xs
xsm
sm
md
lg

ลอยกระทงรักษ์โลก 100% ลุ้นทำลายสถิติลดขยะกระทง!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลอยกระทงเพื่อสืบสานประเพณีไทย และใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ปีนี้ค่อนข้างคึกคักเมื่อทั้งองค์กรรัฐและเอกชนต่างออกมารณรงค์ โดยเฉพาะสังคมทางออนไลน์ที่มีการโพสต์แชร์กันมาก จนแทบไม่มีใครที่ไม่รู้ว่า “สังคมไทยมีความพยายามลดขยะที่ทำลายสิ่งแวดล้อม” โดยเฉพาะจากขยะวัสดุโฟมและพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง
วันลอยกระทง วันเพ็ญเดือนสิบสอง ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ มีคนถามว่าจะลอยกระทงดีไหม ถ้าหากจะไปลอยจะเลือกกระทงอย่างไร เพื่อจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม? เพราะมีกระทงหลายอย่าง ทั้งใบตอง (แบบดั้งเดิม) ขนมปัง กระดาษ เปลือกผลไม้ โฟม และปีนี้ก็มีคนพูดถึงกระทงน้ำแข็ง ซึ่งทุกอย่างที่กล่าวล้วนบอกช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม หลายคนที่ไม่ลอยกระทงจริง ก็ไปใช้วิธีลอยกระทงออนไลน์แทน
ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โพสต์ที่เพจ ดร. วิจารย์ สิมาฉายา Wijarn Simachaya Fanpage แนะนำว่า ลอยกระทงรักษ์โลกแบบไหนก็ดี เอาที่สบายใจ แต่ก่อนจะตัดสินใจอยากให้ทุกคนได้เห็นสถิติการเก็บกระทงในกรุงเทพมหานคร 3 ปีย้อนหลัง
- ปี 2559 เก็บได้ 661,936 ใบ เป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 93.3 % และกระทงโฟม 6.7 %
- ปี 2560 เก็บได้ 811,945 ใบ เป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 93.6 % และกระทงโฟม 6.4 % กระทงเพิ่มขึ้น 22.7 % เทียบกับ ปี 2559
- ปี 2561 เก็บได้ 841,327 ใบ เป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 94.7 % และกระทงโฟม 5.3 % กระทงเพิ่มขึ้น 3.6 % เทียบกับ ปี 2560
ส่วนในปีนี้ สถิติจะจบอย่างไร คงอยู่ที่ทุกคนร่วมกัน ไม่ว่าใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติให้เป็น 100 % และลดจำนวนกระทงเมื่อเทียบกับปี 2561

กระทงใบตอง



กระทงผักผลไม้

กระทงน้ำแข็ง
ดร.วิจารย์ กล่าวถึงการทำการทดสอบในสภาพน้ำบ้านเรา พบว่า กระทงใบตองรักษาสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพราะย่อยสลายใช้เวลาและสามารถเก็บทันได้ กระทงขนมปัง (ย่อยสลายไว ปลากินไม่ทันเพิ่มความเน่า ถ้าน้ำเน่าอยู่ก็ไม่มีปลา และเก็บไม่ได้ ถือว่าเพิ่มความเน่าแหล่งน้ำได้ โดยเฉพาะที่น้ำไม่ไหล สีสันของสารเคมีจากขนมปังอาจเป็นพิษได้ด้วย) กระดาษ (ย่อยและสะสมในสิ่งแวดล้อม เก็บไม่ได้ สีขาวในน้ำตะกอนไม่น่าดู กระดาษรีไซเคิลเป็นประโยชน์มากกว่า) เปลือกผลไม้ (เน่าไวและอุ้มน้ำ เก็บยาก) โฟม (เก็บง่าย แต่ย่อยยาก ไม่เหมาะกับแหล่งน้ำเปิด ไม่ควรใช้ และควรงดไปเลย ออกสู่สิ่งแวดล้อมใช้เวลานาน)
ตกแต่งแต่พองามด้วยวัสดุธรรมชาติ งดพลาสติก เพราะย่อยยากเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและกำลังเป็นปัญหาของภูมิภาคและของโลกถ้าเล็ดลอดไปในทะเลใช้เวลาย่อยกว่า 450 ปี ทั้งพลาสติกและไมโครพลาสติก หรือนาโนพลาสติก สะสมในทะเล ปลากินเข้าไป คนกินปลาจะเกิดอะไรขึ้น
กระทงน้ำแข็ง ถ้าลอยมากๆ ในน้ำไม่มาก ก็จะทำให้น้ำเย็นเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำได้ (แต่น่าจะไม่ถึงขั้นนั้น) แต่กระบวนการทำน้ำแข็งต้องใช้พลังงาน ตั้งแต่ขั้นตอนการทำน้ำประปาแล้ว การละลายก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง แต่ถ้าบ้านอยู่ติดน้ำก็ไม่น่าเป็นปัญหา
ที่สำคัญเลือกกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติในพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมใจลดปริมาณครอบครัวละหนึ่ง คู่รักละหนึ่ง กลุ่มละหนึ่ง เพื่อ” กระทงจะได้ไม่หลงทาง”


กำลังโหลดความคิดเห็น