สธ.เผย 6 มาตรการเตรียมพร้อม “โรงเรียน” ก่อนเปิดเทอม ต้องดีไซน์จุดคัดกรอง-ล้างมือก่อนเข้าโรงเรียน จัดเรียนเว้นระยะห่าง เด็กเล็กอาจแบ่งกลุ่มย่อย ช่วยติดตามได้ง่าย ชี้ข้อเสนอเปิดเทอม มิ.ย.แล้วแต่ ศบค.พิจารณา ส่วนเปิดเทอม 1 ก.ค. พื้นที่เสี่ยงต่ำอาจเปิดได้ทุกชั้น ทุกโรง ส่วนเสี่ยงสูงอาจต้องแบ่งชั้นเหลื่อมเวลามาเรียน หรือเรียนออนไลน์ตามแนวทาง ศธ.
วันนี้ (21 พ.ค.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเปิดเทอมว่า การเปิดเรียน คือ วันที่ 1 ก.ค. 2563 แต่การเปิดโรงเรียนในสถานการณ์โรคโควิด-19 ต้องมีการเตรียมการอย่างรอบคอบ โดยคำนึง 3 ประเด็น คือ 1. เด็กติดเชื้อมากขนาดไหน ซึ่งไทยไม่ต่างจากประเทศอื่น เด็กไทยอายุ 10-19 ปี ติดเชื้อ 3.81% เป็นการติดเชื้อจากผู้ปกครองหรือคนในบ้าน 2. เด็กติดเชื้ออันตรายเพียงใด พบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย แต่จะใกล้เคียงโรคที่เจอในเด็กอยู่แล้ว เช่น ไข้หวัด เป็นต้น และ 3. เด็กแพร่เชื้อมากเพียงใด ซึ่งเด็กมักไม่มีอาการ มีการใกล้ชิดเพื่อนในโรงเรียน การเปิดโรงเรียนจึงมีความเสี่ยงในแง่จำนวนเด็ก โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ เป็นการรวมเด็กหลายครอบครัวมาอยู่ในโรงเรียนเป็นเวลา 1 วัน ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีจำนวนมาก ต่างจากไปห้างที่มาแค่ 1-2 ชั่วโมงและสลับกันไปมา
พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า ตามปกติโรงเรียนจะมีการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเทอม แต่ปีนี้ สธ.และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทำงานร่วมกันในการเตรียมเปิดเทอม โดยทำมาตรการและคู่มือเตรียมความพร้อม จากนั้นจะชี้แจงทำความเข้าใจและฝึกอบรมครูก่อนเปิดเทอม โดยเฉพาะเรื่องการรอบรู้สุขอนามัย มาตรการต่างๆ เพราะครูเป็นคนช่วยดูแลควบคุม กำกับ มาตรการสาธารณสุขให้ดำเนินการต่อไปได้ ขณะที่โรงเรียนอาจประเมินตนเองใน Thai Stop COVID สำหรับการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเทอมของสถานศึกษา ประกอบด้วย
1. มีมาตรการคัดกรองวัดไข้และอาการเสี่ยงก่อนเข้าสถานศึกษา โดยออกแบบจุดคัดกรองให้เหมาะสม เพราะโรงเรียนมีขนาดไม่เท่ากัน และต้องฝากพ่อแม่ว่าถ้ามีประวัติความเสี่ยงอะไรต้องแจ้งครูให้ทราบ 2. สวมหน้ากากตลอดเวลาในทุกช่วงชั้นขณะอยู่ในโรงเรียน อาจจะต้องแนะนำเด็กด้วย อยู่ในห้องเรียนต้องไม่ถอดหน้ากาก 3. จุดทำความสะอาดล้างมือ ตั้งแต่ทางเข้าโรงเรียน ต้องทำเส้นทางให้ไปจุดล้างมือก่อนไปเข้าชั้นเรียน
4. ออกแบบระยะห่างในชั้นเรียน แต่เด็กอาจเว้นระยะห่างได้ยาก ก็อยากให้จัดกล่มเด็กเป็นกลุ่มย่อยๆ และให้เป็นกลุ่มเดียวกันไปตลอดทั้งวัน เมื่อพบความผิดปกติก็จะติดตามได้รวดเร็ว 5. การทำความสะอาด เน้นพื้นผิวสัมผัสต่างๆ ตั้งแต่ก่อนเปิดเทอมทุกวัน อย่างสนามเด็กเล่นก็อาจหมุนเวียนเด็กกลุ่มเล็กๆ ออกมาเล่น แล้วทำความสะอาดระหว่างกลุ่มผัดเปลี่ยนกิจกรรม และล้างมือก่อนเล่นหลังเล่น ก็จะลดการแพร่ระบาดโรค และ 6. เรื่องความแออัด หลายกิจกรรมที่คงจัดไม่ได้ เช่น กีฬาสี ที่เป็นความเสี่ยงในการรวมกลุ่มใกล้ชิด อาจต้องงดไปก่อน
“ย้ำว่าถ้าลูกเป็นไข้ ไอ จาม ควรให้หยุดเรียน และไปหาหมอว่าอาการเกิดจากอะไร และควรสื่อสารกับทางโรงเรียน ครูก็เช่นกัน หากสังเกตเห็นเด็กไม่สบายก็อาจต้องแยกออกมาก่อน และส่งปรึกษาร่วมทีมแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้มั่นใจว่าอาการเกิดจากอะไร นอกจากนี้ เรามีงานอนามัยโรงเรียนที่ทำงานร่วมกันให้คำแนะนำและลงไปดูว่า มีความเสี่ยงหรือไม่ เพื่อความมั่นใจในการดูแลเด็กช่วงเปิดเทอม” พญ.พรรณพิมลกล่าว
เมื่อถามถึงการเปิดห้างแต่ไม่เปิดโรงเรียน พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า เป็นการรวมกลุ่มในวัยเด็ก บางชั้นทให้เด็กระวังไม่เข้าใกล้กันเลยเป็นได้ยาก และการรวมกลุ่มกันค่อนข้างยาว 1 วัน เกิน 5-6 ชั่วโมง ทำให้ต้องระมัดระวังอย่างมาก และเด็กกลับไปที่บ้าน อาจมีสมาชิกอีกเป็นร้อยเป็นพันครอบครัว แต่ทุกหน่วยงานเตรียมการเพื่อทำให้โรงเรียนทำหน้าที่ดูแลการเรียนรู้ได้
ถามถึงการกักตัวที่บ้านก่อนเปิดเทอม พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า ผู้ปกครองอาจลองพิจารณา ช่วงก่อนเปิดเทอมการลดกิจกรรมไม่จำเป็นลง ช่วงนี้ก็แนะให้อยู่บ้านเป็นหลัก แต่ถ้าเด็กมีการเคลื่อนย้าย การมาเตรียมตัวก่อนเปิดเทอมก็จะดีมาก
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีข้อเสนอให้เปิดเทอมก่อนวันที่ 1 มิ.ย.ในจังหวัดที่ปลอดผู้ป่วย พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า ตรงนี้เป็นข้อเสนอที่ต้องไปหารือกันในระดับประเทศ คือ ในส่วนของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ว่าจะให้เปิดเทอมก่อนได้หรือไม่ แต่ขณะนี้ทุกจังหวัดจะเปิดเทอมพร้อมกันวันที่ 1 ก.ค.ตามประกาศของ ศธ. และต้องเตรียมพร้อมก่อนเปิดเรียนตามมาตรการที่ว่าไว้ ส่วนรูปแบบการเรียนก็แล้วแต่พื้นที่ หากเรียนที่โรงเรียนได้ก็เรียนที่โรงเรียน อย่างจังหวัดที่ปลอดโรคมานาน 28 วันถือว่าเป็นจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่ำ อาจเปิดเรียนได้ทุกชั้นเรียนและทุกโรงเรียน ส่วนพื้นที่เสี่ยงสูง ก็แล้วแต่การพิจารณา เช่น แบ่งชั้นเรียนเหลื่อมเวลากันเรียน หรือเรียนผ่านออนไลน์ เป็นต้น