xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รัฐบาลสุมไฟ...หมอกควันภาคเหนือ?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุปดสัปดาห์ - ปัญหาฝุ่นควันไฟป่าในภาคเหนือเรื้อรังมานานนับ 10 ปี คุกรุ่นวนเวียนเป็น “ฤดูหมอกควัน” ก่อมลพิษทางอากาศค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงต่อเนื่อง ยังคงเป็นปัญหารุนแรงแม้ยกระดับเป็น “วาระแห่งชาติ” รัฐบาลก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ทั้งนี้ ในปี 2563 ปัญหาหมอกควันไฟป่าในภาคเหนือมาเร็วกว่าทุกๆ ปี และจะมีระยะยาวนานกว่าปกติ ตั้งแต่ เดือน ธ.ค. 2562- พ.ค. 2563 เนื่องจากชาวบ้านเร่งการเผาให้เร็วขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงห้ามเผาของรัฐฯ ที่กำหนดมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการเผาในที่โล่งทุกชนิด ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. - 30 เม.ย. 2563

นับเป็นประกาศเร่งด่วน เพื่อลดปัญหาจากการเผาในที่โล่งที่มีเพิ่มมากขึ้น โดยประกาศดังกล่าวอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15, 21, 22 และ 29 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 กำหนดให้พื้นที่จังหวัดทั้งหมดเป็นเขตควบคุมการเผาในที่โล่งทุกชนิด ในเขตพื้นที่การเกษตร หรือการเผาในเขตทาง

รวมทั้ง การจุดไฟเพื่อหาของป่า ล่าสัตว์ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยเด็ดขาด ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น จะมีโทษความผิดตามมาตรา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ในกรณีที่เผาพื้นที่ป่าและเขตอุทยาน จะถูกจับกุมและดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 - 2,000,000 บาท ระวางโทษจำคุก 3 เดือน - 20 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ (ขึ้นอยู่กับฐานความผิดที่กำหนดไว้ในกฎหมาย)

การเร่งการเผาให้เร็วขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงห้ามเผาของรัฐฯ ทำให้ตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา จ.เชียงใหม่ เกิดฝุ่นควันคลุมทึบ นอกจากนี้ ภาพถ่ายดาวเทียมพบ จุดความร้อน (hotspot) จำนวนมากซึ่งเกิดจากการเผาไร่เผาป่าอย่างหนัก ในพื้นที่แถบภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ นครสวรรค์ และกำแพงเพชร

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมา และ กัมพูชา ก็พบจุดความร้อนไม่ต่างจากไทย ซึ่งด้วยทิศทางการเคลื่อนที่ของอากาศ กระแสลมใต้ได้พัดพาฝุ่นควันปกคลุมภาคเหนือตอนบน ทำให้เมืองไทยรับผลกระทบจากฝุ่นควันหนาแน่นขึ้น ส่งผลให้ค่าฝุ่นพิษ PM 2.5 พุ่งทะยานปกคลุมพื้นที่เชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง

นอกจากนี้ ปัญหาฝุ่นควัน จ.เชียงใหม่ ยังมีผลมาจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็น “แอ่ง” เมื่ออากาศนิ่งทำให้เกิดฝุ่นควันสะสมจนมีค่าฝุ่นที่เกินมาตรฐาน

อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่าสาเหตุของปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ภาคเหนือ หลักๆ เกิดการเผาในที่โล่งช่วงฤดูแล้ง ในพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ป่า โดยเฉพาะการเผา “ข้าวโพด” และ “อ้อย”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยหนึ่งในการเกิดเร่งการเผาในที่โล่งสู่ปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือ เป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวรัฐบาลหลายยุคที่ผ่านมา ตั้งแต่ ปี 2549 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีนโบายส่งเสริมการปลูก “ข้าวโพด” เปิดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลายล้านไร่ และทุกปีหลังเก็บเกี่ยวช่วงหน้าแล้ง เปลือกและซังข้าวโพดจะถูกเผาทิ้งก่อให้เกิดควันจากการเผาไหม้

ขณะที่ ช่วงปี 2557 - 2558 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า (Roadmap) ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย สนับสนุนเกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะข้าวโพดที่ใช้น้ำน้อยกว่า และได้ผลผลิตดีกว่า เพื่อทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง ลดการใช้น้ำ และลดปริมาณข้าวล้นตลาด

เช่นเดียวกับ “อ้อย” ข้อมูลจากรายงานของ ThaiNGO ระบุว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ได้ออกแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำตาล ในปี 2558 คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) มีมติเห็นชอบร่างแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย 10 ปี (พ.ศ.2558 - 2569) มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ปลูก 6 ล้านไร่ และโรงงานน้ำตาลในภาคอีสาน จาก 20 โรงงาน เป็น 30 โรงงาน หรือมากกว่านั้น ภายในปี 2569

ทำให้พื้นที่เพาะปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปี 2556 ไทยมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยอุตสาหกรรมทั้งหมด 3.78 ล้านไร่ ปี 2558 ขยายเป็น 4.4 ล้านไร่

อ้อย กลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ นอกเหนือจากข้าวนาปีและข้าวนาปรัง ยกตัวอย่าง จ.นครสวรรค์ มีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยโรงงานอยู่ในลำดับต้นๆ ของประเทศ พื้นที่ปลูกอ้อยครอบคลุมถึง 14 อำเภอ จากทั้งหมด 15 อำเภอ ซึ่งปลายเดือน ธ.ค. เป็นช่วงของฤดูเก็บเกี่ยว เกษตรกรจะเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ทันภายในฤดูปิดหีบอ้อยราวเดือน เม.ย.

สำหรับการเก็บเกี่ยวอ้อยสามารถทำได้ 2 วิธี วิธีแรก คือ การตัดอ้อยสด และ วิธีที่ 2 คือ การเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว ที่เรียกว่า “อ้อยไฟไหม้” ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 60 % ของปริมาณอ้อยทั้งหมด อ้อยไฟไหม้ตัดง่ายกว่า รายได้ดีกว่าไม่ต้องเสียเวลาลอกกาบใบ ตัดได้มากกว่าอ้อยสด 2 เท่า

ดังนั้น แม้ภาครัฐรณรงค์ลดการเผา จึงยังคงมีการเผาอ้อยในหลายพื้นที่ ก่อเกิดปัญหามลพิษหมอกควัน ส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เกินมาตรฐานส่งผลต่อสุขภาพประชาชนคนไทยสะท้อนว่าปัญหาส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปลูกพืชเชิงเดี่ยวตามนโยบายรัฐป้อนอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาหมอกควันไฟป่าภาคเหนือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมมอบนโยบายเตรียมความพร้อม และรับมือสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ปี 2563 สั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ควบคู่กับการเข้มงวดในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

มุ่งเน้นหยุดการเผาและควบคุมไม่ให้ปริมาณฝุ่นละอองสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยกระทรวงมหาดไทยของ “บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา จะเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องติดตามสถานการณ์ สั่งการป้องกัน และควบคุมการเผาในจังหวัดอย่างเคร่งครัด หากฝุ่นละอองสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ให้ประกาศห้ามเผาโดยทันที จัดระเบียบการเผาอย่างเป็นระบบให้ทยอยเผาในปริมาณที่ฝุ่นละอองไม่เกินมาตรฐาน สนับสนุนการลาดตระเวนและดับไฟทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศ

จะเห็นว่ารัฐบาลมีแนวทางแก้ปัญหาดำเนินการแบบเฉพาะหน้า เน้นการควบคุมป้องกันที่ปลายเหตุซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศได้อย่างยั่งยืน

ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สะท้อนถึงปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทย ความว่า ปัญหาที่คนไทยกำลังประสบอยู่นี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มีสาเหตุหลักมาจากการวางยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ จนละเลยการปกป้องสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพลเมือง

“นโยบายการส่งเสริมการเกษตรของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อป้อนอุตสาหกรรม ถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดวิกฤตมลพิษฝุ่น PM2.5 ในขณะนี้ ดังนั้นภาครัฐจึงควรปรับปรุงนโยบายด้านการเกษตรเสียใหม่ โดยส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกพืชในที่ที่เหมาะสม มีการใช้เทคโนโลยีในการทำเกษตรเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้รัฐบาลควรที่จะออกนโยบายให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในการเปลี่ยนผ่านวิถีการผลิตให้มีความทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งพิจารณาแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า คือ การแก้ปัญหาในระดับนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการปลูก “พืชเชิงนิเวศ” แทนที่ “พืชเชิงเดี่ยว” เพื่อเป็นการพึงพิงเกื้อกูลสร้างความสมบูรณ์ผืนป่า

ศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าโครงการวิจัยการติดตามและประเมินภาวะหมอกควันเพื่อการบริหารจัดการ ภายใต้โครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน : Haze Free Thailand เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยกลุ่มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการภัยพิบัติ เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว ความว่า

“จะต้องมีการจำกัดพื้นที่ในการปลูกพืชเชิงเดี่ยวออกจากพื้นที่ป่าธรรมชาติ บริเวณพื้นที่สูงชันสุ่มเสี่ยงต่อไฟป่า ควรระบุไว้เลยว่าไม่ควรปลูกพืชเชิงเดี่ยว ถ้าจะทำการเกษตรในพื้นที่ป่าก็ต้องเป็นเกษตรกรรมเชิงนิเวศ เป็นพืชที่เอื้อต่อระบบนิเวศ ควบคุมไฟป่า อาศัยอยู่ร่วมกับป่าอย่างกลมกลืน พื้นที่ป่า ป่ากันชนจะต้องมีการคิดค้นเรื่องพืชที่หยุดความชื้น หยุดยั้งไฟ เช่น ต้นกล้วย ที่มีความชื้น”

สำหรับสถานการณ์หมอกควันไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ บัณรส บัวคลี่ ตัวแทนจากภาคประชาชนจากเครือข่ายฮักเจียงใหม่ กล่าวว่าเกิดขึ้นมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่ตื่นตัวกันเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง หลังจากนั้นก็ลืมกันไป ในทางปฏิบัติต้องมีการแก้ไขระยะยาวด้วย พื้นที่การเกษตรที่ติดกับพื้นที่ป่า ควรปรับเปลี่ยนเป็นผสมผสาน หน่วยงานส่งเสริมเกษตรต้องเข้ามาสนับสนุน

“ที่เป็นปัญหามาก คือ ไร่ข้าวโพดมีการเผา ซึ่งก็ไม่รู้อีกว่าใครเป็นคนเผาและลุกลามเข้าไปในป่า ผมเห็นว่าพื้นที่เกษตรใกล้เขตป่า ควรปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรรูปแบบเชิงเดี่ยว หันมาปลูกสวนผลไม้ เช่น ลำไย ลิ้นจี่ เพื่อให้พื้นที่เหล่านี้เป็นแนวป้องกันไฟภายในตัว”

ปัญหาหมอกควันไฟป่าส่วนหนึ่งมาจากนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวของรัฐ โดยเฉพาะ “ข้าวโพด” และ “อ้อย” ทำให้เกิดปัญหาการเผาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ลุกลามเป็นวิกฤตฝุ่นควันไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ

ท้ายที่สุด รัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนอย่างไร...ประชาชนจับตาดูอยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น