xs
xsm
sm
md
lg

Box Journey ผู้ผลิตกล่องสำเร็จรูป ธุรกิจมาพร้อมการเติบโตฟูดเดลิเวอรี่ ช่วงโควิด (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายมนู มากมณี ผู้ก่อตั้ง

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ผู้ประกอบการที่ได้รับอานิสงส์ หนึ่งในนั้น คือ ผู้ผลิตกล่องใส่อาหาร สำหรับกิจการฟูดเดลิเวอรี่ และBox Journey ผู้ผลิตกล่องลูกฟูก และแพคเกจจิ้งสำหรับบรรจุอาหาร ได้มาบอกเล่าถึงความสำเร็จในการทำตลาดในช่วงโควิด-19 และยังเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการสตาร์ทอัปไทย ที่ได้รับเลือกจากทางอาลีบาบา ให้เข้าร่วมอบรมในหลักสูตร Netpreneur ซึ่งเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัปทั่วโลก 1,000 รายที่เข้าร่วมอบรมทางอาลีบาบา ที่สำนักงานใหญ่ในเมืองหังโจว ประเทศจีน



Box Journey โอกาสมาพร้อมวิกฤต

Box Journey เริ่มต้นธุรกิจ ในปี 2553 เนื่องจากเล็งเห็นว่ากล่องเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกธุรกิจ โดย นายมนู มากมณี” ผู้ก่อตั้งมีความตั้งใจให้ Box Journey เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสิ่งที่แตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของลูกค้า โดยเริ่มต้นจากธุรกิจเล็กๆในโรงรถส่วนตัวที่บ้าน จนค่อยขยายกิจการ มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น จากไอเดียการออกแบบกล่องที่โดนใจลูกค้า ทำให้ Box Journey ได้กลุ่มลูกค้าหลัก คือ โรงแรม ร้านอาหาร และร้านเบเกอรี่

การเติบโต Box Journey เหมือนกับกิจการ SME เริ่มจากกิจการเล็ก แต่เน้นขายงานคุณภาพ บวกกับการไม่หยุดนิ่งในการพัฒนารูปแบบ เพื่อที่จะเติบโตไปพร้อมกับลูกค้า และถ้าลูกค้าได้แพคเกจจิ้งที่ดี และสวยงามส่งผลต่อยอดขายที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบน มีรูปแบบแพคเกจจิ้งให้ลูกค้าได้เลือกมากถึง 5,000 แบบ ส่วนช่องทางการจัดจำหน่าย เดิมที่มีลูกค้าประจำ เป็นร้านอาหาร และโรงแรม ทำให้ช่องทางการขายหลักของเรา คือ หน้าร้านที่มี 3 สาขา


จนกระทั่ง เมื่อเกิดสถานการณ์โรคโควิด-19 กระทบธุรกิจ ของเราอย่างมาก เพราะลูกค้าหลักของเรา คือ โรงแรมและร้านอาหารในช่วงแรกอาจจะยังปรับตัวไม่ทัน ยอดขายกล่องของเราหายไปกว่า 50% แต่ในความโชคร้ายก็มีเรื่องดีเข้ามาถ้าเราไม่หยุดที่จะเดิน และหลายธุรกิจเช่นเดียวกัน ผมหยุดชะงักไม่ชั่วขณะเพื่อหันกลับมาตั้งหลัก เพียงไม่กี่วัน เพราะมีพนักงานที่ต้องดูแล กว่า 150 คน และพอดีเป็นจังหวะที่ผมได้มีโอกาสไปอบรมหลักสูตร Netpreneur กับทางอาลีบาบา ก็ได้นำกลับมาใช้ในช่วงนี้ พร้อมกับการเปิดช่องทางออนไลน์ เป็นครั้งแรกของ Box Journey ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ตลาดออนไลน์ บ้านเราก็บูม แต่ผมยังไม่คิดว่าจะเข้ามาในตลาดนี้ขณะนั้น เพราะยอดขายทางออฟไลน์ของเราก็ยังเติบโตและไปได้ดี

