xs
xsm
sm
md
lg

ฟาร์มออร์แกนิคที่ริมปิงใช้ไวรัสฆ่าหนอน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 นายเอกราช เครื่องพนัด และ ไวรัสเอ็นพีวีบรรจุขวด
ขณะที่เรากำลังต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในอีกแง่หนึ่งไวรัสก็เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในการกำจัดศัตรูพืช ตัวอย่างฟาร์มออร์แกนิคที่ริมปิงสามารถจัดการศัตรูพืชโดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ปลอดภัยต่อคนกินและยังได้สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อการทำงาน

ณ ริมปิงออร์แกนิคฟาร์ม อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ที่มีพื้นที่เพาะปลูกพืชผักออร์แกนิคประมาณ 100 ไร่ เป็นพื้นที่ตัวอย่างที่นำไวรัสมาใช้ควบคุมศัตรูพืชอย่างหนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย และหนอนกระทู้ผัก โดยใช้ผลิตภัณฑ์ไวรัสเอ็นพีวี (NPV: Nuclear Polyhedrosis Virus) ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ ศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค สวทช. ให้ข้อมูลว่า งานวิจัยด้านสารชีวภัณฑ์ (Biocontrol) เป็นงานที่ ไบโอเทค สวทช. ดำเนินการมาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว โดยมุ่งเน้นที่จะใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ ที่สามารถควบคุมการระบาดของแมลงศัตรูพืชหลายชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ราบิวเวอเรีย โปรตีนวิป (VIP) จากแบคทีเรีย และไวรัสเอ็นพีวี

“ปัจจุบันทีมนักวิจัยของไบโอเทค สวทช. พยายามบูรณาการความเชี่ยวชาญของหลายสาขา เพื่อเพิ่มศักยภาพของการนำสารชีวภัณฑ์ไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด และที่สำคัญเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงหรือการอุบัติใหม่ของแมลงศัตรูพืช ที่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาวะแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนไป”

ดร.อนันต์อธิบายว่า ไวรัสเอ็นพีวีเป็นไวรัสที่มีความจำเพาะต่อแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น ไวรัสเอ็นพีวีหนอนกระทู้ผักก็จะฆ่าเฉพาะหนอนกระทู้ผัก และไม่มีผลต่อแมลงชนิดอื่นที่มีผลต่อระบบนิเวศ สามารถใช้ได้ในปริมาณมาก และมีความปลอดภัยสูงต่อคนและสัตว์ และเป็นสารเริ่มต้นในการใช้ทดแทนสารฆ่าแมลง

ด้าน นายสัมฤทธิ์ เกียววงษ์ นักวิชาการอาวุโส ทีมวิจัยเทคโนโลยีไวรัสเพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ไวรัสเอ็นพีวีเป็นไวรัสที่มีอยู่ในแล้วในธรรมชาติ ซึ่งปกตินักวิจัยจะค้นหาไวรัสเหล่านี้จากการสำรวจหนอนในธรรมชาติ หากพบหนอนที่ดูป่วยๆ ไม่แข็งแรงก็จะนำมาศึกษาหาสาเหตุว่าเป็นเพราะไวรัสหรือไม่

“สวทช.มีโรงงานต้นแบบที่บรรจุไวรัสเหล่านี้ลงขวดและส่งมอบให้เกษตรกรที่มีศักยภาพ โดยที่ริมปิงออร์แกนิคฟาร์มเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้นำไปใช้ ปัจจุบัน ไบโอเทค สวทช. มีการพัฒนาผลิตไวรัส NPV ของแมลงศัตรูพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจ 3 ชนิด ได้แก่ ไวรัส NPV ของหนอนกระทู้หอม ไวรัส NPV ของหนอนเจาะสมอฝ้าย และไวรัส NPV ของหนอนกระทู้ผัก"

ส่วนกลไกการก่อโรคของไวรัสเอ็นพีวีในหนอนนั้น นายสัมฤทธิ์อธิบายว่า เมื่อตัวอ่อนของแมลงกินไวรัสที่ปะปนอยู่บนใบพืชอาหาร ไวรัสจะเข้าสู่ลำไส้ส่วนกลางซึ่งเปรียบเสมือนกระเพาะอาหารของหนอน จากนั้นผลึกโปรตีนที่ห่อหุ้มอนุภาคของไวรัสจะถูกย่อยสลายโดยน้ำย่อยในกระเพาะอาหารของแมลงที่มีฤทธิ์เป็นด่าง อนุภาคไวรัสจะหลุดออกมาและเข้าทำลายเซลล์กระเพาะอาหาร

"ลักษณะอาการโรคเริ่มต้นจากการที่หนอนจะลดการกินอาหารลง เมื่อไวรัสไปทำลายเซลล์กระเพาะอาหาร อนุภาคของไวรัสจะขยายพันธุ์ทวีจำนวนมากขึ้นแพร่กระจายเข้าสู่ภายในลำตัวของแมลง เข้าไปทำลายอวัยวะส่วนต่างๆ เช่น เม็ดเลือด ไขมัน กล้ามเนื้อ ผนังลำตัว เมื่อเซลล์เหล่านี้ถูกทำลาย การทำงานของอวัยวะต่างๆ จะเสียไป ทำให้หนอนตายในที่สุด” นายสัมฤทธิ์อธิบาย

