เกิดจากการรวมกลุ่มของวิสาหกิจชุมชนที่มีความชื่นชอบในการปลูกมะม่วงพันธุ์ดีเพื่อเป็นการส่งออกทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนรักมะม่วงสามารถต่อยอดให้กลายเป็นการส่งออกที่ก้าวกระโดดพร้อมเตรียมแผนการทำมะม่วงแปรรูปเพื่อส่งออกไปยังตลาดจีน
นายภูชิต อุ่นเที่ยว วิสาหกิจชุมชนคนรักมะม่วง จังหวัด อุดรธานี เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการทำไร่มะม่วงนั้นเกิดจากการส่งต่อจากบรรพบุรุษมาอย่างช้านาน เมื่อถึงยุคที่ตนต้องเข้ามาดูแลและต่อยอด จึงรวมกลุ่มเกษตรกรจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนขึ้นเพื่อขยายฐานลูกค้าและสามารถทำให้มะม่วงพันธุ์ต่างๆ ในท้องถิ่นสามารถเติบโตและตีตลาดได้เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากการขายมะม่วงในช่วงก้อนหน้านี้จะเป็นการขายเฉพาะในประเทศ ตนจึงมีความต้องการจะพัฒนาและทำให้มะม่วงมีการขยายสู่ต่างประเทศ
ทั้งนี้สำหรับการส่งออกมะม่วงไปยังต่างประเทศนั้นได้แก่ ประเทศ เกาหลี จีน เวียดนาม และลาว โดยเริ่มส่งออกมะม่วงมาตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้สำหรับมะม่วงที่ทำการส่งออกและเป็นผลผลิตจากฝีมือวิสาหกิจชุมชนมีตั้งแต่พันธุ์มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 พันธุ์มะม่วงฟ้าลั่น พันธุ์เขียวเสวย มะม่วงแก้ว โดยปลูกบนพื้นที่รวมกันทั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั้งหมด 7,000 ไร่
นอกจากนี้ยังได้มีการโปรโมทผ่านช่องทางโซเชียลต่างๆ เช่น เฟสบุ๊ก ไลน์ เป็นต้น รวมถึงมีหน่วยงานราชการต่างๆ เข้ามาสนับสนุนอีกหนึ่งช่องทาง ทั้งนี้ยังมีการทำการตลาดในรูปแบบของการติดต่อโดยตรงกับบริษัทส่งออก โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งราคาการจำหน่ายจะขึ้นอยู่กับกลไกการตลาดในแต่ละช่วงของเดือน โดยจะเริ่มจำหน่ายในช่วงเดือน ตุลาคมจนถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งในเดือนตุลาคมจะมีราคาขายที่กิโลกรัมละ 100-105 บาท
สำหรับการพัฒนาและขยายช่องการดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องมีเงินหมุนเวียน ซึ่งนายภูชิตได้มีการดำเนินเรื่องขอยื่นกู้สินเชื่อกับทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. และได้รับการสนับสนุนสำหรับการค้ำประกันสินเชื่อจาก บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. เริ่มมาตั้งแต่ปี 2552 ปัจจุบันมีวงเงินประมาณ 7 ล้านบาท
ทั้งนี้เมื่อได้ ธกส. และ บสย. เข้ามาดูแลและสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปพัฒนาในส่วนของการปรับปรุงปัจจัยการผลิตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องการการพัฒนามะม่วงให้สามารถผลิตได้ทันตามออเดอร์ลูกค้าและทันตามฤดูกาล ซึ่งเมื่อหลังจากนำเงินทุนหมุนเวียนมาพัฒนาแล้วสิ่งที่เปลี่ยนแปลง คือ สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี สำหรับกำลังการผลิตในช่วงฤดูกาลนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ดี นอกจากนี้ในส่วนของการส่งออกทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจะมีส่งออกสัปดาห์ละ 2 วัน
นอกจากนี้ผลตอบรับจากลูกค้าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและต่อเนื่อง เหตุเพราะมะม่วงของทางวิสาหกิจชุมชนนั้นได้รับมาตรฐาน GAP ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นและสามารถซื้อผลผลิตจากวิสาหกิจชุมชนได้โดยไม่ต้องกังวล โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มารวบรวมผลผลิตเพื่อทำการส่งออก ทำให้มีหน่วยงานต่างๆ สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตามในอนาคตได้มีการวางแผนที่จะต่อยอดและพัฒนาธุรกิจวิสาหกิจชุมชนคนรักมะม่วงในรูปแบบของการทำมะม่วงแปรรูป โดยทำแบบอบแห้ง หรือ ฟรีซดราย เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งประเทศที่จะทำการส่งออกไปตีตลาดหลักๆ คือ ประเทศจีน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเผยแพร่และขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงสามารถทำให้มะม่วงพันธุ์ไทยได้โลดแล่นสู่ต่างประเทศได้ในอนาคต
Facebook : ภูชิต อุ่นเที่ยวบทความโดย :บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) (Link : www.tcg.or.th)