สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมกับผู้จัดทำรายงานเกี่ยวกับแม่น้ำโขง อภิปรายผลการศึกษาล่าสุด การเปลี่ยนแปลงการไหลและระดับน้ำในแม่น้ำโขง พบการสร้างเขื่อนในจีนกระทบปลายน้ำชัดเจน โดยเฉพาะ "โตนเลสาป" กัมพูชา
รายงานพิเศษ
กลางเดือนกรกฎาคม 2019 เกิดปรากฎการณ์ที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขง ลดลงอย่างรวดเร็วจนแห้งขอดเป็นประวัติศาสตร์ โดยเห็นได้เด่นชัดที่จังหวัดเลย หนองคาย นครพนม และบึงกาฬ ทำให้ถูกวิเคราะห์หาสาเหตุไปหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง การเปิดเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าที่ สปป.ลาว รวมถึงผลกระทบจากการปล่อยน้ำของเขื่อนในประเทศจีน
เมื่อวันที่ 20 พ.ค. สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้จัดการอภิปรายออนไลน์สำหรับผู้สื่อข่าวไทย เพื่อพูดคุยหารือเกี่ยวกับผลการศึกษาล่าสุดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงการไหลและระดับน้ำในแม่น้ำโขงซึ่งสืบเนื่องมาจากการสร้างเขื่อนที่ต้นน้ำ ร่วมกับผู้จัดทำรายงานเกี่ยวกับแม่น้ำโขง 3 ฉบับ คือ “การติดตามปริมาณการไหลของน้ำผ่านลุ่มน้ำโขงตอนบนภายใต้สภาพทางธรรมชาติ (โดยไร้การกีดขวาง)”, “ค่าความผิดปกติของความชื้นในแม่น้ำโขงช่วงฤดูมรสุมปี 2562” และ “จีนปิดก๊อกลำน้ำโขงอย่างไร”
ไบรอัน อายเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์ Stimson Center และผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Last of Days of the Mighty Mekong” กล่าวถึงการศึกษาของเขาว่า เป็นการทำวิจัยแม่น้ำโขงโดยใช้เวลา 15 ปี เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนของแม่น้ำโขง เพราะเป็นสายน้ำที่สำคัญในระดับภูมิภาคและมีอิทธิพลในการหล่อเลี้ยงผู้คนหลายสิบล้านคน
“ในหนังสือของผมเขียนถึงผลกระทบต่อแม่น้ำ และวิถีชีวิตที่แย่ลงของชุมชน หลังจากประเทศจีนสร้างเขื่อนบนลำน้ำโขง” ไบรอัน กล่าวถึงสาเหตุหลักที่เขากำลังจะเปิดเผยงานวิจัยชิ้นนี้
ไบรอัน บอกว่า จีนสร้างเขื่อนที่เสร็จสมบูรณ์ไปแล้วรวม 11 เขื่อน และมีแผนที่จะสร้างเพิ่มในในแม่น้ำโขง และแม่น้ำอื่น ๆ ที่เชื่อมต่อกันอีกประมาณ 300 เขื่อน มีทั้งนักลงทุนจากจีนและจากประเทศไทยที่ให้ความสนใจ แต่จีนเป็นต้นน้ำ ส่วนผลกระทบเกิดขึ้นที่ปลายน้ำ
เขาอธิบายไปถึงทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งได้รับผลกระทบ คือ “โตนเลสาป” ในประเทศกัมพูชา ที่นี่เป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค คิดเป็น 20% ของแหล่งประมงในโลก เป็นแหล่งเศรษฐกิจที่ใหญ่มากในภูมิภาคนี้ ซึ่งโดยปกติที่โตนเลสาปจะผลัดเปลี่ยนหน้าแล้งเป็นหน้าฝนในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม
หากไม่มีสิ่งกีดขวางในลำน้ำโขง เมื่อถึงฤดูฝน ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น และค่อยๆ ผลักดันมวลน้ำจากตอนบน ไหลผ่านลาว ไทย จนมาถึงปลายน้ำคือกัมพูชาที่กรุงพนมเปญ ก่อนจะดันน้ำลงสู่โตนเลสาป และน้ำที่พัดมา พัดทั้งปลาขนาดใหญ่และตะกอนต่าง ๆ มาด้วย กลายเป็นแหล่งทรัพยากรประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งปลาที่จับได้จากโตนเลสาป คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลในอาเซียน ในปี 2019 ที่แม่น้ำโขงแห้งที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ โตนเลสาป จึงเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักตามไปด้วย
