แม้ว่า ถังวนถุงของโครงการมือวิเศษ เริ่มเปิดจุดทิ้งขยะแยกประเภท ตั้งอยู่กลางกรุงได้ไม่นาน (ดีเดย์ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา) พร้อมบอกไว้ชัดๆ ทั้งประชาสัมพันธ์บนเพจ และที่จุดทิ้งว่ารับขยะถุงพลาสติก 12 ประเภท ต้องเป็นขยะที่แห้งและสะอาด เท่านั้น
แต่ผลลัพธ์ไม่ทันครบเดือนกลับพบว่า ขยะที่ทิ้งในถัง ไม่แยกประเภท ที่ร้ายกว่านั้นเป็นขยะเปียก หรือมีเศษอาหารเหลือที่ปนเปื้อนกับภาชนะพลาสติกที่ทิ้ง ซึ่งไม่ต่างไปจากถังขยะอื่นๆ ที่อยู่ข้างเคียง
กรณีนี้ตอกย้ำพฤติกรรมการทิ้งขยะลงถังของคนไทย ว่าคงมีคนจำนวนหนึ่งที่ยังคุ้นเคย ติดเป็นนิสัยทิ้งโดยไม่คัดแยก นับเป็นปัญหาสุดคลาสสิกของถังขยะแยกประเภทในบ้านเรา ไม่ว่าจะของ กทม.เทศบาล หรือแม้แต่จุดทิ้งของห้างร้าน หน่วยงานต่างๆ ที่ตั้งถังคัดแยกขยะเรียงกันให้แยกทิ้ง แต่ทุกถังทุกสีกลับพบขยะคล้ายๆ กันหมด
ความเป็นจริงในถังขยะคัดแยก ยังพบว่ามีขยะทุกประเภทปะปนอยู่ในถังทุกแบบทุกสี เช่น พบแก้วกาแฟร้อน กาแฟเย็น ถุงพลาสติก ถุงกระดาษในถังขยะเปียกสีเขียว พบกล่องโฟมในถังขยะรีไซเคิลสีเหลือง พบขวดพลาสติก ไม้เสียบลูกชิ้นในถังขยะอันตรายสีแดง ส่วนขยะทั่วไปสีน้ำเงินยิ่งไม่ต้องพูดถึง มีขยะทุกประเภทที่กล่าวมา และเป็นแบบนี้แทบจะทุกสถานที่ในเมืองไทย ยิ่งพอมีการทิ้งขยะไม่ถูกประเภท คนที่ทิ้งภายหลังก็ยิ่งจะสับสนว่า ขยะในมือของตัวเองควรจะทิ้งลงถังไหนดี
ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไขยากที่โครงการมือวิเศษ มาประสบซ้ำในถังวนถุง จนถึงกับขอร้องผ่านเพจเฟซบุ๊กมือวิเศษ ซึ่งตามหลักการทิ้งขยะลงถังคัดแยกขยะที่ถูกต้อง คนทิ้งต้องดูขยะในมือก่อนทิ้ง ปฏิบัติให้เป็น New Normal ในการทิ้งขยะ โดยในช่วงเริ่มต้นอาจจะแยกขยะสับสนและใช้เวลามากสักหน่อย แต่พอเคยชินแล้วก็จะทิ้งได้ในเวลารวดเร็วเหมือนเดิม
เจตนาที่ดีในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรพลาสติกให้คุ้มค้า ของโครงการมือวิเศษ ที่มี“ถังวนถุง” เป็นตัวเร่งให้เกิดการคัดแยกถุงพลาสติกที่สะอาดนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้รวดเร็ว ลดคัดตอนการคัดแยกและล้างทำความสะอาด แต่ด้วยสเกลที่ยังไม่ใหญ่พอ คนส่วนใหญ่ยังคงเคยชินกับการทิ้งให้ลงถังก็พอแล้ว
ในช่วงแรกจึงอาจต้องมีพนักงานยืนประจำถังเพื่ออธิบาย และช่วยให้มีการทิ้งอย่างถูกต้อง ถังวนถุงเน้นขยะถุงพลาสติกที่ทำความสะอาดแล้ว จึงไม่ควรถูกใช้เป็นที่ทิ้งขยะทั่วไป
เอาให้ดี ต้องเริ่มจากในโรงเรียน และถังขยะ 4 สีของกรุงเทพฯ และเทศบาลต่างๆ น่าจะช่วยทำให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด และถ้าจะให้ได้ผลที่สุด ต้องทำให้บรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทุกประเภทมีราคา ผ่านระบบมัดจำ จึงจะทำให้วัฒนธรรมใช้แล้วทิ้งค่อยๆ หมดไปได้
ข้อมูลอ้างอิง เพจเฟซบุ๊ก มือวิเศษ และ ReReef