“พอเราได้เห็นข่าว ว่า มีคนฆ่าตัวตาย เพราะไม่ได้เงินเยียวยา 5,000 บาท รู้สึกว่าเป็นความคิดที่แย่มาก เพราะคุณค่าของเรามันแค่เงิน 5,000 บาทแค่นี้เหรอ พวกเราก็เลยอยากจะสร้างให้ชุมชนแข็งแข็ง และให้ทุกคนเห็นคุณค่าของตัวเองให้มาก ไม่ใช่ไม่ได้เงิน 5,000 บาทก็คิดค่าตัวตายเป็นเรื่องที่เศร้ามาก”
“What the fruit” กล่องสุ่มผลไม้ เป็นเพจที่เกิดจากไอเดียของ Thrive Venture Builder สตาร์ทอัปที่เปิดให้บริการกับธุรกิจที่สนใจต้องการจะออกแบบกิจการของตนเองให้ออกมาในรูปแบบของสตาร์ทอัป เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและรวดเร็ว รับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว อย่าง การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
สำหรับที่มาของ เพจ “What the fruit” กล่องสุ่มผลไม้ เกิดขึ้นมาจาก ความต้องการของทีมงาน Thrive Venture Builder ที่ต้องการจะมีส่วนช่วยกิจการเพื่อสังคม ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นายธีรุตม์ วินัยโกศล ตัวแทนกลุ่มThrive Venture Builder เล่าว่า ผมและทีมงานทั้ง 10 คน ทุกคนมีแนวคิดที่ตรงกัน คือ ต้องการทำเพื่อสังคมบ้างในช่วงของโรคโควิด และหลายคนต้องการความช่วยเหลือ โดยอาศัยความสามารถของพวกเราในการเป็นสตาร์ทอัป นำมาใช้เกิดประโยชน์ในครั้งนี้ และเมื่อปลายเดือนเมษายน สร้างเพจเฟซบุ๊ก what the fruit รับผลไม้จากชาวสวนที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 มาจำหน่าย สร้างจุดขาย คือ ลูกค้าจะเซอร์ไพรส์กับผลไม้ที่ได้รับจากการ สั่งจำนวน 300 บาท ว่าเขาจะได้รับผลไม้ที่คละชนิดกัน อาทิ สับปะรด แคนตาลูป เงาะ มะม่วง ชมพู่ มังคุด ใส่กล่องส่งถึงบ้าน
“พวกเราช่วยชาวสวนรับซื้อผลไม้มาจำหน่ายต่อ สร้างเซอร์ไพรส์เป็นจุดขาย ลูกค้าที่สั่งมีทั้งคนไทยที่อยากช่วยเกษตรกรและอยากสนุกลุ้นผลไม้ที่ได้รับ และ ลูกค้าต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย และที่สำคัญนอกจากจะได้ช่วย ชาวสวนในการขายผลไม้แล้ว ยังได้ช่วยวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งไม่มีงาน มีรายได้"
หลังจากเฟซบุ๊ก what the fruit เปิดได้ 1 เดือน นายธีรุตม์ บอกว่า กระแสการตอบรับค่อนข้างดี ปัจจุบันจำหน่ายผลไม้ได้ 300 กล่อง กระทั่งวันหนึ่ง ผมได้รับการติดต่อจากคุณลุงท่านหนึ่ง ขอรับบริจาคถุงยังชีพ ไปแจกชุมชนนอกระบบที่รัฐเข้าไม่ถึง 500 ชุด คิดเป็นจำนวนเงิน 150,000 บาท ทางทีมงานได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ไปได้ด้วยดี
อย่างไรก็ตาม การบริจาคถุงยังชีพ ดูจะไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน “ธีรุตม์” เกิดไอเดียว่า ทำยังไงถึงจะให้คนในชุมชนเข้มแข็งช่วยเหลือตัวเองได้ ภายใต้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ เพราะการแจกถุงยังชีพ หรือ แจกเงิน ผ่านไปหนึ่ง หรือ สองสัปดาห์ก็หมด แต่ถ้าสามารถสร้างอาชีพให้กับชุมชนได้ เกิดรายได้ที่ยั่งยืน และมั่นคงในอนาคต
“หลังจากที่แจกถุงยังชีพคนในชุมชน ทำให้ได้รู้ว่า คนกลุ่มนี้มีความสามารถหลายอย่าง เช่น การทำอาหาร เพียงแต่ไม่มีเงินทุน เลยปิ๊งไอเดียออกเงินทุนให้ก่อน เป็นลักษณะจ้างผลิต แล้วทางกลุ่มจะนำไปจำหน่ายให้ทางเพจ Hope Loop ส่วนในอนาคตหวังจะให้เป็นลักษณะการร่วมทุนกัน สำหรับ โปรดักส์ตัวแรกของเรา คือ น้ำพริก ที่เราเลือกน้ำพริกเพราะเราไปเห็นในถุงยังชีพมีน้ำพริกอยู่ด้วย และออเดอร์แรก ที่ได้ คือ คนรู้จักที่ทำถุงยังชีพเพื่อนำไปแจกสั่งน้ำพริกของเรา 300 ถุง เราก็มาจ้างชุมชนแห่งนี้ให้เขาช่วยผลิตให้”
โดยหลังจากเพจ Hope Loop เปิดได้ 2 สัปดาห์ มีออร์เดอร์น้ำพริกเข้ามา 140 กิโลกรัม ซึ่งมีสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาที่เกิดจากการสร้างงานให้ชุมชน อย่างเช่น มีเงาะคว้านเมล็ดจำหน่าย ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก เช่นกัน ปัจจุบัน ธีรุตม์ มีการติดต่อ 3 ชุมชนในกรุงเทพฯ เป็นชุมชนนอกระบบทั้งสิ้น ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ อาทิ ชุมชนพหลโยธิน 45 ชุมชนโรงงานยาสูบ เเละชุมชนป่าไม้ ส่วนสินค้าที่จะจ้างคนในชุมชนผลิตต่อไป คือ แยม เเละ กิมจิ
“ธีรุตม์” บอกว่า จากไอเดียตรงนี้ ทำให้เราได้รับทุนสนับสนุน จากโครงการ Havk the crisis ของ Hackathon thailand เป็นทุนจากสถานทูตสหรัฐอเมริกา ที่จัดมาเฉพาะกิจเพื่อช่วยคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเราได้เสนอไอเดียของเราเข้าไป และก็ได้รับคัดเลือกให้ได้ทุนดังกล่าว ทำให้สามารถที่จะมีทุนในการดำเนินงานตรงนี้ได้ต่อไป
สำหรับเป้าหมายในอนาคต ตัวแทนกลุ่ม บอกว่า นับจากนี้ต่อไป ไม่ว่าสถานการณ์ใดจะถาโถมเข้ามา อยากเห็นคนไทยเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ เพราะคนตัวเล็กๆ สำคัญเสมอ และพอเราได้เห็นข่าว ว่า มีคนฆ่าตัวตาย เพราะไม่ได้เงินเยียวยา 5,000 บาท รู้สึกว่าเป็นความคิดที่แย่มาก เพราะคุณค่าของเรามันแค่เงิน 5,000 บาทแค่นี้เหรอ พวกเราก็เลยอยากจะสร้างให้ชุมชนแข็งแข็ง และให้ทุกคนเห็นคุณค่าของตัวเองให้มาก ไม่ใช่ไม่ได้เงิน 5,000 บาทก็คิดค่าตัวตายเป็นเรื่องที่เศร้ามาก
สนใจ FB:Hope Lope และเพจ what the fruit
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด * * *
SMEs manager