ทีมวิจัยยังนำแบบจำลองค่าทางวิทยาศาสตร์ เพื่อจำลองระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ควรจะเป็นมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงจากมาตรวัดระดับแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยงานวิจัยนี้ พบว่า ระดับของแม่น้ำโขง มีความผันผวนเปลี่ยนแปลงต่างจากแบบจำลองมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามจำนวนเขื่อนที่เกิดขึ้นบนแม่น้ำ
อลัน แบซิสต์ ผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Eyes on Earth และผู้เขียนร่วมของการศึกษาเรื่อง “การติดตามปริมาณการไหลของน้ำผ่านลุ่มน้ำโขงตอนบนภายใต้สภาพทางธรรมชาติ (โดยไร้การกีดขวาง)” หรือ “Monitoring the “Quantity of Water Flowing Through the Upper Mekong Basin Under Natural (Unimpeded) Conditions” พยายามแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์น้ำโขงแห้งเป็นประวัติศาสตร์ในปี 2019 กับเขื่อนในจีน
โดยเขาเริ่มจากการแสดงตารางการเกิดเขื่อนขึ้นในจีน โดยเน้นไปที่ เขื่อนแรกคือ ม่านวาน (Manwan) สร้างเสร็จในปี ค.ศ.1993 ส่วนเขื่อนที่สองสร้างเสร็จในปี 2004 คือ ต้าเฉาชาน (Dachaoshan) ทั้งสองเขื่อนมีความจุประมาณ 900 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่ามีขนาดไม่ใหญ่มาก ตาอมาจึงมีเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า จิ่งหง (Jinghong) สร้างเสร็จในปี 2008 ใช้ผลิตกระสไฟฟ้า ขนาดเขื่อนใหญ่กว่า 2 เขื่อนแรก แต่ความจุน้ำน้อยกว่า คือ 249 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
จากนั้นจึงอ้างถึงเขื่อน 2 แห่งที่สำคัญมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ เขื่อนเสี่ยววาน (Xiaowan) ซึ่งสร้างเสร็จในปี 2009 มีความจุถึง 1.5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดคือ นัวจาตู้ (Nuozhadu) ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปี 2012 มีขนาดความจุถึง 2.7 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร
อลัน แบซิสต์ ยกผลการศึกษา ตั้งแต่ปี 1997–2001 ซึ่งยังมีอยู่เขื่อนเพียงแห่งเดียว ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังสัมพันธ์ใกล้เคียงกับแบบจำลองที่ควรจะเป็นอย่างมาก
ต่อมาเขานำเสนอผลการศึกษาในปี 2001–2010 จะเห็นว่า มีการปล่อยน้ำหลังสร้างเขื่อนต้าเฉาชาน และกราฟแสดงให้เห็นว่ามีน้ำบางส่วนหายไป แต่ก็เติมน้ำกลับคืนมาได้จนเป็นปกติหลังจากนั้น เพราะเขื่อนต้าเฉาชานยังไม่ใช่เขื่อนที่ใหญ่มาก
แต่ที่สำคัญ คือ ช่วงปี 2010-2020 อลัน พบว่า ธรรมชาติของแม่น้ำโขงเปลี่ยนไปมาก แม้แต่ในฤดูฝนซึ่งควรมีน้ำมาก ก็กลับมีน้ำที่หายไป โดยดูได้จาก ค่าวัดระดับน้ำจริงที่มาตรวัดสถานีเชียงแสน มีค่าต่ำกว่าแบบจำลองอยู่ตลอด และพบว่าน้ำหายไปมากจากที่ควรจะมีอยู่ตามแบบจำลอง