และจากวิกฤตกลับกลายเป็นโอกาส ทำให้ “คุณมนู” ได้เข้าสู่ช่องทางออนไลน์แบบเต็มตัว และการเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ครั้งนี้ ทำให้รายได้ที่หายไปกลับเข้ามา และกลับเข้ามามากกว่าเดิมภายในระยะเวลาเพียงเดือนเดียว พร้อมกับลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ โดยได้ความรู้จากโมเดลธุรกิจของอาลีบาบามาปรับใช้ในครั้งนี้ ประกอบกับความต้องการกล่องบรรจุอาหารในธุรกิจฟูดเดลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้น จากการที่ผู้ประกอบการด้านอาหารหันมาจับตลาดออนไลน์ และบวกกับคนที่ตกงานหันไปทำอาหารขายผ่านช่องทางออนไลน์ “คุณมนู” บอกว่า รู้สึกภูมิใจได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างอาชีพ และเพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับคนที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจในช่วงโควิด โดยที่ไม่จำเป็นต้องสั่งกล่องของเราจำนวนมาก เพียงแค่ 1 แพค ราคา 80 บาท เราก็จัดส่งให้ฟรี




เมื่อได้โอกาส ควรหยิบยื่นโอกาสคืนสังคม


นายมนู บอกว่า วันนี้ ลูกค้าเดิมทำโรงแรม ร้านอาหารที่หยุดไปช่วงเริ่มโควิด ตอนนี้กลับมาสู้อีกครั้ง และหันมาเพิ่มช่องทางขายทางออนไลน์ ซึ่งต้องสั่งกล่องของเราด้วยเช่นกัน วิกฤตครั้งนี้ กลายเป็นโอกาส ที่ทำให้กิจการของเรามีรายได้เพิ่มเข้ามาในหลายช่องทาง และเมื่อวิกฤตหยิบยื่นโอกาสให้ผม ผมก็อยากจะให้โอกาสกับคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เช่นกัน โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากพนักงานคนหนึ่งของบริษัทฯ เกิดประสบอุบัติเหตุในช่วงต้นปีที่ผ่านมาจนไม่สามารถกลับมาทำงานได้ตามเดิม ทางบริษัทฯ จึงช่วยเหลือให้พนักงานดังกล่าวที่อาศัยอยู่ที่ดอนเมืองผลิตสินค้าที่ต้องอาศัยการทำมือ เช่น ถุงกระดาษ จากที่บ้าน เพื่อไม่ให้พนักงานคนดังกล่าวต้องขาดรายได้


หลังจากนั้นได้เกิดโรคโควิด-19 ระบาดขึ้นในไทย ทำให้หลายคนต้องตกงาน จึงตกลงให้คนเหล่านั้นเข้ามาทำงานเพื่อช่วยจุนเจือรายได้ โดยออกทุนในการสร้างห้องผลิตสินค้าให้กับชุมชน รวมทั้งจัดหาวัตถุดิบและสอนการผลิตสินค้าให้ นอกจากที่ชุมชนดอนเมืองแล้ว บริษัทฯ ยังสนับสนุนชุมชนในอ่างทอง ซึ่งพนักงานของบริษัทมีญาติอยู่ที่นั่น และทราบมาว่ามีคนตกงานจำนวนมากจากโควิด-19 บริษัทฯ จึงให้ทุนในการสร้างห้องผลิต และจัดหาวัตถุดิบรวมทั้งฝึกอบรมการผลิตสินค้าให้ ปัจจุบันมีคนเข้าร่วมจากชุมชนอ่างทอง 30 คน

อีกแห่งหนึ่งที่ Box Journey เข้าไปสนับสนุนคือที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ “คุณมนู” เข้าไปสอนเรื่องการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการขายสินค้าออนไลน์ และพบคือคนเหล่านั้นว่างงานในช่วงนอกฤดูเพาะปลูก จึงเสนอให้ทางกลุ่มผลิตสินค้าทำมือให้กับบริษัทฯ เพื่อสร้างรายได้นอกฤดูเกษตรกรรม โดยมีผู้เข้าร่วม 6 คน ปัจจุบันมีคนจากชุมชนที่เข้าร่วมการผลิตสินค้าทำมือให้กับ Box Journey จากทั้ง 3 ชุมชนทั้งหมด 75 คน สามารถผลิตสินค้าได้สูงสุดถึง 25,000 ชิ้นต่อวัน คิดเป็นสัดส่วน 10% ของสินค้าทั้งหมดของบริษัทฯ




อบรมหลักสูตร Netpreneur ของอาลีบาบา


นายมนู เล่าว่า ได้เข้าอบรมหลักสูตร Netpreneur ที่ทางอาลีบาบา กรุ๊ป จัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ในเมืองหังโจว ประเทศจีน เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ให้ได้เรียนรู้ Know-how ในการสร้างธุรกิจจากโมเดลเศรษฐกิจดิจิทัลของอาลีบาบา ซึ่งมีผู้ประกอบการไทยได้รับคัดเลือกให้เข้าอบรมในครั้งนี้ 43 ราย จากสตาร์ทอัปที่เข้าอบรมจากทั่วโลก 1,000 ราย จากการเข้าอบรมดังกล่าวทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของ “แจ็ค หม่า” และอาลีบาบา ในการทำงานโดยไม่ได้มุ่งเติบโตคนเดียว แต่ต้องการสร้างให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) โดยรอบเติบโตไปพร้อมๆ กัน จึงจะเป็นการเติบโตที่ยั่งยืน เพราะหากธุรกิจร่ำรวย แต่สังคมรอบข้างยังขาดแคลน สุดท้ายธุรกิจก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว

จากสิ่งที่ได้เรียนรู้ดังกล่าว ทำให้ “คุณมนู” เปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่ จากเดิมที่มุ่งแข่งขันเพื่อเป็นที่หนึ่ง และสร้างการเติบโตทางธุรกิจ กลายเป็นการทำธุรกิจอย่างมีความสุข และแบ่งปันให้กับสังคมรอบข้าง

โดยมีตัวอย่างความสำเร็จของอาลีบาบา ในการช่วยเหลือชุมชน ในประเทศจีน ที่สามารถปรับมาใช้กับประเทศไทยได้อนาคต ได้แก่ โครงการหมู่บ้านเถาเป่า (Taobao Village) ที่อาลีบาบาได้เข้าไปสอนให้ชุมชนในพื้นที่ห่างไกลได้รู้จักการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเข้าถึงตลาดและผู้บริโภค รวมทั้งรู้จักการใช้โลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้าไปยังเมือง เพื่อสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนบทในจีน ซึ่งประเทศไทยมีชุมชน เหมือนกับเถาเป่า เป็นจำนวนมาก คือ คนหนุ่มสาว ทิ้งบ้านเกิดปล่อยให้คนแก่อยู่บ้าน เลี้ยงหลาน วันนี้ ที่หมู่บ้านเถาเป่า คนหนุ่มสาว ไม่ต้องทิ้งบ้านเกิดเข้าเมือง เพราะเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เขาสร้างอาชีพที่บ้านเกิดของตัวเองได้

จากตัวอย่างดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจให้ “คุณมนู” อยากที่จะช่วยให้ชุมชนในประเทศไทยได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพราะชุมชนในชนบทยังขาดความรู้เรื่องอีคอมเมิร์ซและขาดผู้นำในเรื่องนี้ จึงเป็นที่มาของการเข้าไปสอนชุมชนเกษตรกรในจังหวัดนครปฐมเกี่ยวกับการขายสินค้าผ่านร้านออนไลน์


เทคโนโลยีดิจิทัล กับการข้ามผ่านช่วงโควิด-19

"ก่อนเข้าอบรมหลักสูตร Netpreneur ผมเคยมองว่าช่องทางอีคอมเมิร์ซว่าเป็นคู่แข่งที่เข้ามาแย่งลูกค้าในตลาด แต่หลังจากเข้าร่วมอบรม ทำให้เข้าใจว่าจริงๆ แล้วอีคอมเมิร์ซเป็นช่องทางและโอกาสในการเข้าถึงผู้ซื้อได้มากขึ้น และจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามา ช่วยให้บริษัทฯ ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากเมื่อเกิดโควิด-19 ระบาด และBox Journey ได้ปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ ปรับเปลี่ยนการผลิตและโปรโมทสินค้า หันมามองว่าตลาดในช่วงเวลานั้นต้องการอะไร และวิกฤตเป็นโอกาส เพราะกล่องและแพคเกจจิ้งสำหรับฟู้ดเดลิเวอรี่มีความต้องการอย่างมาก ช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็วจึงถึงขณะนี้"




“สิ่งที่ผมอยากจะฝากทิ้งท้าย ในครั้งนี้ คือ ผมอยากให้ธุรกิจต่างๆ สนใจการเรื่องการช่วยเหลือชุมชนมากขึ้น โดยไม่อยากให้มองว่าการทำซีเอสอาร์เป็นเพียงการสร้างภาพลักษณ์ให้บริษัท แต่จริงๆ แล้วซีเอสอาร์เป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างสังคมที่ดี เพราะสังคมที่ดีเป็นรากฐานของทุกอย่างรวมถึงธุรกิจด้วย ถ้าเราทอดทิ้งสังคม เราก็จะไม่สามารถเติบโตและอยู่ได้ในระยะยาว” มนู กล่าวในที่สุด

โทร. 085-480-0914






** * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ"รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุดและร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

SMEs manager


กำลังโหลดความคิดเห็น