นักการศึกษาแนะปรับตัวช่วง COVID-19 ต้องเริ่มจากเป้าหมายการเรียนรู้ เพื่อเปิดให้เกิดรูปแบบต่างๆ ไม่ใช่แค่ยืนสอนหน้าชั้นเรียน แนะภาคนโยบายปลดล็อกให้โรงเรียนเกิดความยืดหยุ่นสอดรับกับพื้นที่
วันนี้ (24 พ.ค.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The 101 จัด public forum ผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ “ปรับโรงเรียน-เปลี่ยนครู-ปฏิรูปการเรียนรู้" โดย นายเดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาการศึกษาของไทยปัญหาแรก คือ 1. เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเดิมไม่ค่อยรู้กัน จนเกิดการระบาดของ COVID-19 ทำให้เห็นชัดขึ้น เช่น การเข้าถึงเทคโนโลยี อุปกรณ์ออนไลน์ ไปจนถึงอนาคตที่ปัญหาเศรษฐกิจ อาจทำให้หลายคนต้องหลุดจากระบบการศึกษา 2. ขาดปฏิสัมพันธ์ผู้เรียนผู้สอน และ 3. การออกแบบการเรียนให้เหมาะสมกับผู้เรียน ซึ่งยังไม่เป็นเช่นนั้น
“การเรียนออนไลน์ที่ถูกพูดถึง ยังคิดกันแต่ว่าเป็นการยืนพูดหน้าชั้นเหมือนในห้องเรียนปกติ ทั้งที่ยังมีรูปแบบอื่น ทั้งให้ดูสารคดี ชีวิตสัตว์ หรือแบบอื่น อย่างเกมออนไลน์ โพลออนไลน์ ซึ่งในชีวิตจริงเด็กสามารถดูโทรทัศน์ได้เป็นชั่วโมง เราจะทำอย่างไรให้เด็กสนใจและดูแบบเรียนที่ไม่ใช่แค่การสอนแบบหน้าห้อง แต่ควรมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูนักเรียนร่วมด้วย และการเรียนออนไลน์ไม่ใช่จะมาแทนออฟไลน์ แต่จะเป็นการสอนที่ไปด้วยกัน การเรียนรู้เป็นเรื่องของทุกคน เรียนได้ทุกที่ ทุกโอกาส” นายเดชรัต กล่าว
นายภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูสังคมศาสตร์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ กล่าวว่า โรงเรียนเป็นโรงเรียนประจำสอนเฉพาะ ม.ปลาย รวมนักเรียน เจ้าหน้าที่ ประมาณ 300 คน แผนที่คิดไว้ คือ การลดจำนวนคนที่จะมาเรียนให้น้อยที่สุด เพื่อจำกัดและลดความเสี่ยงการติดเชื้อ และพยายามทำให้การเรียนไปอยู่ในออนไลน์ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่สัปดาห์หน้า โจทย์ที่ยากของโรงเรียน คือ เราจะทำได้ตามแผนแค่ไหน ซึ่งเรามีหลายแผนที่วางไว้ เพื่อรองรับโอกาสที่จะเกิดสิ่งต่างๆ
นายภาคิน กล่าวว่า ระยะสั้นเวลาพูดว่า โลกหลัง COVID-19 เราต้องรู้ก่อนว่าคือเมื่อไร และหากเป็นอีก 2 ปีข้างหน้า ระหว่างนี้จะจัดการเรียนการสอนอย่างไร มีแผนแบบไหนบ้าง เราไม่สามารถบอกได้ว่าโมเดลไหนดีที่สุด ไม่มีใครรู้จักนักเรียนได้ดีที่สุดเท่ากับอาจารย์ผู้สอน แต่ก็ต้องคุยกับนักเรียนและผู้ปกครองซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งการจัดทำรูปแบบการสอนออนไลน์ ไม่เคยมีใครลองของใหม่ขนาดนี้ถ้าพูดว่าทำไม่ได้ก็จบเท่านั้นแต่ถ้าบอกว่าทำได้ก็จะมีโอกาสที่รออยู่ ซึ่งในภาพใหญ่ไม่ใช่แค่ครูที่จะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้แต่ต้องมองไปถึงผู้กำหนดนโยบายที่ต้องมีความยืดหยุ่น ไปจนถึงมหาวิทยาลัยที่สอนครูที่จะต้องปรับตัวก่อนคนอื่น
นายศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี จ.เชียงราย กล่าวว่า ความพร้อมของโรงเรียนประสบปัญหาหลายแห่ง เด็กออนไลน์ได้แค่บางส่วน ออนแอร์ได้บางส่วน บางส่วนต้องออฟไลน์ สิ่งที่โรงเรียนเผชิญสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ การต้องพูดคุยเพื่อให้เกิดการเรียนรู้เกิดประสิทธิภาพที่ดีที่สุด ทำอย่างไรให้ขับเคลื่อนนโยบายกับปฏิบัติจริงให้ได้การเรียนรู้ดีที่สุด ซึ่งมีทั้ง กลุ่ม ม.ปลาย ที่ส่วนใหญ่เรียนออนไลน์ได้ อีกกลุ่มเข้าไม่ถึงออนไลน์ก็ต้องเกาะกับเนื้อหา DLTV อีกด้านยังมีช่องทางการเรียนรู้ที่เรียนจากชุมชน เรียนจากปราชญ์ชาวบ้าน ให้เขาไปหาความรู้ด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ การเรียนรู้โดยให้เด็กดูทีวีโดยไม่สามารถซักถามหรือมีใครอธิบาย ตรงนี้ก็จะลำบากเพราะในพื้นที่บางบ้านมีข้อจำกัด ผู้ปกครองไม่มีเวลา ไม่มีความสามารถในการสอน ซึ่งตรงนี้เป็นโอกาสทองในการคิดค้นนวัตกรรม มีโอกาสสอนน้อย เจอเด็กสั้นๆ จะเลือกเนื้อหาวิธีไหน ในการสอนให้เกิดประสิทธิภาพ ถ้ามีการปลดล็อก ผ่อนคลายเราก็จะได้เห็น ครูได้ปล่อยของมีอิสระรูปแบบการเรียนการสอนได้มากขึ้น
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครูและสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า การทำงานของ กสศ. ที่ผ่านมา มุ่งเน้นสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ หรือนำร่อง ซึ่งเมื่อเกิดโรคระบาดเราพูดคุยให้มีการปรับการทำงาน เช่น โครงการTSQP 290 โรงเรียนต้องปรับอะไรบ้าง ยังมีโครงการการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ที่ต้องให้ความช่วยเหลือมากกว่าปกติจึงต้องมาคิดว่าจะพัฒนาอย่างไร ทั้งนี้ จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศบรูไน เขามีระบบโฮมเลิร์นนิงแพกเกจให้ผู้ปกครองกับเด็กร่วมกันทำงานที่บ้าน รวมทั้งมีการเตรียมพร้อมจัดสภาพแวดล้อมเพื่อรองรับการเปิดเทอม ทั้งการจัดที่นั่งนักเรียน การก้าวเข้าโรงเรียน แบ่งครูออกเป็นสองกลุ่มทำงาน 2 สัปดาห์ที่โรงเรียน และหยุดสองสัปดาห์เพื่อไปลงพื้นออนไซท์ ช่วยเหลือให้คำปรึกษาเด็กในพื้นที่ ซึ่งสุดท้าย กสศ.ก็ต้องมาวิเคราะห์ย้อนกลับไปสู่เบื้องต้นคือไม่ต้องวิ่งตามเทคโนโลยีแต่ต้องเน้นไปที่การเรียนรู้
น.ส.เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท Lukkid และ ผู้แปลหนังสือ “designing your life” กล่าวว่า เราต้องปรับตัว บางครั้งการใช้เทคโนโลยีก็ไม่ได้สำคัญไปทุกสถานการณ์ บางทีระบบแมนนวล ก็อาจตอบโจทย์ได้ดีกว่า เราไม่ได้มีสูตรเดียวที่ตอบโจทย์ทุกในสถานการณ์ โอกาสที่เราได้ลองจึงเป็นเรื่องสำคัญ และเราควรมีการสร้างคอมมูนิตี้เพื่อให้ครูได้คุยกันว่าเจอปัญหาอะไรแก้ไขอย่างไร ให้แต่ละคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน