เจ๋ง! นักศึกษาอาชีวะผุดไอเดียนำวัสดุธรรมชาติ ผสมวัสดุเหลือใช้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม "ด้าย-หยวกกล้วย"ประดิษฐ์กระทงรักษ์โลก
นายณรงค์ แผ้วพลสง รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีลอยกระทง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้สนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษาอาชีวะนำความรู้วิชาชีพที่เป็นผลมาจากการเรียนการสอน ช่วยกันออกแบบประดิษฐ์ คิดค้น และสร้างสรรค์กระทงรักษ์โลกที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุเหลือใช้ เช่น กระทงทำจากเส้นด้ายที่เป็นฝ้าย ของวิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา กระทงน้ำแข็งของวิทยาลัยสารพัดช่างระยอง กระทงรักษ์โลกที่ทำจากหยวกกล้วย และกระทงออนไลน์ของวิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ
นางสาว พรนภา คิดการ นักศึกษาระดับชั้นปวส. 1 สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา เล่าถึงแรงบันดาลใจในการประดิษฐ์กระทงลอยด้วยเส้นด้ายที่ทำจากฝ้ายว่า ฝ้ายถือเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย ปลูกกันมากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในจังหวัดนครราชสีมา ชาวบ้านจะเก็บผลฝ้ายแก่จัดที่แตกเป็นปุยขาวไปปั่นเป็นเส้นใยและเส้นด้าย แล้วนำมาทอเป็นผืนผ้า จากนั้นจึงนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ต่างๆ เมื่อมีเส้นด้ายที่เหลือจากการใช้งานและด้วยคุณสมบัติของเส้นใยฝ้ายที่มีเนื้อค่อนข้างเหนียว และทนความร้อนได้ดี จึงได้นำเส้นด้ายที่เหลือใช้นี้ไปปรึกษาคุณครูจาตุรงค์ เอี่ยมสะอาด เพื่อช่วยกันประดิษฐ์คิดค้นเป็นกระทงลอยด้วยเส้นด้ายฝ้าย โดยใช้ต้นโสนซึ่งเป็นพืชที่เติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติในพื้นที่ที่มีน้ำขังโดยเฉพาะบริเวณทุ่งนา และจากการทดสอบพบว่าต้นโสนมีคุณสมบัติพิเศษคือ มีน้ำหนักเบา และสามารถลอยน้ำได้ จึงได้นำมาทำเป็นฐานกระทง โดยตัดต้นโสนออกเป็นท่อนแล้วนำมาเรียงต่อกันให้เป็นฐานกระทงให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ จากนั้นนำเส้นใยฝ้ายเหลือใช้มาประดิษฐ์เป็นกลีบดอกบัว แล้วประดับตกแต่งเป็นกระทงลอยด้วยเส้นด้ายฝ้าย ทั้งนี้ หากสนใจสั่งซื้อกระทงลอย “สานสายใยเส้นด้ายลายฝ้าย” ขนาดฐานกระทง 6 นิ้ว ราคา 300 บาท และขนาด 8 นิ้ว ราคา 500 บาท สามารถเลือกสีด้ายฝ้ายกระทงได้ โดยติดต่อ ได้ที่ 086-581-8633 หรือ 089-865-1606 หรือที่วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา
ครูสาโรจน์ อนีฆาศรีนนท์ วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ ได้นำนักศึกษาระดับ ปวส. 1 และ 2 สาขาการโรงแรม จำนวน 3 คน คือ นายกิตติชัย หวังแนบกลาง นางสาวศุภิสรา อินทร์จันทร์ นางสาวมัณฑนา เขตตะเคียน ออกสำรวจต้นไม้ในวิทยาลัย เพื่อจะนำมาประดิษฐ์กระทง ซึ่งพบว่ามีต้นกล้วยขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก และมีหลายต้นที่ออกเครือไปแล้ว จึงได้ช่วยกันนำต้นกล้วยมาประดิษฐ์เป็นกระทง ใช้ชื่อว่า “กระทงเรือบุษบกกัทลี” เป็นการใช้ศิลปะการฉลุลายบนหยวกกล้วย หรือการแทงหยวกกล้วยนั่นเอง เริ่มจากการลอกกาบกล้วยออกไปประมาณ 3 ชั้น เพื่อนำส่วนที่เรียบด้านในมาใช้ แล้วแบ่งหยวกกล้วยออกเป็นส่วน ๆ เพื่อให้ทำกระทงได้ 4 ชิ้น แบ่งแต่ละส่วนของกาบกล้วยเพื่อทำเป็นแพลอยน้ำ จากนั้นฉลุกาบกล้วยเป็นลายไทยทำเป็นกาบเรือ และฉลุส่วนที่หนาที่สุดของกาบกล้วยเพื่อทำเป็นบุษบกตรงกลาง สำหรับใส่ดอกไม้ และหมากพลู ตกแต่งด้วยใบหนวดปลาหมึกและดอกรัก ซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีอยู่ในวิทยาลัย สร้างความสมดุลของกระทงเรือทั้งหัวและท้ายโดยใช้ก้านใบตองพันด้วยเชือกกล้วยทำเป็นกระโดง เพิ่มความเก๋ไก๋ให้กับกระทง การประกอบกาบกล้วยเป็นกระทงเรือใช้เข็มกลัดและเชือกกล้วยเป็นหลัก เสร็จแล้วน้ำมะนาวมาทำให้ทั่วเพื่อไม่ให้หยวกกล้วยดำและกันยางกล้วยติดมือ นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มทักษะอาชีพและสร้างรายได้ให้กับนักศึกษาด้วย ในวันลอยกระทงจะนำออกจำหน่ายในราคากระทงเรือละ 100-150 บาท โดยจำหน่ายตามใบสั่งซื้อของคุณครูและเพื่อน ๆ ในวิทยาลัย
นอกจากนี้ นักศึกษาระดับ ปวส.2 สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ จำนวน 2 คน คือ นายนิติภูมิ และนายเนติพงษ์ พาภักดี ซึ่งเป็นพี่น้องฝาแฝด
ได้ทำโปรแกรมลอยกระทงออนไลน์ เพราะต้องการให้วันลอยกระทง เป็นวันที่ทุกคนในครอบครัวได้ลอยกระทงพร้อมกัน โดยพัฒนาเป็นโปรแกรมที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือ และนำไปเชื่อมต่อกับจอทีวี โดยสร้างธีมเป็นการลอยกระทงตามวันเกิด ใช้สีวันเกิดเป็นสัญลักษณ์ จากนั้นพิมพ์ชื่อตนเอง พร้อมพิมพ์คำอธิษฐานลงไปด้วย กระทงก็จะไปปรากฏบนจอทีวีลอยตาม ๆ กันมาทั้งครอบครัว ซึ่งทุกคนในครอบครัวก็จะได้มองและส่งกระทงจนลับสายตา นอกจากจะเป็นการประหยัดแล้ว ยังทำให้คนในครอบครัวมาทำกิจกรรมตามประเพณีร่วมกัน โดยนักศึกษาฝาแฝดบอกว่าตอนนี้กำลังพัฒนาให้จำนวนกระทงไปปรากฎบนจอได้ครั้งละ 30 ใบ
นายณรงค์ กล่าวต่อไปอีกว่า ได้มอบหมายให้วิทยาลัยประเภทสารพัดช่างจัดสอนหลักสูตรพิเศษ สำหรับการทำกระทงแบบประหยัดและรักษ์โลก โดยวิทยาลัยสารพัดช่างระยองจัดทำหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น รายวิชาศิลปะการทำกระทงจากน้ำแข็งหรือ “กระทงแหล่งชีวิต เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม” ซึ่งนายกิตติพงษ์ อุตตมะเวทิน ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างระยองได้เพิ่มเติมข้อมูลว่า การลอยกระทงแต่ละปีจะมีปริมาณขยะในแม่น้ำลำคลองเป็นจำนวนมาก ทำให้เน่าเสียอีกทั้งยังเป็นภาระงานสำหรับหน่วยงานรักษาความสะอาดของแต่ละพื้นที่และต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากในการกำจัดขยะจากกระทง ด้วยเหตุนี้วิทยาลัยสารพัดช่างระยอง จึงได้จัดทำหลักสูตรระยะสั้น ศิลปะการทำกระทงจากน้ำแข็งเพื่อช่วยรณรงค์ให้ประชาชนมาใส่ใจช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณขยะในแม่น้ำลำคลองและยังสามารถสืบสานประเพณีให้คงอยู่ต่อไป ทั้งการทำกระทงก็เป็นกระทงที่มีความเก๋มีไอเดียบรรเจิด พิชิตสิ่งแวดล้อม ต้อนรับวันเพ็ญเดือนสิบสองกันอย่างสดชื่น สำหรับขั้นตอนการทำก็ไม่ยาก เริ่มแรกเตรียมอุปกรณ์สำหรับทำกระทง เป็นขันอาบน้ำหรือแม่พิมพ์ที่มีลักษณะหรือรูปทรงที่สามารถลอยน้ำได้ จากนั้น จัดเตรียมดอกไม้สำหรับใช้ตกแต่งกระทงตามความต้องการ เช่น ดอกดาวเรือง ดอกกล้วยไม้ ดอกมะลิ หรือดอกไม้สีสดใสต่าง ๆ แล้วจัดดอกไม้ใส่ลงในแม่พิมพ์กระทงน้ำแข็ง เติมน้ำลงแม่พิมพ์กระทงน้ำแข็ง นำไปแช่ในตู้ทำความเย็น แล้วทำพิมพ์กลีบกระทงโดยการจัดตกแต่งด้วยดอกไม้ เติมน้ำลงในแม่พิมพ์และนำไปแช่ตู้ทำความเย็น เมื่อฐานพิมพ์กล่องกระทงแข็งได้ที่แล้วให้นำมาประกอบเข้ากับกลีบกระทง โดยใช้เกลือเป็นตัวประสานให้แม่พิมพ์กระทงประกบติดกัน เมื่อประสานส่วนประกอบของกระทงน้ำแข็งเสร็จแล้วให้นำไปแช่ในตู้ทำความเย็นอีกครั้งเพื่อรักษาอุณหภูมิให้กระทงน้ำแข็งคงรูปอยู่ได้จนถึงเวลาลอยกระทง ซึ่งวิทยาลัยไม่ได้ทำขาย แต่จะสอนให้ทำด้วยตนเองเพื่อสร้างความภาคภูมิใจ และสร้างสำนึกรักษ์โลกให้เกิดในใจคน