xs
xsm
sm
md
lg

หนุนปั้น อสม.การศึกษา หนุนทำงานลด นร.ห่างไกลหลุดจากระบบ ครอบคลุม 45 จังหวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสศ.แนะสร้าง อสม.การศึกษา หนุนทำงานลดเสี่ยง นร.ห่างไกลหลุดจากระบบ จากการเรียนผ่านระบบทางไกลช่วงโควิด เผยเป็นประโยชน์ต่อ ร.ร.ทุรกันดาร 279 โรงเรียน ครอบคลุม 45 จังหวัด เด็กได้รับประโยชน์กว่า 80,000 คน ช่วยเหลือนักเรียนถึงระดับหมู่บ้าน กลุ่มบ้าน (Village based) และให้คำแนะนำด้านการเรียนรู้และสุขภาวะ เข้าถึงพื้นที่เชื่อมชุมชนแก้ปัญหาการเรียนรู้

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้มีนักเรียนจำนวนมากประสบปัญหาการเรียนรู้ผ่านระบบทางไกล และบางรายผู้ปกครองไม่สามารถช่วยเหลือแนะนำการเรียนได้เท่าที่ควรจะเป็น ปัญหาที่เกิดขึ้น หากมีกลไกลงไปในพื้นที่จะช่วยให้การเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นได้ต่อเนื่อง ลดความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ อาสาสมัครการศึกษา (อสม.การศึกษา) จะสนับสนุนการทำงานในระดับพื้นที่ช่วยเหลือนักเรียนได้ถึงระดับหมู่บ้าน กลุ่มบ้าน (Village based) นอกจากจะให้คำแนะนำด้านการเรียนรู้แล้ว ยังจะช่วยให้คำแนะนำด้านสุขภาวะให้แก่นักเรียนและชุมชน ทำให้เกิดการช่วยเหลือและสนับสนุนได้อย่างรวดเร็ว ทาง กสศ. จะเริ่มทำงานกับโรงเรียนเครือข่ายที่มีการดำเนินงานร่วมกันอยู่แล้วเพื่อเป็นต้นแบบในระยะแรก โดยสามารถสนับสนุนให้เริ่มดำเนินงานได้ทันที

“จะมีโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล 279 แห่ง ได้รับประโยชน์จากการมี อสม.การศึกษา จำนวนไม่น้อยกว่า 500 คน ครอบคลุมพื้นที่ 45 จังหวัดกระจายทุกภูมิภาค ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารตั้งอยู่บนเขาสูง เกาะต่างๆ ซึ่งจะมีเด็กนักเรียนได้รับประโยชน์ครั้งนี้กว่า 80,000 คน โดย กสศ. ได้จัดสรรเงินอุดหนุนรายละ 150 บาท ให้กับนักเรียนจำนวนดังกล่าวเพื่อเป็นค่าอุปกรณ์การเรียนและสุขอนามัยที่จำเป็นเฉพาะหน้าให้อีกด้วย” ดร.อุดม กล่าว


ดร.อุดม กล่าวว่า สำหรับ อสม.การศึกษานั้น กสศ. และโรงเรียนเครือข่ายจะเชิญชวนผู้ที่มีจิตสาธารณะในพื้นที่ อาทิ บัณฑิตรองาน ข้าราชการครูเกษียณ ครูอัตราจ้าง และรุ่นพี่ในชุมชน เป็นต้น โดยจะสนับสนุนค่าเดินทาง ค่าอาหาร และค่าตอบแทนให้ตามความเหมาะสม เพื่อให้ อสม.การศึกษา สามารถทำหน้าที่ประสานงานไปยังเครือข่ายร่วมดำเนินงานในพื้นที่ ซึ่งเป็นกลไกระดับจังหวัดและระดับภาค ทั้ง 4 เครือข่าย/ภูมิภาค ได้แก่ เครือข่ายผู้บริหารโรงเรียนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนในพื้นที่เกาะแก่ง โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครือข่ายคุรุทายาท เพื่อช่วยประสานงานและทำความเข้าใจร่วมกับโรงเรียนเครือข่ายเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานในรายละเอียด รวมถึงการจัดให้มีอุปกรณ์การเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับเรียนรู้กับ DLTV แก่นักเรียนทุกคนให้พร้อมด้วย อย่างไรก็ตาม การจัดให้มี อสม.การศึกษา นอกจากจะทำหน้าที่ช่วยเหลือเด็กในชุมชนแล้ว ยังจะช่วยสำรวจเด็กที่ความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา แนะนำการจัดการเรียนรู้และสุขอนามัยให้แก่นักเรียนและชุมชนในพื้นที่ได้ตามบริบท ในระยะเวลาประมาณ 5 สัปดาห์

ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี จ.เชียงราย กล่าวว่า แนวคิดเรื่อง อสม.การศึกษา จะเข้าไปช่วยหนุนเสริมการเรียนของเด็กในชุมชน ซึ่งจะมีบทบาทหลายอย่าง เช่น ช่วยปรับจูนสัญญาณโทรทัศน์เพื่อให้เด็กที่มีปัญหาสามารถเรื่องอุปกรณ์เรียนทางไกลได้ หรือเป็นตัวเชื่อมทางด้านภาษา เพราะบางพื้นที่เป็นชนเผ่าใช้อีกภาษาที่ครูไม่ถนัด อาสาสมัครที่เป็นคนในพื้นที่ก็สามารถช่วยสื่อสารเจตนารมณ์ของโรงเรียนหรือช่วยสอนหนังสือน้องๆ ได้ในกรณีที่ครูเข้าถึงพื้นที่ได้ไม่ทั่วถึง

“ไม่ได้หมายความว่า ครูไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ ครูหลายโรงเรียนก็ทำตรงนี้แต่ด้วยความทั่วถึงและภาระงานที่ทำต้องทำเอกสารเตรียมงาน การมี อสม.การศึกษา ก็จะช่วยได้ โดยจากที่ลงไปดูในพื้นที่ พบว่า นอกจากปัญหาการเรียนรู้ เด็กบางคนยังเข้าช่องทีวีไม่ถูก ปรับจูนทีวีไม่เป็นก็อาจต้องให้อาสากลุ่มนี้เข้าไปช่วยเหลือ หรือเด็กบางกลุ่มดูทีวีแล้วไม่มีใครให้คำปรึกษา ไม่รู้จะทำใคร อสม.การศึกษา ก็จะช่วยแนะนำชี้ช่องทางการเรียนรู้เพิ่มเติม และสิ่งสำคัญ การมี อสม.การศึกษา สามารถช่วยเหลือและสนับสนุนการเรียนรู้แก่นักเรียนได้” ดร.ศุภโชค กล่าว


ดร.ศุภโชค กล่าวว่า ปกติครูประจำชั้นบางคนจะต้องดูแลเด็กหลายหมู่บ้าน หากมี อสม.การศึกษา ก็อาจไปประจำไปที่หมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งเฉพาะให้เน้นแก้ปัญหาในหมู่บ้านนั้นได้ หรือหากโรงเรียนไหนมีประสิทธิภาพจะให้ครูมาประจำก็ได้ แต่บางโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ครูบางท่านไม่สะดวก อายุมาก หรือ การเดินทางยากลำบาก มีปัญหาการเข้าถึงพื้นที่เช่นบางหมู่บ้านล็อกดาวน์ไม่ให้คนข้างนอกเข้า การมี อสม.การศึกษา ก็อาจทำงานได้ดีกว่าครูที่อยู่นอกพื้นที่

สำหรับการคัดเลือกคนที่จะมาทำหน้าที่ อสม.การศึกษา เบื้องต้นจะต้องเป็นคนที่มีจิตอาสาในการช่วยเหลือ ซึ่งเราอาจมีค่าน้ำมัน ค่าเดินทางเล็กๆ น้อยๆ แต่เขาก็ต้องมีจิตใจพร้อมสนับสนุนช่วยเหลือชุมชนตัวเอง ซึ่งอาจเป็นรุ่นพี่ที่จบ ม.6 ไปแล้ว ศิษย์เก่า บัณฑิตตกงาน ที่เวลานี้ภาวะการจ้างงานลดลง คนกลุ่มนี้จะสามารถเข้ามาช่วยทำงานให้เราได้ บางครั้ง อสม.การศึกษา ก็จะต้องทำหน้าที่นัดหมายการลงพื้นที่ของครูว่าจะเข้ามาช่วงไหน ใช้พื้นที่ไหนในการสอน ไปจนถึงประสานว่าจะให้สอนเรื่องไหนที่ชุมชนต้องการ โดยโรงเรียนจะต้องประสานกับ อสม.การศึกษา มีช่องทางการติดต่อประสานงานเวลาเกิดปัญหา




กำลังโหลดความคิดเห็น