xs
xsm
sm
md
lg

เร่งเปิดเรียน? ติดโควิด! “ท่านใหม่” ถาม “ปลื้ม-จาตุรนต์” รับผิดชอบไหวมั้ย? “ธันวา” ติง “อคติ” ทำคนฉลาด “โง่”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ ม.จ. จุลเจิม ยุคล จากแฟ้ม
คุ้ม-ไม่คุ้ม “ท่านใหม่” ยกฝรั่งเศสติดโควิดพุ่งถาม “ปลื้ม-จาตุรนต์” รับผิดชอบไหวมั้ย? “ธันวา” ติง “อคติ” ทำให้คนฉลาด “โง่” ด้าน “หมอยง” แจง “เปิดเรียน” ได้หรือไม่ อยู่บนข้อมูลทาง “วิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ “การเมือง”

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (19 พ.ค. 63) เฟซบุ๊ก จุลเจิม ยุคล ของ ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือ “ท่านใหม่” โพสต์ข้อความระบุว่า

“เปิดโรงเรียน ในช่วงไวรัสระบาด เด็กติดโรค โควิด-19 ใครจะรับผิดชอบ? คุณปลื้ม หรือ จาตุรงค์ จะรับผิดชอบไหวไหม ครับ ?

“ฝรั่งเศสพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 70 ราย ที่เชื่อมโยงกับโรงเรียนต่างๆ เพียง 1 สัปดาห หลังจากพวกเขาผ่อนคลายล็อกดาวน์อนุญาตให้เปิดโรงเรียนบางส่วน”

ภาพ นายธันวา ไกรฤกษ์ จากแฟ้ม
เช่นเดียวกับ นายธันวา ไกรฤกษ์ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กหัวข้อ “อคติ'” ทำให้คนฉลาด กลายเป็นคนโง่ได้

เนื้อหาระบุว่า “..รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศปิดโรงเรียนอีกครั้ง หลังจากที่พึ่งเริ่มให้เปิดทดลองเรียนเพียงแค่ 1 สัปดาห์ ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็กลับพุ่งขึ้น

เรื่องแบบนี้ใครๆ ก็คิดออก เพราะหากสถานการณ์ในภาพรวมยังไม่ดี เปิดเทอมปุ๊บเด็กๆ ที่ไม่สามารถดูแลตัวเองเรื่องการล้างมือ การใส่หน้ากาก หรือ social distance ย่อมติดกันเป็นธรรมดา

ผู้ที่ออกมาต่อว่ารัฐบาล และเรียกร้องให้เปิดเทอมในตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็คงจะเริ่มเข้าใจความธรรมดานั้นแล้ว

ผมเองก็ด่ารัฐบาลบ่อยๆ แต่ทุกครั้งไม่เคยใช้อคติ เพราะผมเคยเรียนรู้และผ่านมาด้วยตัวเองว่า อคตินั้น มันจะทำให้คนฉลาดกลายเป็นคนโง่ได้อย่างง่ายๆ

ทำดีสิบครั้งทำชั่วครั้งเดียว คนจดจำไปตลอดฉันใด ฉลาด 10 ครั้งโง่ครั้งเดียว คนก็จะจดจำความโง่นั้นไปตลอดฉันนั้น

ดังนั้น ขอให้เราทุกคนเรียนรู้จากเหตุการณ์ของผู้อื่นและเอามาเป็นบทเรียน เพื่อที่เราจะไม่กลายเป็นสังคมแห่งความโง่นะครับ

ปล.ข้อความนี้ใช้กับคนทุกกลุ่มทุกฝ่าย คุณจะเชียร์พรรคไหนฝั่งไหน ก็ควรใช้สติปัญญา ไม่ใช่อคติ!”

ภาพ หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล จากแฟ้ม
กระนั้น วันนี้ หม่อมหลวง ณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ “คุณปลื้ม” พิธีกร และผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ ก็ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก M.L. Nattakorn Devakula อีกครั้ง

โดยระบุว่า “หมอสายเหยี่ยวทำลายระบบการศึกษา เล็งยึดตัวเลขศูนย์ 21 ถึง 42 วันติดต่อกันก่อนเปิด อย่าเข้าใจผิดครับ รมต.เขาไม่ได้บอกว่า ให้เปิดโรงเรียนให้เด็กไปเรียนที่โรงเรียนตามปกติได้ในวันที่ 1 ก.ค.ครับ 1 ก.ค.ก็ยังไม่ได้ไปโรงเรียนหรอก ยกเว้นซะว่า ศบค.เปลี่ยนเงื่อนไขที่สั่ง ศธ.มา จะเปิดก็ต่อเมื่อไม่มีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นเลยเป็นระยะเวลา 21 ถึง 42 วันติดต่อกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แม้กระทั่งในที่ที่ปลอดเชื้อ เพราะต้องเริ่มนับวันติดต่อกันใหม่ตลอดทุกครั้งเมื่อมีการตรวจเจอผู้ติดเชื้อ

ลองฟังที่แกให้สัมภาษณ์เต็มๆ ซิครับ หมอสายเหยี่ยวที่ ศบค.ที่กำลังทำลายระบบการศึกษาอยู่ เล็งยึดตัวเลขศูนย์ 21 ถึง 42 วันติดต่อกันก่อนอนุญาตให้เปิดสถานศึกษาแต่ละแห่ง ซึ่งถือว่าเป็นการยึดตามตัวเลขอย่างไร้หลักการทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และโรคระบาดโดยสิ้นเชิง

ไม่มีที่ไหนในโลกทำอย่างนี้ นายกฯไม่ให้เปิด เขาถึงสั่ง รมต.มาแจงเมื่อเย็นวานนี้ ไม่ได้มีข้อมูลใหม่เลย ยังบังคับให้เรียนนอกสถานที่ศึกษาอยู่เหมือนเดิมไปเรื่อยๆ มหาวิทยาลัยและโรงเรียนเอกชนทั้งหมดถูกสั่งให้เตรียม E-Learning ไว้นานเเล้ว “จะใช้วัดหรือลานหรือบ้าน อะไรก็ได้ เเต่ไม่ใช่โรงเรียนในการเรียน” นี่คือคำพูดจากแถลงการณ์เมื่อวานนี้

ย้อนกลับไปฟังสิครับ คำสั่งครั้งนี้กระทรวงปฏิเสธไม่ได้ เขาถึงต้องดันทุรังปฏิบัติตามตามกันไปทั้งทั้งที่รู้ว่า DLTV และการเรียนทางไกลหรือเรียนอย่างไม่มีครูจริงๆ แต่เรียนกับคอมพิวเตอร์ไม่ได้ประโยชน์และด้อยคุณภาพและแย่สำหรับเด็ก ทั้ง รมต.และนายกฯไม่กล้าที่จะผูกมัดตนเองกับการเปิดสถานศึกษาทั้งประเทศ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่ควรจะทำอย่างไม่มีเงื่อนไขได้แล้ว ประเทศได้พ้นภัยโรคระบาดนี้นานแล้ว”

ภาพ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ จากแฟ้ม
อีกด้านที่น่าสนใจ เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์หัวข้อ “โควิด 19 กับการเรียนหนังสือของเด็ก”

โดยระบุว่า “การทดลองเรียนออนไลน์ในวันแรก มีความสับสนพอสมควร เป็นที่ทราบกันดีว่า เด็กนักเรียนเองก็สามารถที่จะรับเชื้อ มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ไม่แตกต่างกับผู้ใหญ่ เมื่อเด็กนักเรียนติดเชื้อ จะมีอาการน้อย และจะนำเชื้อนั้นไปแพร่กระจายที่บ้าน ก็จะสร้างปัญหาได้

ในขณะเดียวกัน เรื่องการเรียนของเด็ก ก็เป็นเรื่องสำคัญ
ทำอย่างไรที่จะให้เหมาะสมสมดุล เรียนหนังสือได้แต่จะต้องไม่เป็นคนกลางแพร่เชื้อ
ทำอย่างไร จึงจะควบคุมการแพร่เชื้อ เมื่อเปิดเทอม เช่น การลดขนาดของจำนวนนักเรียน ในห้องเรียน คำนึงถึงระยะห่างของนักเรียน physical distancing ดูแลเรื่องสุขภาพอนามัย การล้างมือ การรับประทานอาหารที่สะอาด การใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อ การตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าโรงเรียนและในชั้นเรียน

การเปิดหรือปิดโรงเรียนก็มีผลกระทบทั้งสองด้าน
ควรจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบทั้ง 2 ด้านร่วมกัน
ในเด็กเล็กและเด็กโตก็แตกต่างกัน

การพิจารณาเปิดปิดจะต้องมีการปรึกษาหารือกันระหว่างหมอโรคติดเชื้อ นักระบาดวิทยา จิตแพทย์เด็ก และการพัฒนาการของเด็ก คุณครูที่รู้เรื่องทางวิทยาศาสตร์ เข้ามามีส่วนร่วม

การตัดสินใจเปิด ปิดโรงเรียน จะต้องอยู่บนฐานของวิทยาศาสตร์ ข้อมูลหลักฐาน ที่เกิดประโยชน์ สุขภาพ ร่างกายและจิตใจ ไม่ใช่การเมือง”

แน่นอน, ประเด็นที่ทุกคนเห็นร่วมกัน ก็คือ เป็นห่วงเรื่องการเรียนของเด็กอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่ต้องชั่งน้ำหนักก็คือ ได้คุ้มเสียหรือไม่ หากมีการเร่งเปิดเรียน

ประการต่อมา ทุกคนต้องยอมรับว่า การยื้อปิดเรียนออกไปเป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เพื่อให้การแพร่ระบาดลดลงจนเชื่อมั่นได้ว่า เด็กปลอดภัย สังคมปลอดภัย ซึ่งก็ไม่น่านานเกินรอ หรือเสียหายจนยากจะแก้ไข

แต่ประเด็นที่น่าคิด อาจอยู่ที่โพสต์ของ นายธันวา ไกรฤกษ์ ที่กระตุกต่อมสำนึกของใครหลายคนได้ดีทีเดียว นั่นคือ “อคติ” ทำให้คนฉลาดกลายเป็น “คนโง่” ได้ง่ายมาก

คงจะเข้าทำนองว่า ง่ายจนโพสต์ความคิดอ่านอะไรโง่ๆ ออกมา เพื่อ “เล่นเกมการเมือง” ทั้งที่เป็นคนฉลาด ใช่หรือไม่ ก็ลองไปคิดกันดู!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น