xs
xsm
sm
md
lg

นักระบาดวิทยาเตือน “มาตรการห้ามเที่ยวบิน” ไม่ประกันว่าจะหยุดการระบาดเชื้อไวรัสฯ ย้ำระบบสุขภาพในประเทศสำคัญสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แอร์ไชน่า กำลังลดเที่ยวบินไปยังสหรัฐฯ และเสนอเที่ยวบินพิเศษเนื่องจากมาตรการจำกัดคนที่เดินทางจากจีนมายังสหรัฐฯ (แฟ้มภาพ เอพี)
เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ - สายการบินโลกมากกว่า 20 รายได้ออกมาตรการระงับหรือลดเที่ยวบินไปยังหรือออกจากประเทศจีนนับจากสถานการณ์ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ร้อนแรงขึ้น นักระบาดวิทยาขององค์การอนามัยโลก (ฮู) ได้ออกมาชี้ว่ามาตรการห้ามเที่ยวบินฯ ดังกล่าวไม่ได้ประกันว่าจะสกัดเชื้อไวรัสโคโรนาแพร่กระจายเข้ามายังดินแดน

นายเดวิด เฮย์มานนส์ (David Heymann) นักระบาดวิทยา หัวหน้าปฏิบัติการควบคุมการระบาดของไวรัสซาร์ส (ปี 2002-03) ประจำ องค์การอนามัยโลก แถลงเมื่อวานนี้ (4 ก.พ.) ที่ชัทแธมเฮาส์ ซึ่งเป็นคลังสมองด้านนโยบายระหว่างประเทศในกรุงลอนดอน เกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีศูนย์กลางระบาดที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน

นายเดวิด เฮย์มานนส์ กล่าวว่า “เงื่อนไขเขตแดนไม่อาจที่จะหยุดการระบาดเชื้อโรค คุณอาจจะพุ่งเป้าไปที่พรมแดน กิจกรรมใดๆ ที่จะช่วยสกัดบางสิ่งรุกล้ำเข้ามาในดินแดนหรือช่วยประชาชนหนีรอดจากสิ่งที่ไม่ปรารถนา”
“ผู้คนต่างเชื่อกันว่าการปิดกั้นการคมนาคมทางอากาศจะหยุดการแพร่กระจาย แต่ถ้าเกิดมีผู้โดยสารที่ติดเชื้อฯมาเปลี่ยนเครื่องบินในประเทศล่ะ เชื้อโรคก็อาจเล็ดรอดเข้ามาในประเทศของคุณได้”

กลุ่มประเทศจำนวนหนึ่งรวมทั้งสหรัฐอเมริกาได้เมินคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และใช้มาตรการห้ามการเดินทาง

กลุ่มชาวต่างชาติที่เดินทางไปยังประเทศจีนในช่วง 14 วันก่อนมายังสหรัฐฯ จะไม่ได้รับอนุญาตเข้าประเทศ พลเมืองอเมริกันที่เดินทางกลับจากมณฑลหูเป่ยจะถูกกักตัวเพื่อดูอาการเป็นเวลาสองสัปดาห์

แต่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญในชัทแธมเฮ้าส์กล่าวว่าสิ่งสำคัญกว่านี้ที่จะช่วยหยุดการระบาดของเชื้อโรคคือระบบรักษาสุขภาพของประเทศที่ได้มาตรฐานสากลและแข็งแกร่ง เพื่อที่จะสามารถติดตามกลุ่มผู้ป่วยได้อย่างท่วงทัน

“เชื้อไวรัสจะยังระบาดต่อไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับระบบป้องกันที่มีประสิทธิภาพภายในดินแดนของแต่ละประเทศ” เฮย์มานนส์ ผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกัน กล่าว

โรเบิร์ต เยทส์ (Robert Yates) หัวหน้าหน่วยนโยบายสุขภาพโลกแห่งชัทแธมเฮาส์ เผยว่ากลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงเกิดการระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนาอย่างรวดเร็ว ได้แก่ ประเทศในเอเชียใต้ อย่างบังกลาเทศ และอินเดีย หรือกลุ่มชาติแอฟริกา เนื่องจากรัฐบาลในประเทศเหล่านี้จัดงบประมาณด้านสุขภาพไว้ไม่มาก

กลุ่มประเทศอย่างประเทศไทยได้เพิ่มการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขก็จะมีการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโรคได้ดีกว่า

สำหรับในประเทศจีน การเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ฟรีมีอัตราสูงขึ้นจากช่วงที่ไวรัสซาร์สระบาด ซึ่งในตอนนั้นประชาชนจีนที่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขมีเพียง 1 ใน 3 เทียบกับปัจจุบันชาวจีน 96 เปอร์เซ็นต์เข้าถึงบริการสาธารณสุขกันแล้ว

ด้วยการขยายบริการสาธารณสุขจีนดังกล่าวจะช่วยให้เชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ที่กำลังระบาดทำสถิติอยู่ในขณะนี้ยุติลงโดยเร็ว ในวันที่ 29 ม.ค. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจีนเผยตัวเลขผู้ติดเชื้อฯ ในแผ่นดินใหญ่ได้แซงหน้าตัวเลขฯในช่วงซาร์สระบาด จากข้อมูลนับถึงเมื่อวันอังคาร (4 ม.ค.) กรณีผู้ติดเชื้อฯ ในจีนมีกว่า 20,700 ราย และกรณีเสียชีวิต เท่ากับ 425 ราย

ขณะที่ชาวฮ่องกงกำลังดิ้นรนเสาะหาหน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อโรค นายเฮยมานนส์ชี้ว่า การสวมหน้ากากอนามัยก็เป็นวิธีการที่ได้ผลดีในการป้องกันไวรัส อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอที่จะพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าการสวมหน้ากากอนามัยช่วยป้องกันประชาชนจากการติดเชื้อโรค

“เมื่อคุณป่วย หน้ากากอนามัยช่วยคุณไม่ให้ไปไอหรือจามใส่หน้าผู้อื่น แต่มันช่วยป้องกันคุณจากการติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพมากหรือไม่นั้นก็ไม่แน่เสมอไป เพราะเมื่อกินอาหารก็ต้องถอดหน้ากากอนามัย บางทีคุณอาจสวมมันไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ดังนั้นเมื่อหน้ากากเปียกและมีคนมาจามใส่หน้ากาก เชื้อไวรัสก็สามารถเล็ดลอดเข้ามาได้”

ด้านสำนักงานสุขภาพแห่งอังกฤษแถลงผลจากการถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) โดยใช้ตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อฯ ชาวอังกฤษสองราย ผลที่ได้ในขณะนี้มิได้บ่งชี้ว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้กลายพันธุ์และแพร่กระจายเชื้ออย่างร้ายกาจอย่างที่คิด


กำลังโหลดความคิดเห็น