ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โพสต์เรื่องราวน่ายินดีของทะเลฝั่งอันดามัน ที่ลูกเต่าตนุฟักลงทะเลรวดเดียว 102 ตัว บริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา พร้อมขอบคุณเจ้าหน้าที่อุทยานเกาะสุรินทร์ทุกท่านที่ช่วยกันดูแลลูกเต่าของทะเลไทย
วันนี้ (26 มิ.ย.) เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” หรือ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ภาพเรื่องราวน่ายินของทะเลฝั่งอันดามัน ที่มีลูกเต่าตนุฟักลงทะเลรวดเดียว 102 ตัว บริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา โดยผู้โพสต์ระบุว่า
“หลังจากปล่อยให้ลูกเต่าอ่าวไทยออกมาเย้ยหลายรัง เต่าอันดามันขอเอาคืนบ้าง ลูกเต่าตนุที่เกาะสุรินทร์ฟักลงทะเลรวดเดียว 102 ตัว #ความสำเร็จที่ดิ้นดุ๊กดิ๊กได้ เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา เป็นมือวางอันดับหนึ่งในเรื่องแนวปะการังน้ำตื้น ยังครองความเป็นแชมป์ในเรื่องความกว้างใหญ่ของแนวปะการังที่เหนือกว่าเกาะใดในอันดามัน ด้วยขนาดพื้นที่ 8 ตารางกิโลเมตร
เกาะสุรินทร์เป็นเกาะสุดเลิฟของอาจารย์ธรณ์ เลิฟขนาดที่เป็นจุดวิจัยทำปริญญาโท ทำเสร็จไปเมืองนอก ยังต้องบินกลับมาทำปริญญาเอกต่อที่เกาะนี้แหละ ตอนนั้นย้อนไป 25 ปี มีเกาะแห่งหนึ่งที่ผมเริ่มสำรวจเป็นครั้งแรก ก่อนพบว่าสวยจนต้องเงยหน้าขึ้นจากทะเลแล้วร้องกรี๊ด ที่นั่นเรียกว่าเกาะตอรินลา อยู่ทางใต้ของหมู่เกาะ มีร่องน้ำตื้นๆ ที่เคยดำน้ำข้ามมาแล้ว
ร้องเสร็จแล้วเสนออุทยานขอเป็นเขตสงวนเถอะนะ เกาะตอรินลาจึงเป็นเขตสงวนในอุทยานทางทะเลแห่งแรกๆ ก่อนเกาะยูง ก่อนตาชัย ที่เกริ่นนำยาวเหยียด เพราะมันเกี่ยวข้องกับลูกเต่าแก๊งค์นี้ เพราะเมื่อวันที่ 26 เมษายน เจ้าหน้าที่ออกไปตรวจในช่วงปิดโควิด เจอรอยเต่าขึ้นมาวางไข่ เหตุผลตอบได้ เกาะตอรินลามีแนวปะการังน้ำลึกกว่าที่อื่น เต่าเข้าหาดง่าย ลักษณะนี้สังเกตได้ว่าเต่าไม่ชอบแนวปะการังน้ำตื้นมากและกว้างใหญ่ เพราะเข้าหาดลำบากครับ เกาะตอรินลาอยู่ไกลหูไกลตา เจ้าหน้าที่จึงค่อยๆ ย้ายรังมาที่ทำการอ่าวช่องขาด
จากนั้น ก็เฝ้าตรวจสอบดูแลโดยอาศัยหลักวิชาการที่ฝึกอบรมมา พร้อมอุปกรณ์ที่เตรียมไว้พร้อม เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิทราย ตรวจสอบว่าเหมาะไหมสำหรับการฟักไข่ ตรงนี้ต้องเน้นย้ำว่า ถือเป็นความสำเร็จของกรมอุทยานฯ ที่เจ้าหน้าที่ช่วยกันย้าย/ดูแลรังเต่าโดยลำพัง ไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านลงไปดู เพราะช่วงนั้นไทยปิดสนิทเพราะโควิด จนท้ายสุด ความสำเร็จออกมาเป็นตัวดิ้นดุ๊กดิ๊กได้ และสำเร็จแบบเร้าใจใฝ่ฝัน เพราะมีลูกเต่าตนุออกมาถึง 102 ตัว ถือว่าเยอะมากๆ เมื่อคิดว่ามาจากรังเดียว จึงขอขอบคุณเจ้าหน้าที่อุทยานเกาะสุรินทร์ทุกท่านที่ช่วยกันดูแลลูกเต่าน้อยๆ ของทะเลไทย จนวิ่งหน้าตั้งลงทะเลได้กว่าร้อยตัวครับ ไม่เสียทีที่เป็นเกาะสุดเลิฟของผม หัวหน้าดำกับน้องๆ เก่งมากครับ ภาพ - อุทยานเกาะสุรินทร์”