xs
xsm
sm
md
lg

สสว.ร่วม อย.สวทช.หนุน SME ยกระดับมาตรฐานอาหาร ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่ากว่าร้อยละ 20

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สสว.ร่วมกับ อย.สวทช.เซ็นทรัลแล็บไทย ดำเนินการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหาร โดยความร่วมมือในครั้งนี้คาดว่าสร้างมูลค่าเพิ่มยอดขายให้เอสเอ็มอีไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 20 ส่วน อย.สร้างต้นแบบศูนย์เรียนรู้ด้านการผลิต 55 แห่งใน 50 จังหวัด ชี้ปี 60 มีผู้ประกอบเอสเอ็มอี โอทอป ผ่านการตรวจห้องแล็บของเซ็นทรัลแล็บไทยกว่า 5 แสนตัวอย่าง

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ร่วมกับ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหาร ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (Strong/Regular Level 2561) โดยพัฒนาผู้ประกอบการตั้งแต่กระบวนการผลิตสถานที่ประกอบการ

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ มีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นพี่เลี้ยงให้ผู้ประกอบการตั้งแต่กระบวนการผลิต สถานที่ประกอบการ จนได้รับมาตรฐาน GMP/Primary GMP โดยจะทำงานเชื่อมโยงกับโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม(ITAP) ของ สวทช. ซึ่ง สวทช.จะทำหน้าที่ในการนำนวัตกรรมใหม่มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการให้ได้ผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างสามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้ มีบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือเซ็นทรัลแล็บไทย ซึ่งเป็นแล็บที่มีมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 ในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคด้วย

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวนับเป็นการบูรณาการการทำงานที่ช่วยผลักดัน สนับสนุนส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยคาดว่าจะสามารถสร้างยอดให้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 นับเป็นการพลิก SME ไทยให้ปรับตัวได้ภายใต้การแข่งขันในยุคดิจิทัล และสอดคล้องกับนโยบาย “Thailand 4.0” ของภาครัฐ

ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักด่านอาหารและยา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวต่อว่า ในส่วนของ อย.ได้พัฒนาต้นแบบสถานประกอบการแม่ข่าย Primary GMP และสถานประกอบการผลิตอาหาร จำนวน 55 แห่งจาก 50 จังหวัด เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านสถานที่ผลิตตามเกณฑ์ Primary GMP ในชุมชน สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นได้

สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหารขั้นต้นนั้น จะควบคุมตั้งแต่สถานที่ผลิต กระบวนการผลิต เครื่องมือ อุปกรณ์ การสุขาภิบาล การทำความสะอาด และบุคลากร เป็นเกณฑ์เบื้องต้นในการดูแลสถานที่ผลิตให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดี มีคุณภาพ มาตรฐาน อีกทั้งเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้สามารถส่งออกจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศได้สะดวกขึ้น สำหรับผู้ประกอบการที่พัฒนาระบบการผลิตผ่านตามเกณฑ์จีเอ็มพีขั้นพื้นฐาน สามารถขอเลขสารบบอาหาร หรือเลข อย. ไปแสดงในผลิตภัณฑ์

รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สำหรับโครงการการพัฒนาผู้ประกอบการอาหารที่เป็นต้นแบบสถานประกอบการแม่ข่ายของ อย. ITAP(สวทช.) มีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมระดับชุมชน ให้เป็นสินค้าที่มีมาตรฐานและตรงตามความต้องการของตลาด โดยการผลักดันผลิตภัณฑ์อาหารต้นแบบจากงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ต่อไป

นายจารึก จันทรวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือเซ็นทรัลแล็บไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตสินค้าต้องผ่านการเข้าตรวจทางห้องแล็บเพื่อตรวจวิเคราะห์สารปนเปื้อน หรือสารเคมีตกค้าง สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค และด้วยศักยภาพและได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 มากกว่า 1,000 รายการ รองรับงานทดสอบได้มากกว่า 400,000 ตัวอย่างต่อปี นอกจากนี้ สามารถให้บริการกลุ่มผู้ส่งออก กลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจการเกษตร SMEs OTOP ในปี 2560 จำนวน 500,000 ตัวอย่าง กว่าร้อยละ 71.16 เป็นสินค้ากลุ่มอาหาร


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *



กำลังโหลดความคิดเห็น