ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในการปลูกฝังแนวคิดแนวปฏิบัติตามอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ ให้แก่เด็กและเยาวชนไทย จึงมีพระราชดำริ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2534
โดย ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดการเรียนรู้วิชาการสหกรณ์ และดำเนินกิจกรรมสหกรณ์ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ภายใต้โครงการตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับโอกาสในการเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตนเอง พัฒนาคุณภาพชีวิต โดยการมีส่วนร่วมของครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน จากนั้นจึงขยายผลไปยังโรงเรียนในสังกัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ต่อมากรมส่งเสริมสหกรณ์ได้กำหนดให้วันที่ 7 มิถุนายน เป็น “วันสหกรณ์นักเรียน” มีการจัดกิจกรรมเป็นประจำทุกปี พร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องสหกรณ์นักเรียนระหว่างโรงเรียนต่าง ๆ อีกทางหนึ่ง
ปัจจุบันกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ร่วมบูรณาการขับเคลื่อนกับหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้เกิดการขยายผลไปในโรงเรียนในพระราชดำริ โรงเรียนสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียนพระปริยัติธรรม และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ครอบคลุมโรงเรียนทั่วประเทศ จำนวน 30,804 โรงเรียน
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า การปลูกฝังแนวคิดแนวปฏิบัติตามอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ ให้แก่เด็กและเยาวชน ทั้งการเรียนรู้ในห้องเรียนและฝึกปฏิบัติกิจกรรมสหกรณ์นักเรียน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการผลิต การเกษตร กิจกรรมร้านค้าสหกรณ์ หรือกิจกรรมการออม ทำให้เกิดผลดีต่อหลาย ๆ ภาคส่วน เช่น ผลดีต่อผู้เรียน ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้เชื่อมโยงในหลายทักษะ เด็กเรียนรู้การบริหารสหกรณ์จริง ๆ การฝึกการทำงานร่วมกัน ร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหา การเคารพเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการฝึกฝนนิสัยของความเป็นประชาธิปไตย สามารถเป็นสมาชิกที่ดี หรือคณะกรรมการบริหารสหกรณ์ในภายหน้า ผลต่อสถานศึกษา เกิดการพัฒนาและยกระดับการเรียนการสอนการสหกรณ์ในโรงเรียน เป็นเครื่องมือในการบูรณาการความรู้แขนงต่าง ๆ ให้นักเรียนได้เรียนรู้ในหลายมิติ ผลต่อชุมชน เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น การแบ่งปันความรู้ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เกิดการทำงานร่วมกัน เกิดการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่นักเรียน เป็นการสร้างความสามัคคี ส่งผลให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ผลต่อผู้ปกครอง ผู้ปกครองมีส่วนร่วมสนับสนุนกิจกรรมสหกรณ์นักเรียน นำความรู้เรื่องการสหกรณ์ที่ใช้ในชีวิตจริงถ่ายทอดสู่เด็กนักเรียนเพื่อเป็นรากฐานการเรียนรู้ และนักเรียนสามารถนำความรู้ทักษะที่ได้จากกิจกรรมสหกรณ์นักเรียนไปช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองได้อีกทางหนึ่ง
นางกมลลดา ผลแย้ม ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านเขาส่องกล้อง ตำบลเขาเพิ่ม อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ในฐานะครูที่ปรึกษากิจกรรมสหกรณ์นักเรียน ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ผลที่ได้จากการร่วมกิจกรรมสหกรณ์โรงเรียน เด็กนักเรียนจะมีความกล้าแสดงออก สามารถเข้าสังคมและร่วมกิจกรรมกับคนอื่น ๆ ได้ดี มีความรับผิดชอบตัวเองสูง มีการวางแผนและเห็นความสำคัญของการออม ทำให้นักเรียนรู้จักการวางแผนชีวิต ซึ่งจะเป็นนิสัยที่จะติดตัวไปเมื่อเขาเติบโตขึ้น หลายกิจกรรมที่ร่วมกันทำ นอกจากจะสร้างการเรียนรู้แล้ว ยังก่อให้เกิดรายได้แก่ตัวนักเรียนด้วย เช่น กิจกรรมจากโครงการ 1 ห้องเรียน 1 อาชีพ ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนรวมกลุ่มแล้วร่วมกันคิดด้วยตัวเองถึงแนวทางการหารายได้จากกิจกรรมอาชีพต่าง ๆ เช่น การทำเต้าหู้นมสด การทำน้ำสมุนไพร การทำไข่เค็ม กิจกรรมเหล่านี้ผ่านการคิด วิเคราะห์ร่วมกัน ทั้งในเรื่องการแบ่งหน้าที่กันทำงาน การลงทุน การผลิต การขาย การตลาด และกำไร เป็นการสร้างระบบความคิดให้เด็กนักเรียน บางกิจกรรมสามารถเชื่อมโยงและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับครอบครัวได้ เช่น กรณีของการออม ซึ่งเป็นเงินออมที่เกิดขึ้นจากการเห็นความสำคัญและความสมัครใจของนักเรียนเอง แต่เมื่อเกิดความจำเป็นในครอบครัว เด็กจะนำเงินฝากของตัวเองไปให้ครอบครัวใช้จ่าย แนวคิดเหล่านี้เกิดจากการเรียนรู้วิชาการสหกรณ์ และนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและครอบครัว โดยมีการวางแผนล่วงหน้า
กิจกรรมสหกรณ์นักเรียน จึงนับเป็นกระบวนการสร้างคนให้รู้จักคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาด้วยตัวเอง มีทักษะในการทำงานร่วมกัน และมีคุณธรรม รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น เมื่อเติบโตขึ้นเด็ก ๆ เหล่านี้ก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีความคิด วางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบระเบียบ สามารถดูแลสังคมได้ ด้วยการนำกลไก “สหกรณ์” มาเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ และขบวนการสหกรณ์ที่เข้มแข็งจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป