xs
xsm
sm
md
lg

ไบโอเทค สวทช.นำไวรัส NPV กำจัดหนอนศัตรูพืชที่ริมปิงออร์แกนิคฟาร์ม หวังแทนสารพิษที่โดนแบน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ริมปิงออร์แกนิคฟาร์ม จ.เชียงใหม่ : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) มีการขยายผลการนำผลงานวิจัยไวรัสเอ็นพีวี (NPV) เพื่อใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในพื้นที่ริมปิงออร์แกนิคฟาร์ม อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการของฟาร์มออร์แกนิก สร้างความปลอดภัยให้เกษตรกรและผู้บริโภค



จากรัฐบาลมีนโยบายที่จะห้ามนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด (พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส) การส่งเสริมให้เกษตรกรมาใช้สารชีวภัณฑ์ (คือผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ผลิตหรือพัฒนามาจากสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์) ในการกำจัดแมลงศัตรูพืช จึงเป็นทางเลือกหนึ่งให้แก่เกษตรกรเพื่อใช้ทดแทนสารเคมี

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค สวทช. ให้ข้อมูลว่า งานวิจัยด้านสารชีวภัณฑ์ หรือ Biocontrol เป็นงานที่ไบโอเทค สวทช.ดำเนินการมาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว โดยมุ่งเน้นที่จะใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ ที่สามารถควบคุมการระบาดของแมลงศัตรูพืชหลายชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ราบิวเวอเรีย โปรตีนวิป (VIP) จากแบคทีเรีย และไวรัสเอ็นพีวี (NPV) ปัจจุบันทีมนักวิจัยของไบโอเทค สวทช.พยายามบูรณาการความเชี่ยวชาญของหลายสาขาเพื่อเพิ่มศักยภาพของการนำสารชีวภัณฑ์ไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด และที่สำคัญเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงหรือการอุบัติใหม่ของแมลงศัตรูพืช ที่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาวะแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนไป


นายสัมฤทธิ์ เกียววงษ์ นักวิชาการอาวุโส ทีมวิจัยเทคโนโลยีไวรัสเพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ไวรัส NPV ย่อมาจาก Nuclear Polyhedrosis Virus เป็นไวรัสที่เกิดโรคกับแมลงชนิดหนึ่งจากหลายชนิด ซึ่งมีประสิทธิภาพในการทำลายแมลงศัตรูพืชได้สูงสุด เหมาะสมที่จะนำมาใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืช เนื่องจากมีความเฉพาะเจาะจงต่อแมลงเป้าหมาย มีความปลอดภัยต่อมนุษย์ สัตว์ พืช และมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุด

ปัจจุบันไบโอเทค สวทช.มีการพัฒนาผลิตไวรัส NPV ของแมลงศัตรูพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจ 3 ชนิด ได้แก่ ไวรัส NPV ของหนอนกระทู้หอม ไวรัส NPV ของหนอนเจาะสมอฝ้าย และไวรัส NPV ของหนอนกระทู้ผัก โดยการใช้สารชีวภัณฑ์ไวรัส NPV จะเริ่มต้นจากกลไกการก่อโรคที่ไวรัส NPV จะทำให้แมลงเป็นโรคและตาย โดยการที่ตัวอ่อนของแมลงต้องกินไวรัสที่ปะปนอยู่บนใบพืชอาหาร เมื่อไวรัสเข้าสู่กระเพาะอาหาร ผลึกโปรตีนที่ห่อหุ้มอนุภาคของไวรัสจะถูกย่อยสลายโดยน้ำย่อยในกระเพาะอาหารของแมลงที่มีฤทธิ์เป็นด่าง อนุภาคไวรัสจะหลุดออกมาและเข้าทำลายเซลล์กระเพาะอาหาร ลักษณะอาการโรคเริ่มต้นจากการที่หนอนจะลดการกินอาหารลง เมื่อไวรัสไปทำลายเซลล์กระเพาะอาหาร อนุภาคของไวรัสจะขยายพันธุ์ทวีจำนวนมากขึ้นแพร่กระจายเข้าสู่ภายในลำตัวของแมลง เข้าไปทำลายอวัยวะส่วนต่างๆ เช่น เม็ดเลือด ไขมัน กล้ามเนื้อ ผนังลำตัว เป็นต้น เมื่อเซลล์เหล่านี้ถูกทำลาย การทำงานของอวัยวะต่างๆ จะเสียไป ทำให้หนอนตายในที่สุด


ด้าน นายเอกราช เครื่องพนัด ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ริมปิงออร์แกนิคฟาร์ม จำกัด กล่าวว่า ริมปิงออร์แกนิคฟาร์มได้นำไวรัส NPV ของไบโอเทคเข้ามาใช้ในการป้องกันกำจัดหนอนศัตรูพืชดังกล่าว ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี โดยทางบริษัทฯ ใช้ผลิตภัณฑ์ไวรัส NPV มาเป็นเวลา 4-5 ปีแล้ว ประกอบกับได้รับการช่วยเหลือจากทีมงานของไบโอเทคในการให้ข้อมูลเพื่อให้ใช้งานไวรัส NPV ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น อัตราการใช้งาน แนะนำช่วงเวลาในการใช้งาน ความถี่ในการใช้ไวรัส NPV ในฤดูกาลต่างๆ ซึ่งผลจากคำแนะนำดังกล่าวทำให้บริษัทฯ สามารถป้องกันหนอนศัตรูพืชดังกล่าวได้เป็นอย่างดีตลอดระยะเวลาที่ใช้งานมา สามารถลดการสูญเสียผลผลิตที่ถูกหนอนเข้าทำลายได้ประมาณ 10-15%


สำหรับก้าวต่อไปของการพัฒนาสารชีวภัณฑ์และขยายผลการใช้เทคโนโลยีจีโนมของไบโอเทค ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา กล่าวว่า “เนื่องจากไวรัส NPV ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสค่อนข้างน้อย ส่งผลให้การนำไวรัสไปใช้ประโยชน์ค่อนข้างจำกัด โดยปัจจุบันเริ่มมีแนวคิดที่จะนำเทคโนโลยีด้านจีโนมเพื่อถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัส NPV ที่มีคุณสมบัติต่างๆ เพื่อที่จะได้มาซึ่งข้อมูลว่ายีนส่วนใดของไวรัสมีบทบาทสำคัญต่อการเป็นไวรัสที่มีการเข้าทำลายแมลงสูง ซึ่งองค์ความรู้นี้จะสามารถทำให้นักวิจัยเลือกสายพันธุ์ไวรัสตัวใหม่ๆ มาพัฒนาเป็นไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ยังไม่มีไวรัส NPV ที่สามารถใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชที่อุบัติใหม่ในประเทศไทย การใช้องค์ความรู้ดังกล่าวจะสามารถหาไวรัส NPV ที่มีประสิทธิภาพสูงได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีลองผิดลองถูกเพื่อหาสายพันธุ์เหมือนในอดีต ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วต่อไป”


** * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ"รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุดและร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


SMEs manager


กำลังโหลดความคิดเห็น