวาว คงทนแข็งแรง มีราคาตั้งแต่หลักสิบ ไปจนถึงหลักพันบาท และได้กลายมาเป็นหนึ่งในสินค้าของฝากประจำจังหวัดปทุมธานี ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในการนำมาเป็นของขวัญในช่วงงานเทศกาล
การพัฒนาเส้นใยกล้วย เพื่อนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ถักทอต่างๆ นั้น นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในชุมชน และเกษตรกรผู้ปลูกกล้วย เช่นที่ “วิสาหกิจชุมชนเสื่อกกบ้านบางพลวง” จังหวัดปราจีนบุรี ที่ได้เป็นแหล่งการผลิตสินค้าถักทอจากเส้นใยกล้วย ให้กับทางบริษัท วัน บานาน่า ที่เป็นบริษัทปลูกกล้วยเพื่อส่งผลขาย และผลิตเส้นใยกล้วยจากต้นกล้วยที่เหลือทิ้ง ส่งให้กับทางวิสาหกิจชุมชน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน
และเส้นใยกล้วยยังถูกนำมาเป็นเส้นใยทนแทนจาก “เส้นใยกก” ที่ในปัจจุบันหาได้ยากตามธรรมชาติ อีกทั้งยังนำมาทดแทนเส้นใยสังเคราะห์ในงานถักทออื่นๆ ด้วยการนำวัตถุดิบเหลือทิ้ง มาสร้างให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน งานวิจัย “การพัฒนาเส้นใยจากล้วย สำหรับผลิตภัณฑ์งานถักทอ” จึงได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผลงานวิจัยที่นำมาจัดแสดงใน "งานมหกรรมงานวิจัย ประจำปี 2563" ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
สนใจติดต่อ
อาจารย์โสภิดา วิศาลศักดิ์กุล
โทร.089 – 584 - 7952
****************************************************************************
*
* *คลิกLikeเพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ"
รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!
* * *