อลัน แบซิสต์ เห็นว่า นี่เป็นผลกระทบจากเขื่อนในจีน เพราะหลังปี 2012 ที่เปิดเขื่อนยักษ์ นัวจาตู้ น้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก กลายเป็นรูปแบบที่ไม่ปกติในลุ่มน้ำโขง แม้แต่ในช่วงฤดูฝนก็ยังมีน้ำที่ขาดหายไป คือ น้ำจริงที่วัดได้จากมาตรวัดที่สถานีเชียงแสนก็น้อยลง มีปริมาณน้อยกว่าในแบบจำลองค่อนข้างมาก จนมาต่ำสุดเป็นประวัติศาสตร์ในปี 2019
ในปี 2109 แม่น้ำโขง มีรูปแบบที่แตกต่างจากปีอื่น ๆ อย่างสิ้นเชิง น้ำลดลงอย่างมากในช่วงฤดูฝน แต่ในขณะเดียวกันทีมวิจัยกลับพบว่า น้ำตามธรรมชาติที่มาจากต้นน้ำในทิเบตไม่ได้ลดลง แต่มาหายไประหว่างทาง จนมาไม่ถึงปลายน้ำ
อลัน อ้างถึงผลการศึกษาจากแผนที่วัดค่าความชื้น ที่ระบุว่า ในเดือนพฤษภาคม 2019 “พื้นที่ส่วนบนของลุ่มน้ำโขง กลับมีความชื้นมากกว่าปกติ แต่พื้นที่ด่านล่างลงมาถึงประเทศไทยกลับแห้งแล้งมากกว่าปกติ”
พอมาถึงมิถุนายน ก็เกิดความแห้งแล้งอย่างเห็นได้ชัด และประเทศไทยเป็นจุดที่มีความแห้งแล้งรุนแรงมากในลุ่มน้ำโขงตอนล่างใกล้กับปากแม่น้ำ ส่วนในเดือนกรกฎาคม ช่วงที่แม่น้ำโขงในประเทศไทยมากที่สุด กลับพบว่า ส่วนบนของแม่น้ำโขงมีความชื้นมาก จนมีน้ำไหลลงมาเพิ่มในเดือนสิงหาคม 2019 และยิ่งน่าสนใจคือ ประเทศไทยที่ก่อนหน้านี้แห้งแล้งมาก กลับเกิด “น้ำท่วม” ในเดือนกันยายนถึงตุลาคม 2019 ซึ่งเป็นช่วงที่แม่น้ำโขงถูกปล่อยลงมามากจากตอนบนของลุ่มน้ำเช่นเดียวกัน อลัน จึงเห็นว่า สภาวะความแห้งแล้งเป็นประวัติศาสตร์ของแม่น้ำโขงในปี 2019 เกิดจากการ “น้ำ ไม่ถูกปล่อยลงมาจากพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบน”
ในการนำเสนอผลการศึกษาครั้งนี้ ยังอ้างถึงการสำรวจค่า “หยาดน้ำฟ้า” จาก Google Earth ซึ่งใช้วัดความชุ่มชื้นของพื้นที่ และพบค่าที่สัมพันธ์กับระดับแม่น้ำโขงในปี 2019 คือ พบความชุ่มชื้นในตอนบนของแม่น้ำที่ประเทศจีน และยังใช้ภาพถ่ายดาวเทียมสำรวจพื้นที่เขื่อนของจีน โดยให้ความสำคัญไปที่เขื่อนจิ่งหง และเขื่อนยักษ์นัวจาตู้ พบว่าตั้งแต่เดือน พฤษภาคม จนถึงธันวาคม 2019 ระดับน้ำในเขื่อนจิ่งหงไม่ลดลงเลย มีเพียงช่วงสั้นในเดือนกันยายน ที่ระดับน้ำลดลงมาเล็กน้อย
ส่วนที่เขื่อนใหญ่ที่สุด คือ นัวจาตู้ มีน้ำเพิ่มเข้าสู่เขื่อนจนเกือบเต็มในช่วงฤดูฝนของปี ไปจนถึงเดือนธันวาคม ปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกลับที่เกิดความแห้งแล้งมากเป็นประวัติศาสตร์ของแม่น้ำโขงในพื้นที่ปลายน้ำที่ประเทศไทย ซึ่งทีมวิจัย บอกว่า จะพยายามหาสาเหตุที่แท้จริงของการกักน้ำไว้ และจะพยายามหาปริมาตรน้ำที่แท้จริงที่ถูกกักไว้ต่อไป
ส่วนสมมติฐาน ที่มีหลายองค์กรในประเทศไทยวิเคราะห์สาเหตุที่แม่น้ำโขงแห้งแล้งอย่างมากในเดือนกรกฎาคมปี 2019 โดยอ้างว่า อาจเกี่ยวข้องกับการที่เขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนไทยใน สปป.ลาว ทดลองเดินเครื่องเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
อลัน แบซิสต์ ไม่ยืนยันข้อมูลนี้ โดยระบุว่า ระดับของแม่น้ำโขงใน สปป.ลาว ต่ำกว่า ระดับมาตรวัดที่ อ.เชียงแสน ของไทย ข้อมูลนี้จึงไม่อยู่ในผลการศึกษาของทีมวิจัย
ส่วนไบรอัน อายเลอร์ แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่าแม้จะไม่ได้อยู่ในผลการศึกษา แต่เขาเชื่อว่า แต่ละเขื่อนที่สร้างเพิ่มขึ้นมา ก็จะสร้างผลกระทบที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ขึ่นอยู่กับว่ามีเวลาและทรัพยากรเพียงพอที่จะเข้าไปศึกษาวิจัยหรือไม่