เมื่อหนอนตายแล้วไวรัสไม่ได้ตายไปด้วยแต่จะกระจายอยู่รอบๆ ตัวหนอนที่ตาย หากมีหนอนตัวอื่นมากินใบไม้ที่ปนเปื้อนไวรัสก็จะทำให้หนอนตัวนั้นตายไปด้วย ซึ่งข้อดีที่ไวรัสไม่ตายไปพร้อมหนอนนี้ทาง ดร.อนันต์อธิบายเป็นประโยชน์ให้ไวรัสถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้ ซึ่งแมลงในระยะตัวอ่อนหรือยังเป็นหนอนอยู่นั้นยังไม่มีภูมิคุ้มกันมาก เปรียบเหมือนทารกที่ยังมีภูมิคุ้มกันต่ำ เมื่อได้รับไวรัสก็ตายทันที

ทางด้าน นายเอกราช เครื่องพนัด ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ริมปิงออร์แกนิคฟาร์ม จำกัด กล่าวว่า ริมปิงออร์แกนิคฟาร์ม เริ่มดำเนินการผลิตพืชแบบอินทรีย์มาตั้งแต่ปี 2555 โดยเริ่มทำการผลิตผักอินทรีย์หลายชนิด ได้แก่ พืชผักกลุ่มสลัด เช่น สลัดคอส บัตเตอร์เฮด กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค เป็นต้น และรวมไปถึงผักไทย ได้แก่ ผักโขม ผักบุ้ง ผักกาดขาว ข้าวโพดหวาน มะเขือเทศ และแตงกวา เป็นต้น ซึ่งเริ่มทำการทดลองผลิตจากพื้นที่เล็กๆ ก่อนที่จะขยายพื้นที่การผลิตให้เต็มพื้นที่ปลูกอย่างในปัจจุบัน

"ผลิตภัณฑ์ของริมปิงออร์แกนิคฟาร์มยังได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ มาตรฐาน Organic Thailand ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ IFOAM และได้มาตรฐานการคัดบรรจุ โดยได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP CODEX เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในผลิตภัณฑ์ของริมปิงอออร์แกนิคฟาร์มว่าได้รับผลผลิตที่ดี"

นายเอกราชกล่าวว่า บริษัทฯ ได้นำไวรัสเอ็นพีวีของไบโอเทคเข้ามาใช้ในการป้องกันกำจัดหนอนศัตรูพืชดังกล่าว ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี โดยทางบริษัทฯ ใช้ผลิตภัณฑ์ไวรัสเอ็นพีวีมาเป็นเวลา 4-5 ปีแล้ว ประกอบกับได้รับการช่วยเหลือจากทางทีมงานของไบโอเทคในการให้ข้อมูลเพื่อให้ใช้งานไวรัสเอ็นพีวีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น อัตราการใช้งาน แนะนำช่วงเวลาในการใช้งาน ความถี่ในการใช้ไวรัสเอ็นพีวีในฤดูกาลต่างๆ

ผลจากคำแนะนำดังกล่าวทำให้บริษัทริมปิงออร์แกนิคฟาร์มสามารถป้องกันหนอนศัตรูพืชดังกล่าวได้เป็นอย่างดีตลอดระยะเวลาที่ใช้งานมา สามารถลดการสูญเสียผลผลิตที่ถูกหนอนเข้าทำลายได้ประมาณ 10 - 15 % ซึ่งเป็นสัดส่วนใกล้เคียงกับการใช้ยาฆ่าแมลง และนายเอกราชยังตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากใช้ไวรัสไประยะหนึ่งแล้วพบว่าปริมาณการใช้ลดลง จึงคาดว่าอาจจะมีไวรัสตกค้างอยู่ทำให้ศัตรูพืชระบาดน้อยลง

สำหรับก้าวต่อไปของการพัฒนาสารชีวภัณฑ์ ดร.อนันต์กล่าวว่ายังมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอ็นพีวีค่อนข้างน้อย ส่งผลให้การนำไวรัสไปใช้ประโยชน์ค่อนข้างจำกัด โดยปัจจุบันเริ่มมีแนวคิดที่จะนำเทคโนโลยีด้านจีโนม เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสเอ็นพีวีที่มีคุณสมบัติต่างๆ เพื่อที่จะได้ข้อมูลว่า ยีนส่วนใดของไวรัสมีบทบาทสำคัญต่อการเป็นไวรัสที่มีการเข้าทำลายแมลงสูง

"องค์ความรู้นี้จะสามารถทำให้นักวิจัยเลือกสายพันธุ์ไวรัสตัวใหม่ๆ มาพัฒนาเป็นไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ยังไม่มีไวรัสเอ็นพีวี ที่สามารถใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชที่อุบัติใหม่ในประเทศไทย การใช้องค์ความรู้ดังกล่าวจะสามารถหาไวรัสเอ็นพีวี ที่มีประสิทธิภาพสูงได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีลองผิดลองถูกเพื่อหาสายพันธุ์เหมือนในอดีต ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วต่อไป” ดร.อนันต์กล่าว

ไวรัสเอ็นพีวีบรรจุขวด

(ซ้ายไปขวา)  ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นายเอกราช เครื่องพนัด และนายสัมฤทธิ์ เกียววงษ์



นายเอกราช เครื่องพนัด




กำลังโหลดความคิดเห็น