เอเอฟพี – นักวิจัยจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อเร่งรัดพัฒนาวัคซีนต่อสู้การระบาดของไวรัสโคโรนาที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 800 คนในจีน และผู้ติดเชื้ออีกกว่า 37,000 คนในกว่า 20 ประเทศ นับจากที่เริ่มต้นระบาดเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยทีมจากออสเตรเลียคาดหวังประสบความสำเร็จภายใน 6 เดือน
ปกติแล้วการคิดค้นวัคซีนใหม่ต้องใช้เวลานานหลายปี และเกี่ยวข้องกับกระบวนการยาวนานในการทดสอบกับสัตว์ การทดลองทางคลินิกกับคน และการอนุมัติจากหน่วยงานราชการ
แต่ขณะนี้ ทีมผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากกำลังพัฒนาวัคซีนต่อสู้ไวรัสอู่ฮั่นแข่งกับเวลา โดยได้รับการสนับสนุนจากแนวร่วมระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายในการต่อสู้กับโรคใหม่ๆ ที่อุบัติขึ้น และนักวิจัยออสเตรเลียหวังว่า วัคซีนต้านไวรัสอู่ฮั่นจะพร้อมใช้งานภายใน 6 เดือน
เคธ แชปเพลล์ นักวิจัยอาวุโสที่เป็นส่วนหนึ่งของทีมผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย กล่าวว่า แม้สถานการณ์กดดันมาก แต่พวกเขาเบาใจขึ้นบ้างที่รู้ว่า มีผู้เชี่ยวชาญอีกหลายทีมกำลังมุ่งมั่นในภารกิจเดียวกัน และหวังว่า หนึ่งในทีมเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จและสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสอู่ฮั่นได้
กระนั้น กรอบเวลา 6 เดือนยังดูเหมือนช้ามากเมื่อเทียบกับข้อเท็จจริงที่ว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้คร่าชีวิตผู้ป่วยเกือบวันละร้อยคนในจีน
ความพยายามในการพัฒนาวัคซีนนำโดยกลุ่มโคลิชัน ฟอร์ เอพิเดมิก พรีแพร์เนสส์ อินโนเวชันส์ (เซพี) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 เพื่อให้การสนับสนุนเงินทุนสำหรับการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพขณะที่โรคอีโบลาระบาดในแอฟริกาตะวันตกที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 11,000 คน
ริชาร์ด แฮตเชตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เซพี เผยว่า ขณะนี้ได้อัดฉีดเงินทุนหลายล้านดอลลาร์ให้โครงการ 4 แห่งทั่วโลก โดยคาดหวังใช้เทคโนโลยีใหม่ในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสอูฮั่นที่สามารถเริ่มต้นทดสอบทางคลินิกได้ในเวลาเพียง 16 สัปดาห์
รายงานระบุว่า เคียวแวค บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ของเยอรมนี และโมเดอร์นา เทอราพิวติกส์ของอเมริกา กำลังพัฒนาวัคซีนโดยอิงกับ “เมสเซนเจอร์ อาร์เอ็นเอ” หรือคำสั่งในการผลิตโปรตีนในร่างกาย ขณะที่ไอโนวิโอของอเมริกา กำลังใช้เทคโนโลยีที่อิงกับดีเอ็นเอ
อุย เอง อ็อง รองผู้อำนวยการโครงการโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ของ ดุ๊ค-เอ็นยูเอส เมดิคัลสกูล ในสิงคโปร์ อธิบายว่า วัคซีนที่อิงกับดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอใช้การถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสเพื่อกระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายผลิตโปรตีนแบบเดียวกับที่พบบนพื้นผิวของเชื้อโรค จากนั้น ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะรับรู้โปรตีนนั้นและพร้อมค้นหาและโจมตีเมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย
ส่วนทีมนักวิจัยออสเตรเลียกำลังใช้เทคโนโลยี “molecular clamp” ที่นักวิจัยของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์คิดค้นขึ้นที่ช่วยให้สามารถพัฒนาวัคซีนใหม่ๆ อย่างรวดเร็วโดยอิงกับลำดับดีเอ็นเอของไวรัสเท่านั้น
ด้านนักวิจัยฝรั่งเศสในสถาบันปาสเตอร์กำลังดัดแปลงวัคซีนโรคหัดมาใช้กับไวรัสโคโรนา แต่ไม่คิดว่า จะพร้อมใช้งานภายใน 20 เดือนนี้ ขณะเดียวกัน ศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคของจีนได้เริ่มพัฒนาวัคซีนแล้วเช่นเดียวกัน
รองผู้อำนวยการฯ ระบุว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงกับประโยชน์ในการอนุมัติการใช้วัคซีน และหากมีสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กระบวนการนี้จะถูกเร่งรัดให้เร็วขึ้น แต่สำทับว่า หากสถานการณ์ดีขึ้น อาจยืดกระบวนการพัฒนาและอนุมัติวัคซีนออกไป
สำหรับขณะนี้ที่ยังไม่มีวัคซีนต้านไวรัสอู่ฮั่น แพทย์บางคนกำลังทดลองใช้ยาต้านเอชไอวีร่วมกับยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่เพื่อรักษาผู้ติดเชื้อ แต่ยังไม่มีข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ว่า วิธีนี้มีประสิทธิภาพหรือไม่
นอกจากนั้นที่สุดแล้ว นักวิจัยอาจพบสถานการณ์เดียวกับระหว่างการระบาดของไวรัสโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) ในปี 2002-2003 ที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 800 คนทั่วโลก ซึ่งการระบาดจบลงก่อนที่จะพัฒนาวัคซีนสำเร็จ
ออง ซิว ฮวา ผู้อำนวยการอาคิวเมน รีเสิร์ช แลบอราทอรีส์ บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพในสิงคโปร์ ยืนยันว่า ความพยายามในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ควรดำเนินต่อไปแม้การระบาดจบสิ้นแล้วเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต