xs
xsm
sm
md
lg

ขยะออนไลน์สตาร์ทอัป ช่วยแก้ปัญหาขยะล้นเมือง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




GEPP THAILAND ขยะออนไลน์

หลายคนพยายามที่ จะ ทำให้กิจการรับซื้อขยะ เป็นธุรกิจออนไลน์ แต่ในความจริงทำไม่ได้ ด้วยเหตุหลายประการ ทั้งโครงสร้างของตัวสินค้า และเป็นธุรกิจที่ต้องอยู่ในกลุ่มของสังคมเมืองที่อยู่ใกล้ๆกัน ดังนั้น การเปิดรับซื้อขยะออนไลน์ จึงต้องพับไปในหลายกลุ่มสตาร์ทอัปที่พยายามจะทำมันขึ้นมา


เช่นเดียวกับ GEPP THAILAND เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการสตาร์ทอัปที่พยามยามจะนำรูปแบบของการซื้อขยะออนไลน์ เข้ามาใช้ แต่สุดท้ายทำได้เฉพาะกับหน่วยงานที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น ปัจจุบัน GAPP THAILAND เป็นแพลตฟอร์มเดียวที่เปิดให้บริการรับซื้อขยะ ผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นทางเพจเฟซบุ๊ก หรือ แอปพลิเคชั่น


นาย โดม บุญญานุรักษ์ เจ้าของเพจและแอปพลิเคชั่น GEPP THAILAND สตาร์ทอัปบริการจัดเก็บขยะออนไลน์ เล่าว่า ได้เปิดเพจที่มีชื่อว่า GEPP THAILAND เมื่อปี ค.ศ.2018 และเปิดแอปพลิเคชั่น GEPP เมื่อปี 2019 จุดเริ่มต้นมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อม เราอยากจะเห็นแม่บ้านในสังคมครัวเรือน หรือ องค์กรต่างๆ ทำอย่างไร จึงจะทำให้เขาเหล่านั้นได้แยกขยะได้ดีขึ้น เริ่มจากการให้ความรู้ผ่านช่องทางโซเซียลเน็ตเวิร์ก ไม่ว่าจะเป็นทางหน้าเพจเฟซบุ๊ก และทางช่องทางยูทูป เพราะปัญหาขยะจำนวนมาก สามารถแก้ไขได้ที่ต้นทาง ถ้าแยกขยะให้ถูกต้อง

จากประสบการณ์พบเห็นรถเก็บขยะที่ทำการแยกขยะที่หลังรถตอนที่เข้ารับขยะแต่ละจุดที่เป็นจุดรวบรวมขยะของแต่ละพื้นที่และใช้เวลาในการจัดการนาน หลังการเก็บขยะและแยกวัสดุรีไซเคิลแล้วจุดรวบรวมขยะนั้นจะส่งกลิ่นและมีความไม่สะอาดส่งผลต่อสภาพแวดล้อมทางกายภาพของเมือง ซึ่งมาจากปัญหาที่ไม่มีการแยกที่ต้นทาง ทำให้รถเก็บขยะของส่วนกลางที่ต้องทำการแยกก่อน เพราะถ้านำขยะทุกประเภทรวบรวมเข้าไปในรถที่เป็นรถอัดขยะจะทำให้ขยะทุกชนิดรวมกันและเกิดความปนเปื้อน จนทำให้ขยะรีไซเคิลที่มีมูลค่าไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ต่อ จากตัวอย่างการจัดการขยะในต่างประเทศที่มีการระบุวันในการจัดการขยะแต่ละชนิดชัดเจนและมีข้อบังคับในการจัดเตรียมขยะแต่ละชนิดชัดเจนเพื่อเป็นการช่วยลดภาระของการจัดการขยะของภาครัฐได้อย่างมากและได้ขยะที่มีคุณภาพสามารถจัดการต่อได้ง่าย

