“ดร.ธรณ์” โพสต์เรียกร้อง ควรถึงเวลาแล้วที่ร้านกาแฟที่หวังดีต่อโลก จะกลับมาอนุญาตให้คนไทยนำแก้วมาใช้เองได้อีกครั้ง หวั่นผลของการรณรงค์ขยะพลาสติกแทบสูญหาย ชี้อาจส่งผลต่อโรดแมปของกระทรวงทรัพยากรฯ
ผศ.ดร.ธรณ์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนว่า
"ในสถานการณ์ที่เมืองไทยไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศเกือบ 40 วัน และภาครัฐกำลังจะคลายล็อคระยะที่ 5 ผมอยากขอร้องร้านกาแฟทั้งหลายว่า น่าจะถึงเวลาอนุญาตให้คนซื้อนำแก้วมาใช้เอง เพื่อลดแก้วใช้แล้วทิ้งจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาครับ 🙏🏼
การไม่อนุญาตให้คนซื้อนำมาใช้เอง เนื่องจากเหตุผลป้องกันการระบาด ไม่ใช่มาตรการภาครัฐ เป็นเพียงกระแสที่เกิดขึ้นจากร้านกาแฟในเมืองนอก ก่อนเข้ามาในประเทศไทย
ผมไม่สามารถหาหลักฐานเจอได้ว่า มีเหตุการณ์คนติดโรคจากการนำแก้วตัวเองมาใช้
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่รุนแรง ผมไม่อาจเรียกร้องในเรื่องนี้ แม้ทราบดีว่าจะเกิดขยะปริมาณมหาศาล
ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรฯ ยืนยันว่าขยะพลาสติกในไทยเพิ่มขึ้นถึง 15%
แน่นอนว่าส่วนหนึ่งคือแก้วใช้แล้วทิ้งเหล่านั้น (ไม่มีตัวเลข แต่เชื่อว่าเป็นหลักหลายหมื่น/วัน หรือกว่านั้น)
เรารณรงค์กันเรื่องนำแก้วมาเองติดต่อกัน 5-6 ปี จนเริ่มเกิดผลเป็นอย่างมาก ก่อนหน้านั้นแทบทุกร้านล้วนยินดีรับแก้วส่วนตัว
แต่เมื่อห้ามใช้ ผลของการรณรงค์แทบสูญหาย ยังอาจส่งผลต่อโรดแมปของกระทรวงทรัพยากรฯ ในการแบนแก้วใช้แล้วทิ้งในปี 65
ด้วยเหตุผลทุกอย่างที่บอกมา ผมคิดว่าควรถึงเวลาแล้วที่ร้านกาแฟที่หวังดีต่อโลก จะกลับมาอนุญาตให้คนไทยนำแก้วมาใช้เองได้อีกครั้ง
จะลดราคาให้หรือไม่ก็ตาม ประเด็นสำคัญคือเปิดทางเลือกให้คนอยากรักโลกมีโอกาสจะทำตามความตั้งใจของพวกเรา
หากเพื่อนธรณ์เห็นด้วย ขอความกรุณาสนับสนุน “การขอร้อง” ครั้งนี้ด้วยครับ"
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีความพยายามลดปัญหาขยะพลาสติก เพราะช่วงวิกฤตโควิด-19 การสั่งอาหาร Delivery ทำให้เกิดขยะจากบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งรวมทั้งขยะพลาสติกด้วย
โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” จึงเกิดขึ้น โดยเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) ร่วมด้วยภาคี 24 องค์กร ที่ตระหนักถึงการจัดการขยะพลาสติก และต้องการให้ผู้บริโภค “แยกที่บ้าน ฝากทิ้งที่เรา” จึงนำไอเดียมานำร่องใช้จริง โดยการตั้งจุดรับทิ้งขยะพลาสติก 10 จุด บนถนนสุขุมวิทในกรุงเทพฯ เพื่อนำกลับไปรีไซเคิล
สิ่งที่โครงการนี้ต้องการมากกว่าขยะ คือให้ผู้บริโภคได้ความรู้ในการคัดแยกขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง แล้วนำไปใช้ในชีวิตวิถีใหม่ เพื่อยกระดับการเพิ่มความปลอดภัยให้กับซาเล้งและพนักงานเก็บขยะ รวมถึงลดปริมาณขยะพลาสติกสู่บ่อฝังกลบ ซึ่งทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ยิ่งไปกว่านั้น แนวทางแยกขยะที่บ้าน แล้วมาฝากทิ้งเป็นการเพิ่มการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ โดยผ่านกระบวนการ recycle/upcycle ของบริษัทเอกชน เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Cicular economy) เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เริ่มต้นนำร่องกำหนดเวลาไว้ 2 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563