xs
xsm
sm
md
lg

“ฮัก ณ เชียงราย” พายสับปะรดภูแลทั้งลูก ต่อยอดไอเดียแอปเปิ้ลพายทั้งลูกญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างมาก ด้วยเหตุนี้เอง เป็นที่มาของไอเดียการแปรรูปสับปะรดในรูปแบบต่างๆ แต่ที่ดูเหมือนจะฮือฮา คือ การนำสับปะรดภูแลทั้งลูกมาทำเป็นพายสับปะรด ไอเดียของ “นางสาวปริศนา คำขอด” หรือ “นุ๊ก” เจ้าของร้านโฮมเมดเบเกอรี่ ชื่อว่า ฮัก ณ เชียงราย

นางสาวปริศนา คำขอด เจ้าของโฮมเมดเบเกอรี่ ฮัก ณ เชียงรา
จากไอเดีย “พายแอปเปิ้ลทั้งลูก” ญี่ปุ่น สู่ “พายสับปะรดภูแลทั้งลูก” ครั้งแรกของไทย



นางสาวปริศนา คำขอด เจ้าของโฮมเมดเบเกอรี่ ฮัก ณ เชียงราย เล่าว่า การทำพายสับปะรดในครั้งนี้ เธอได้แรงบันดาลใจมาจากรายการดูให้รู้ ที่มีพิธีกร คือ คุณฟูจิเซ็นเซ ที่พาไปรู้จักกับไอเดียของผู้ประกอบการในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่งได้พาไปรู้จักกับแอปเปิ้ลพาย เป็นการนำแอปเปิ้ลทั้งลูกมาทำพาย ได้มาเป็นพายแอปเปิ้ลทั้งลูก ซึ่งครั้งนั้น เกิดไอเดียว่าที่เชียงรายมีสับปะรดภูแล ซึ่งขนาดใกล้เคียงผลแอปเปิ้ลถ้าอย่างนั้น นำสับปะรดภูแลมาทำเป็นพายสับปะรดทั้งลูกได้





โดยประกอบกับในช่วงนั้น เดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม มีผลผลิตสับปะรดออกมามากจนล้นตลาด ทำให้ราคาตกต่ำมาก จากไร่เหลือเพียงกิโลกรัมละ 1-2 บาทเท่านั้น ครั้งนั้น ผู้ว่าฯ “ณรงค์ศักดิ์” ซึ่งช่วงนั้นรับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ก็มาลงพื้นที่และได้พบกับตนเอง ซึ่งตอนนั้นเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานของจังหวัดเชียงราย ท่านผู้ว่า “ณรงค์ศักด์” มาปรึกษาว่า จะช่วยเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดได้อย่างไร ให้ช่วยคิดว่าจะเพิ่มมูลค่าสับปะรด ได้อย่างไรให้แปลกแตกต่างจากที่มีในท้องตลาด ก็กลับมาคิดที่บ้าน ว่าจะทำอะไรดีที่จะใช้สับปะรดภูแลได้ทั้งลูก ก็นึกได้ถึงรายการดูให้รู้ ที่ทำแอปเปิ้ลพาย กลับไปย้อนดูทางยูทูป ดูวนไปมาแบบนั้นอยู่ 12 รอบ เพื่อดูให้รู้ว่าเขาทำอย่างไร และถ้าใช้สับปะรดจะทำได้ไหมและรสชาติจะออกมาเป็นอย่างไร แป้งที่เขาใช้ หรือ ไข่ใช้เป็นแบบไหน ต้องดูให้ละเอียด ทุกขั้นตอน ซึ่งพอลงมือทำก็ไม่ได้ง่าย ลองผิดลองถูกอยู่หลายรอบกว่าจะค้นพบหาวิธีการทำพายสับปะรดทั้งลูกมาได้เป็นผลสำเร็จ







เพิ่มมูลค่าสับปะรด ช่วยเกษตรกรช่วงราคาตก

“ปริศนา” บอกว่า หลังจากที่หลายคนที่ได้ชิมต่างก็ชมบอกว่าเราสามารถต่อยอดออกมาได้ดีมาก และเหมือนเปลี่ยนความคิดของเราไปเลย ที่เดิมกลัวว่า จะทำได้เหรอมันจะยากไหม พอทำได้ครั้งนี้ เหมือนเปลี่ยนความคิด ที่เรามักจะมองว่าคนไทยอย่างเราก็ทำอะไรที่ประเทศอื่นๆ เขาทำได้เหรอ วันนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า คนไทยก็สามารถทำได้ถ้าเรามีความตั้งใจ บางครั้งอาจจะทำออกมาได้ดีกว่า


สำหรับพายสับปะรดภูแลทั้งลูก ของ “ปริศนา” ยังได้เปลี่ยนชีวิตของเธอไปเลย ทำให้คนรู้จักเธอมากขึ้น และทางจังหวัดเชียงราย ยังได้ยกให้พายสับปะรดภูแลทั้งลูกของคุณนุ๊ก เป็นผลิตภัณฑ์ประจำจังหวัด เพราะช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดได้มีช่องทางการขายมากขึ้น ทำให้ในช่วงที่ผลผลิตออกมามากๆ ขายไม่ได้ก็ไม่ต้องเอาไปเททิ้ง แต่สามารถนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าสับปะรดภูแลที่โลละไม่กี่บาทให้มีราคาสูงขึ้นได้หลายเท่าตัว







นอกจาก พายสับปะรดภูแลทั้งลูก "ปริศนา" ได้มีการผลิตภัณฑ์แปรรูปสับปะรดในแบบอื่นๆ เช่น ฟรุตเค้กสับปะรด ฮักนะภูแลปัง ชีสทาร์ตสับปะรดนางแลน้ำผึ้ง สับปะรดกอดกล้วย เป็นต้น ส่วนช่องทางการจัดจำหน่ายมีหลายช่องทาง แต่หลัก คือการขายผ่านออนไลน์ เพราะไม่ได้มีหน้าร้าน และมีการออกบูธ ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ซึ่งได้รับความกรุณาจากหน่วยงานต่างๆ ให้ออกบูทฟรี และมีการวางจำหน่ายในร้านของฝาก ในจังหวัดเชียงราย จำหน่ายใน Lazada Shopee


ในส่วนของยอดขายในปีที่ผ่านมา มีรายได้ประมาณ 1 ล้านบาท โดยมีออเดอร์พายสับปะรด ช่วงไฮซีซันประมาณ 5,000 ชิ้นต่อเดือน แต่ถ้าเป็นช่วงปกติ ขายได้เดือนละ 500 – 1,000 ชิ้นต่อเดือน ซึ่งในแต่ละเดือนเราต้องใช้สับปะรดมากกว่า 1 พันหัว ซึ่งการรับซื้อผลผลิตจะรับซื้อในช่วงที่ผลผลิตออกมามาก และเก็บเอาไว้ เพราะในช่วงหน้าแล้งผลผลิตสับปะรดขาดตลาดบางครั้งราคาพุ่งไปถึงกิโลกรัมละ 80 บาท เป็นราคาที่สูงมาก แบกรับต้นทุนตรงนั้นไม่ไหว เพราะไม่ได้แค่ต้นทุนวัตถุดิบ แต่ต้องจ่ายค่าปอกสับปะรดที่เป็นต้นทุนสูงมากเช่นกัน เนื่องจากต้องใช้คนที่มีความชำนาญที่ปอกออกมาแล้วเหลือเนื้อสับปะรดมาก และสามารถเลือกสับปะรดที่สุกพอดีให้กับเราได้





กระบวนการผลิต พายสับปะรดภูแลทั้งลูก


“ปริศนา” เล่าถึงกระบวนผลิตพายสับปะรด ว่า เริ่มจากการคัดสับปะรดผลที่สุกพอดี และต้องมีขนาดที่ใกล้เคียงกัน และนำสับปะรดมาปอกเปลือกและเอาตาออก หลังจากนั้นนำมาล้างน้ำ 2 น้ำ ก่อนนำไปพักไว้ให้แห้งบนตะแกรง และนำมาเข้าสู่กระบวนการแปรรูป ด้วยการกรองในน้ำเชื่อม ซึ่งเป็นสูตรลับเฉพาะ คุณนุ๊กไม่ได้เปิดเผย และหลังจากผ่านการดองในน้ำเชื่อมเป็นระยะเวลา 1 เดือน ถึงจะนำมาใช้ทพายสับปะรดได้รสชาติที่อร่อยที่สุด ถ้าดองนานกว่านั้น หรือ เร็วกว่านั้น ก็จะไม่ได้รสชาติที่หวานแบบธรรมชาติของสับปะรดแบบนี้ คุณนุ๊ก บอกว่า เทคนิคการดองสับปะรด เป็นเรื่องสำคัญ เพราะต้องดองให้ได้รสชาติใกล้เคียงกับสับปะรดสดให้มากที่สุด ต้องไม่หวานเกินไป และที่ต้องดองเพื่อให้ยืดอายุสับปะรดให้อยู่ได้นานๆ ส่วนกระบวนการอบทำแป้งพาย ก็จะเหมือนกับการทำพายทั่วๆไป







กว่าจะมาเป็น ฮัก ณ เชียงราย ต้นแบบ SME เวที SME STARTUP AWARDS 2019

"ปริศนา" เล่าว่า การทำพายสับปะรด เริ่มขึ้น เมื่อ 11 เดือนที่ผ่านมา เริ่มมาจากปัญหาผลผลิตสับปะรดที่ออกมามากเกินความต้องการของตลาด พอกลับมาบ้านเกิดเราขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเกษตรกร เดิมเปิดร้านกาแฟเบเกอรี่ อยู่ที่ลำพูน แต่ต้องกลับมาดูแลพ่อ แม่ที่เชียงราย ก็ไม่ได้คิดว่าจะเปิดร้าน เพราะตลาดออนไลน์ไปได้ดีกว่าในยุคนี้ ก็เลยเลือกทำออนไลน์ และโชคดีที่มีรายการดูให้รู้ มาถ่าย ทำให้มีคนรู้จักเรามากขึ้น


ด้วยความที่เราตั้งใจทำแต่ของดีๆ ให้ลูกค้า โดยไม่ได้คาดหวังผลกำไรทางธุรกิจอย่างเดียว การที่เรารับผิดชอบต่อผู้บริโภค โดยการไม่ใส่สารกันบูด หรือ สารที่ไม่เป็นอันตราย ทำให้ไม่สามารถยืดอายุได้นานกว่า 25-30 วัน ซึ่งบางครั้งต้องปฏิเสธที่จะรับลูกค้าต่างประเทศที่ติดต่อเข้า ประกอบกับ การที่เรากลับมาบ้านเกิดและตั้งเป้าหมายเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ทำให้หลายองค์กรมองเห็นถึงความตั้งใจ และมอบรางวัล SME STARTUP AWARDS 2019 และอีกหลายรางวัล




ทั้งนี้ ที่หลายๆหน่วยงาน มอบรางวัลให้กับ "ฮัก ณ เชียงราย" ในครั้งนี้ เพราะทางคณะกรรมการมองเห็นว่าเราจะเป็นต้นแบบให้กับ SME และ Startup รายอื่นๆให้หันกลับมาพัฒนาบ้านเกิด ซึ่ง SME และ Startup หลายรายก็มองเห็นเราเป็นต้นแบบตรงนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งรู้สึกภูมิใจและดีใจส่วนช่วยผลักดันให้คนรุ่นใหม่คิดจะกลับบ้าน และหันพัฒนาบ้านเกิด ทั้งที่เราก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นต้นแบบให้กับ SME หรือ Startup ได้ เพราะตอนที่ได้รับรางวัล ตอนนั้นเปิดมาได้แค่เพียง 4-5 เดือนเท่านั้น แต่มีคนมองเห็น สิ่งที่เราทำเป็นต้นแบบได้ก็ดีใจมาก และอยากที่จะทำตรงนี้ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป เพื่อสร้างธุรกิจ และช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็งไปพร้อมๆกัน



โทร. 08-0121-5373













* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น