นายโดม  บุญญานุรักษ์


หลังจากนั้น กิจกรรมของเรา คือ การร่วมกับคนรับซื้อขยะ จุดเริ่มต้นเริ่ม จากคนรับซื้อขยะทั่วไป ให้ไปรับขยะตามบ้านที่ต้องการให้เราไปรับ เพราะเชื่อว่า ยุคสมัยเปลี่ยนไป กิจการรับซื้อขยะเองก็ต้องปรับตัว ร่วมถึงซาเล้งที่รับซื้อขยะเอง ต้องปรับตัว แต่พอทำไปได้สักระยะ พบว่าไม่คุ้ม บางครั้งลูกค้าเรียกไปใช้บริการ แต่ละบ้านมีขยะไม่เท่ากัน เนื่องจากด้วยจำนวนขยะไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่ ซาเล้งที่เป็นสมาชิกของเราเดินทางไปรับ และปกติซาเล้งที่รับซื้อขยะเขามีลูกค้าประจำอยู่ในพื้นที่บริเวณที่เขาวิ่งรับซื้ออยู่แล้ว การรับซื้อขยะกับผู้ขายขยะรายย่อยควบคุมยาก

ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายของเราก็เลยเปลี่ยนไป มุ่งไปที่บริษัท องค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งองค์กรเหล่านี้เองก็ต้องการองค์ความรู้ในการคัดแยกขยะอยู่แล้ว เพราะนอกจากจะได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว หรือการทำซีเอสอาร์แล้ว สิ่งที่ได้ตามมา คือ รายได้ที่แน่นอนจากการขายขยะรีไซเคิลเหล่านั้น โดยการทำงานร่วมกับองค์กร ที่ผ่านมาเราได้นำวิธีการวิเคราะห์ขั้นสูงในการคัดแยกขยะมาใช้ ซึ่งองค์ความรู้ที่เราให้องค์กรต่างๆ จะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่สิ่งที่เขาจะได้นอกจากได้ทำซีเอสอาร์แล้ว ยังมีรายได้ที่ได้ประจำจากการขายขยะที่เพิ่มขึ้นจากในอดีต

ปัจจุบันมีพาสเนอร์ที่เป็นบริษัทรีไซเคิล 2 ราย ที่ร่วมทำงานกับเรา และหนึ่งในนั้น ได้แก่ ศูนย์รีไซเคิล กล่องเครื่องดื่ม บริษัทไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด ส่วนที่เหลือส่งให้กับพาสเนอร์อีกรายของเรา ซึ่งพาสเนอร์ที่ร่วมทำงานกับเรา เขาก็จะไปรับขยะจากองค์กรที่เราไปดิวเอาไว้เอง โดยตอนนี้มี อยู่ประมาณ 20 องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานตลาดหลักทรัพย์ ฯ บริษัทอีสวอเตอร์ และเทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นต้น


ติดต่อ FB:GEPP




ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป เพจแยกขยะที่มีคนติดตามสูงสุด


ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป เป็นเพจที่ให้ความรู้ด้านการคัดแยกขยะที่มีผู้ติดตาม หลักแสนราย โดยเพจดังกล่าวเกิดขึ้นมาจาก “นายเปรม พฤกษ์พยานนท์” ผู้เติบโตมากับธุรกิจรับซื้อของเก่าของที่บ้าน เขาสนใจความเป็นไปของธุรกิจรีไซเคิลและอยากให้คนอื่นๆ ได้เข้าถึงข้อมูลที่เขามี เพราะเขาเชื่อว่าการแยกขยะนั้นไม่ใช่แค่การสร้างรายได้ แต่มันคือการร่วมกันรักษาทรัพยากรบนโลกนี้

นายเปรม เล่าถึง จุดเริ่มต้นของเพจ เกิดขึ้นมาจากเดิมทำธุรกิจรีไซเคิล ผม เห็นว่าธุรกิจนี้คนไม่ค่อยเข้าใจมัน คนไม่ค่อยรู้ว่าแยกขยะแล้วเอาไปขายได้จริงๆ และไม่เข้าใจว่ากระบวนการรีไซเคิลกับธุรกิจรีไซเคิลมันต่างกัน ของบางอย่างมันรีไซเคิลได้ แต่ขายไม่ได้ พอมันขายไม่ได้ ก็แปลว่ามันไม่ได้ถูกเอาไปรีไซเคิลจริงๆ ผมก็เลยอยากจะให้ความรู้ และอยากให้ธุรกิจนี้เข้าถึงคนทั่วไป และให้มันง่ายกับทุกคนมากขึ้น เพราะบางทีเราแยกประเภทเป็นขยะรีไซเคิล ขยะเปียก ขยะทั่วไป แต่มันไม่ได้แยกเพื่อเอาไปรีไซเคิลได้จริงๆ สุดท้ายก็ถูกนำไปรวมกับขยะที่รถขยะต้องเอาไปทำลาย ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาขยะล้นเมือง และสิ่งแวดล้อมได้เลย


ปัจจุบัน แม้จะให้ความรู้ในเรื่องการคัดแยกขยะ เพื่อนำผลิตภัณฑ์รีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็นประโยชน์ และก็ยังคงไม่แยกขยะ จะมีรณรงค์ หรือในสังคมออนไลน์เอง ก็มีคนที่พยายามจะเปลี่ยนแปลง ธุรกิจนี้ให้เป็นออนไลน์ แต่ไม่ได้ประสบความสำเร็จ เพราะโครงสร้างของธุรกิจนี้ มันซับซ้อน เป็นค่อนข้างเข้าใจยาก เพราะถ้าเป็นธุรกิจทั่วไป คือ ทำอย่างไรจึงจะขายให้ได้มากที่สุด แต่ในธุรกิจรับซื้อขยะ คือ ต้องซื้อให้ได้มากที่สุด ทำอย่างไรจึงหาเครือข่าย คนนำขยะมาขายให้กับเราได้มากที่สุด ซึ่งก็คือ กลุ่มซาเล้งทั้งหลาย และในความเป็นจริง คงไม่มีใตรอยากทำ เมื่อไม่มีช่องทางจริงจึงจะมาเป็นซาเล้งรับซื้อขยะ ทำให้กลุ่มซาเล้ง ลดลงและเพิ่มขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจ อย่างปัจจุบันช่วงโควิด คนตกงานกันเยอะ ซาเล้งรับซื้อขยะ เพิ่มขึ้น


สำหรับที่มาของ ชื่อ ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป มันเป็นชื่อที่เห็นภาพชัดเจน เพราะในว่าอดีต จนถึงปัจจุบัน ภาพของคนที่รับซื้อขยะ คือ ลุงแก่ที่เข็นรถมาหน้าบ้าน และรับซื้อขยะ ไม่ต้องอธิบายอะไร ก็เลยใช้ชื่อนี้ และที่คนเข้ามาติดตามเป็นจำนวนมาก เพราะคนไทยเริ่มตระหนักถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่เกิดจากการทิ้งขยะไม่เป็นที่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ที่เกิดจากขยะไปอุดตันท่อระบายน้ำ หรือ ขยะชิ้นใหญ่ที่อยู่ในแม่น้ำลำคลอง ทำให้น้ำเน่าเสีย เป็นต้น ซึ่งเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป ก็ต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่อยากเห็นคนไทยรู้จักแยกขยะ และเห็นประเทศไทยดีขึ้น สุดท้ายแล้ว สิ่งที่คุณอยากเห็นที่สุดในเรื่องการจัดการขยะของบ้านเราคือ เราอยากให้ทุกคนรู้สึกว่าขยะเป็นของพวกคุณ คือตอนนี้ทุกคนไม่ได้รู้สึกว่าขยะเป็นของพวกคุณ ทุกคนเห็นขยะเป็นเรื่องที่ต้องให้คนอื่นจัดการ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณเข้าใจว่าขยะมันเป็นของฉันนะ วิธีการจัดการขยะของทุกคนก็จะเปลี่ยนไป

ติดต่อ FB:ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป


** * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ"รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุดและร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

SMEs manager




กำลังโหลดความคิดเห็น