“คลัง” เผย “ครม.” มีมติเพิ่มทุนใหม่ให้ ธ.ก.ส. อีก 2 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินภารกิจเป็นธนาคารพัฒนาชนบท ซึ่งจะส่งผลให้ ธ.ก.ส. มีทุนใหม่ที่เพิ่มขึ้นเป็น 8 หมื่นล้านบาท จากทุนเดิมที่เคยมีอยู่ 6 หมื่นล้านบาท และยังสามารถปล่อยสินเชื่อได้ 12 เท่าของทุนที่เพิ่มขึ้น โดยคิดเป็นมูลค่าสินเชื่อให้เกษตกรที่เพิ่มขึ้นรวม 2.4 แสนล้านบาท
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 เห็นชอบการเพิ่มทุนเรือนหุ้นของ ธ.ก.ส. จากเดิม 60,000 ล้านบาท เป็น 80,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินภารกิจเป็นธนาคารพัฒนาชนบท ให้สอดคล้องต่อทิศทางและนโยบายของภาครัฐตามกรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านการสร้างรายได้และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และขยายงานด้านการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ทั้งด้านการอำนวยสินเชื่อ และการทำงานในท้องถิ่นร่วมกับเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแนวนโยบายของกระทรวงการคลัง ซึ่งให้ความสำคัญต่อการดูแลเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และขับเคลื่อนประเทศในระยะต่อไป
ความมั่นคงทางการเงินของ ธ.ก.ส. ที่แข็งแกร่งขึ้นนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ ธ.ก.ส. สามารถผลักดันภารกิจได้อย่างเต็มศักยภาพตามภารกิจหลักในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันภาคเกษตรของไทย รวมถึงการเพิ่มรายได้และสร้างอาชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยและขยายบทบาทของ ธ.ก.ส. ให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างครบวงจรมากขึ้น ทั้งด้านการอำนวยสินเชื่อและการทำงานร่วมกับเครือข่าย เช่น การส่งเสริมให้เกิดเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Smart Farmer การพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร (Small and Medium Agriculture Enterprises : SMAEs) วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม กองทุนหมู่บ้าน สถาบันการเงินประชาชน และสหกรณ์การเกษตร การนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มผลิตผล แปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนและร้านค้าชุมชน ตลอดจนสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจแนวใหม่โดยเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวชุมชน รวมถึงการดูแลให้ความช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางเมื่อเกิดเหตุภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ
การเพิ่มทุนในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ ธ.ก.ส. สามารถขยายบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน และสังคม โดยจะทำให้ ธ.ก.ส. สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 12 เท่าของทุนที่เพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อที่สามารถเพิ่มขึ้น 2.4 แสนล้านบาท ส่งผลให้มีเกษตรกรมีเงินทุนเพิ่มขึ้น ระบบเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งขึ้น และกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคเกษตรให้ขยายตัวสูงขึ้น