กรณีเฟซบุ๊กจิตอาสา Go Eco Phuket รายงานภาพกลุ่มนักดำน้ำนั่งถ่ายภาพบนซากเรือปะการังเทียม บริเวณเกาะราชาใหญ่ เป็นเหตุให้สังคมกังวลถึงผลกระทบและความเหมาะสมของพฤติกรรม พร้อมฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงการกระทำดังกล่าว
วันนี้ (14 ก.ค.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวว่า ตนได้รับรายงานกรณีมีนักท่องเที่ยวดำน้ำนั่งถ่ายรูปกับซากเรือที่มีปะการังเกาะอยู่ บริเวณเกาะราชาใหญ่ จ.ภูเก็ต สำหรับตนแล้วถือว่าพฤติกรรมดังกล่าวมีโอกาสสร้างความเสียหายต่อปะการังที่เกาะอาศัยอยู่ ซึ่งจากภาพจะเห็นได้ว่าเริ่มมีการเกาะตัวของปะการังอ่อน หรือพืชขนาดเล็กขึ้นปกคลุมซากเรือลำนี้แล้ว การนั่งหรือการเหยียบบริเวณดังกล่าว จะสร้างความเสียหายทำให้ปะการังอ่อนเกิดการแตกหักได้ อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับและสั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เร่งตรวจสอบและหามาตรการในการจัดการอย่างเป็นระบบและต้องเด็ดขาด และให้รวมถึงในพื้นที่อื่นๆ ด้วย
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ตนอยากฝากถึงพี่น้องประชาชนทุกคน ว่า “นับแต่มีการผ่อนปรนให้เริ่มมีการท่องเที่ยวภายในประเทศได้ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ และแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลจะเป็นเป้าหมายแรกๆ ของนักท่องเที่ยว ตนอยากขอให้ทุกคนท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึก ธรรมชาติได้พักฟื้นในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนคืนความสมบูรณ์ จนเป็นที่ประจักษ์ในหลายพื้นที่ เราทุกคนต้องช่วยธรรมชาติในการฟื้นฟูตัวเอง ต้องเว้นระยะห่างระหว่างระบบนิเวศทางธรรมชาติ ลดการปล่อยมลพิษ รวมถึงปรับพฤติกรรมที่คำนึงถึงความสมบูรณ์และคงอยู่ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามจะคงอยู่กับประเทศไทยไปอีกนานเพื่อส่งผ่านไปยังลูกหลานของเราในรุ่นต่อไป”
ด้าน นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยว่า พื้นที่เกาะราชาใหญ่พบแนวปะการังกว่า 268 ไร่ ทั้งทางด้านตะวันตก ตะวันออก และด้านเหนือของเกาะ สภาพปะการังในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในสภาพที่ได้รับความเสียหายทั้งจากธรรมชาติและกิจกรรมมนุษย์ ซึ่งเมื่อปี 2559 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ออกคำสั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการกำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการระงับความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรปะการัง ใน 7 พื้นที่ ซึ่งรวมถึงพื้นที่เกาะราชาใหญ่ ทั้งนี้ ได้กำหนดให้บุคคลหรือผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวดำน้ำจะต้องไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการัง รวมถึงผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวดำน้ำลึก ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวจากสำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ และจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและหลักการของสถานบันการเรียนการสอนดำน้ำสากล หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายโสภณ เผยอีกว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ยกร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ เพื่อเป็นการสงวน การอนุรักษ์ การฟื้นฟู ทรัพยากรปะการัง โดยการประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ บริเวณแนวปะการัง ต้องจัดให้มีผู้ควบคุม เพื่อให้ความรู้ ให้คำแนะนำ ควบคุม กำกับ และดูแลนักท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวทำลาย ทำให้เกิดความเสียหาย หรือสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศบริเวณแนวปะการัง ซึ่งอีกไม่นานจะมีผลบังคับใช้ในมาตรการนี้ต่อไป
“อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ประสานและติดตามนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ รวมถึงได้กำชับให้ประชาสัมพันธ์และกวดขันเรื่องการดำน้ำในพื้นที่อย่างเข้มงวดและจริงจัง อนึ่ง หากมีการพบเห็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเล สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่นั้นๆ หรือแจ้งสายด่วน Green Call 1310 หรือผ่านทาง Application MRNR e-petition เพื่อจะได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและดำเนินการได้ทันต่อสถานการณ์” อธิบดี ทช. กล่าว