ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จ.เพชรบุรี น้อมนำแนวพระราชดำริ พัฒนานวัตกรรมเพื่อการผลิตพืชอาหาร รองรับเกษตรกรรุ่นใหม่หลังโควิด-19 เสริมทัพวางระบบการตลาดรองรับผลผลิตของเกษตรกรแบบพึ่งพาตนเอง มีผลผลิตต่อเนื่อง ภายใต้แนวทาง สินค้าคุณภาพดี ถูกของผู้ซื้อ แพงของผู้ขาย สะดวกสบายเข้าถึงง่าย
พ.ต.อ.พันธ์ศักดิ์ สมันตรัฐ ผอ.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันทางศูนย์ฯ ได้จัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ซึ่งเป็นแปลงตัวอย่างในพื้นที่ 5 ไร่ สำหรับ 1 ครัวเรือน มีพ่อแม่และลูก 2 คน ที่สามารถดำรงชีพได้อย่างยั่งยืนด้วยการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ การเลี้ยงปลานิลในบ่อดิน การปลูกพืชผักสวนครัว การปลูกไม้ผล และทำนาข้าว โดยเน้นการบริหารจัดการในแปลงให้มีความยั่งยืน คือมีผลผลิตต่อเนื่องแบบรายวัน ราย 15 วัน รายเดือน และรายปี เพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งปีพร้อมกับการจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นในชีวิตประจำวันลง และลดการขยายผลการดำเนินงานแบบเกินตัว ทำให้มีเงินออมที่มากขึ้น ซึ่งสามารถเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเองได้
นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ ได้ส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรในเรื่องของการวางแผนการผลิตสินค้าที่ตลาดต้องการ ซึ่งปัจจัยของอาชีพเกษตรกรมี 3 เรื่อง คือ เรื่องของการผลิต วิธีการผลิต และการขายหรือการตลาด ซึ่งปัจจัยด้านการตลาดเป็นปัญหาใหญ่ของอาชีพเกษตรกร ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ได้เตรียมสถานที่จำหน่ายสินค้าที่เหมาะสม โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ในการจัดเตรียมสถานที่ในการจำหน่ายสินค้าให้แก่กลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพ กลุ่มหัตถกรรม ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดจำหน่ายได้ในช่วงปีใหม่หรือในช่วงสงกรานต์ ปี 2564 ภายใต้แนวทาง “สินค้าคุณภาพดี ถูกของผู้ซื้อ แพงของผู้ขาย สะดวกสบายเข้าถึงง่าย”
ผอ.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นั้น ทางศูนย์ฯ ได้ให้การช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่เพื่อให้ยืนอยู่ได้ในสถานการณ์ที่ทุกคนต้องอยู่บ้าน ภายใต้แผน 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นการให้การช่วยเหลือเฉพาะหน้าด้วยการสนับสนุนปุ๋ยหมัก รถน้ำอันเนื่องมาจากภัยแล้งของพื้นที่ และเมล็ดพันธุ์พืชจำนวน 14 ชนิดพืช อาทิ ถั่วฝักยาวพันธุ์ลายเสือ ถั่วฝักยาวพันธุ์พระราชทานม่วง ข้าวโพดตักหงาย มะเขือเทศสีดาห้วยทราย พริกพระราชทาน บวบเหลี่ยม เป็นต้น ให้แก่เกษตรกรและประชาชนโดยทั่วไปนำไปเพาะปลูกเพื่อเป็นอาหารในครัวเรือน ส่วนระยะที่ 2 เปิดการฝึกอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่สนใจในเรื่องการบริหารจัดการแปลงเพื่อให้ได้รับผลผลิตอย่างต่อเนื่องตรงตามความต้องการของตลาดและส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรขึ้น เพื่อร่วมวางแผนการผลิตเพื่อให้ผลผลิตและชนิดพืชที่ออกมาไม่ซ้ำซ้อนกันเพื่อลดการกระจุกตัวของผลผลิต และให้ผลผลิตมีความหลากหลาย ไม่ถูกพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ
ที่สำคัญมีการขยายผลการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเพาะปลูกเพื่อลดต้นทุนในการทำการผลิต สืบเนื่องมาจากการทำการเกษตรในปัจจุบันมีจำนวนน้อยลง อันเป็นผลมาจากความยากลำบากเหน็ดเหนื่อย และเมื่อทำแล้ว มีรายได้ไม่เพียงพอ ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ทำการศึกษาเรื่องเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง พบว่ามีปัญหาที่จะต้องแก้ไขเพื่อให้การทำการเกษตรสามารถมีรายได้ด้วยการลดต้นทุนการผลิต และการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำที่ใช้บำรุงต้นพืช ขณะเดียวกันคาดว่าหลังจากการระบาดของโควิด-19 ผ่านไปแล้ว น่าจะเกิดเกษตรกรรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้สามารถนำความรู้ความสามารถที่เคยมีจากการทำงานเดิม ๆ ในอาชีพเดิมมาประยุกต์ใช้ในงานด้านการผลิตภาคการเกษตรได้เป็นอย่างดี
“นวัตกรรมที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานภาคการเกษตรได้นั้นเกษตรทำเองได้ไม่ยาก รวม 10 นวัตกรรมด้วยกัน เช่น การให้น้ำพืชด้วยระบบอัตโนมัติโดยการใช้นาฬิกาตั้งเวลา เครื่องวัดอุณหภูมิในดิน และแอปพลิเคชันเพื่อเปิดและปิดในการให้น้ำพืชที่ใช้ได้ทั้งในพื้นที่ที่มีไฟฟ้าและพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังมีระบบเปิดเล้าไก่อัตโนมัติ การเปลี่ยนปั๊มน้ำธรรมดาให้เป็นปั๊มน้ำอัตโนมัติ โดยนวัตกรรมเหล่านี้จะใช้อุปกรณ์ในการผลิตที่สามารถหาซื้อได้ในท้องตลาดทั่วไป และมีราคาถูกมากโดยขณะนี้ทางศูนย์ฯ ได้จัดทำเป็นเอกสารเรียบเรียงวิธีการในการผลิตและการนำไปใช้ ผู้ใดสนใจสามารถติดต่อขอได้ที่ศูนย์ฯ หรือสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 032-593-253 “
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ยึดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปฏิบัติใช้เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการจัดการทรัพยากรดินและป่าไม้รวมถึงเป็นสถานที่ถ่ายทอดวิชาการและเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่เหมาะสมตามภูมิสังคมให้แก่ประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีอาชีพ มีรายได้มีความสุขอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง