xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ผลิตเหล็กเส้นอ้อนรัฐคุมเข้มตั้ง รง.ใหม่-ขยายเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ผลิตเหล็กเส้นวิ่งหารัฐสกัดโรงเหล็กจากจีนที่แห่เข้ามาตั้งหรือซื้อกิจการโรงงานเดิมในไทย

นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการบริหาร บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการเหล็กเส้นในประเทศได้หารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อขอให้ออกมาตรการควบคุมการขยายกำลังผลิตหรือตั้งโรงงานเหล็กเส้นใหม่ เนื่องจากมีโรงงานเหล็กจากจีนได้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตเหล็กเส้นในไทยเพิ่มมากขึ้น หลังจากรัฐบาลจีนได้มีการสั่งปิดโรงงานผลิตเหล็กที่ไม่ได้คุณภาพหรือทำลายสิ่งแวดล้อม คาดว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะมีความชัดเจนในปีนี้

นอกจากนี้ ยังขอให้รัฐชะลอการออกใบอนุญาตการนำเข้าเหล็กเส้นกับบริษัทเอกชนไทยด้วย

ในปีนี้ความต้องการใช้เหล็กในประเทศไทยคาดว่าจะเติบโตขึ้นเล็กน้อยจากปี 2560 ที่มีความต้องการใช้อยู่ที่ 16 กว่าล้านตัน/ปี มาเป็น 17 กว่าล้านตัน/ปี เนื่องจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐได้ชะลอออกไป ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามมีการใช้เหล็กภายในประเทศสูงขึ้นแซงหน้าไทยไปแล้วเพราะต่างชาติได้เข้าไปลงทุนมาก ดังนั้น หากรัฐบาลไทยเร่งผลักดันโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) และอุตสาหกรรม 4.0 ให้ออกมาเป็นรูปธรรมเชื่อว่าความต้องการใช้เหล็กจะโตเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ด้านนายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก กล่าวว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้มีการปรับปรุงมาตรฐานเหล็กเส้นก่อสร้างใหม่ จากเดิมเหล็กเส้นกลม มอก.ที่ 20-2543 และเหล็กข้ออ้อย มอก.ที่ 24-2548 เป็นเหล็กเส้นกลม มอก.ที่ 20-2559 และเหล็กข้ออ้อย มอก.ที่ 24-2559 ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 18 มิ.ย.นี้ โดยมาตรฐานเหล็กเส้นก่อสร้างฉบับใหม่ถือเป็นการยกมาตรฐานคุณภาพเหล็กให้สูงขึ้นและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค  

สำหรับเนื้อหาสำคัญที่เพิ่ม ประกอบด้วย เพิ่มการตรวจสอบและควบคุมค่าเคมีในเนื้อเหล็กอย่างเข้มงวด โดยเพิ่มค่าเคมีที่ต้องตรวจสอบและควบคุมจาก 5 ชนิดเป็น 19 ชนิด เพิ่มชื่อผู้นำเข้าเหล็กเส้นก่อสร้างเป็นตัวนูนลงบนเนื้อเหล็ก เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อกับโรงงานผู้ผลิตที่อยู่ในต่างประเทศ ในกรณีที่เกิดปัญหาในการใช้งาน และบังคับให้ผู้ผลิตแสดงชนิดของเตาหลอมที่ใช้ในการหลอมเหล็กเป็นตัวนูนเพิ่มลงไปบนเนื้อเหล็กทุกเส้น โดยที่ปัจจุบันมีเตาหลอมอยู่ 4 ชนิด ได้แก่ OH, BO, EF และ IF 

ทั้งนี้ เตา OH กับ BO จะเป็นเตาหลอมที่ไม่มีในประเทศไทย ซึ่งเหล็กเส้นที่แสดงสัญลักษณ์เหล่านี้จะเป็นเหล็กที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ทั้งในรูปของสินค้าสำเร็จรูป หรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปที่เรียกว่าเหล็กแท่ง (Billet) ซึ่งจะต้องนำมาผ่านกระบวนการรีดลดขนาดเพื่อเป็นเหล็กเส้นก่อสร้างต่อไป ส่วนเตา IF เป็นเตาที่เพิ่มเข้ามาในมาตรฐานฉบับนี้เป็นเตาที่ใช้กระแสไฟฟ้าในการเหนี่ยวนำเพื่อหลอมเหล็ก ขณะที่เตา EF เป็นเตาหลอมที่ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตเหล็กมาตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน

นายชัยเฉลิม บุญญานุวัตร อุปนายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า กล่าวว่า การผลิตเหล็กเส้นก่อสร้างโดยทั่วไป ไม่ว่าจะใช้เตาหลอมชนิดใดจะใช้เศษเหล็กเป็นวัตถุดิบ ซึ่งเศษเหล็กมักจะมีสารมลพิษเจือปนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นฟอสฟอรัส กำมะถัน โบรอน ฯลฯ ที่ส่งผลต่อคุณภาพและความแข็งแรงของเหล็กเส้น ซึ่งในการหลอมเหล็กด้วยเตา EF ของกลุ่มสมาคมจะมีกระบวนการขจัดสารมลพิษเหล่านี้ออกไป ทำให้เหล็กที่ผลิตออกมามีความสะอาดขึ้น เนื้อเหล็กแน่นจะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจมากยิ่งขึ้นในเรื่องคุณภาพตามมาตรฐานใหม่ ซึ่งราคาขายไม่ต่างจากเดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น