สถาบันอัญมณีฯ เผย CIBJO รายงานพบเพชรสังเคราะห์เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น มีทั้งนำอัญมณีธรรมชาติมาทำเลียนแบบ หรือทำสังเคราะห์ขึ้นมาเลย แนะในการซื้อขายต้องระวัง ควรถามหาใบรับรองก่อน ส่วนพลอย พบปัญหามีการปรับปรุงคุณภาพผ่านการหุง ต้องเรียกหาใบรับรองเพื่อให้รู้ว่าสินค้าผ่านอะไรมาบ้าง
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า ในการประชุมสามัญประจำปีของสมาพันธ์อัญมณีและเครื่องประดับโลก (CIBJO) ได้มีการรายงานและตั้งข้อสังเกตว่าในปัจจุบันพบปริมาณเพชรสังเคราะห์เพิ่มขึ้นในท้องตลาดเป็นอย่างมาก โดยการนำอัญมณีชนิดอื่นที่มีลักษณะคล้ายเพชรมาใช้เลียนแบบเพชร โดยอัญมณีเลียนแบบจะมีทั้งกลุ่มอัญมณีธรรมชาติ เช่น เพทายไร้สี แซปไฟร์ไร้สี และเพชรสังเคราะห์ที่ทำขึ้นมา ซึ่งอัญมณีทดแทนและเพชรสังเคราะห์เหล่านี้มีราคาไม่สูง ผู้บริโภคมักจะซื้อมาใช้ประดับเพื่อความสวยงาม แต่ไม่นิยมเก็บเป็นทรัพย์สิน
“ในปัจจุบันการผลิตเพชรสังเคราะห์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพชรสังเคราะห์ต่ำลงอย่างมาก ทำให้มีผู้นำเพชรสังเคราะห์มาจำหน่ายในตลาดมากขึ้น ซึ่งแม้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่ทำให้มีทางเลือกในการเลือกซื้อได้มากยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องทราบว่าเพชรที่เลือกซื้อนั้นเป็นเพชรแท้ เพชรสังเคราะห์ หรืออัญมณีทดแทน เพราะอาจจะมีปัญหาในภายหลังได้ ซึ่งต้องระวัง” นางดวงกมลกล่าว
สำหรับการซื้อขายเพชร สถาบันอัญมณีฯ ขอแนะนำให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคจะต้องซื้อขายเพชรที่มีการออกใบรับรองถูกต้อง โดยสามารถนำมาตรวจสอบได้ที่สถาบันฯ เพราะมีห้องปฏิบัติการตรวจสอบระดับมาตรฐานสากล สามารถตรวจสอบแยกเพชรธรรมชาติออกจากเพชรสังเคราะห์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และยังมีการออกใบรับรองให้ด้วย ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งกับผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่จะได้สินค้าดีมีคุณภาพ
นางดวงกมลกล่าวว่า ในการซื้อขายพลอยสี พบว่ามีการปรับปรุงคุณภาพโดยการเผาพลอย หรือที่เรียกกันว่าการหุงพลอย ซึ่งเป็นการใช้ความร้อนในการเปลี่ยนสีหรือเพิ่มความสะอาดของเนื้อพลอย ทำให้พลอยสวยงามขึ้น และมีจำนวนมากกว่าพลอยที่ไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพ ซึ่งหายากและมีราคาสูง โดยการซื้อขายพลอยที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพ ผู้ขายต้องระบุให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงความเป็นมาของอัญมณี แต่หากไม่แน่ใจ ทั้งผู้ขาย ผู้บริโภคก็ควรจะนำไปตรวจสอบก่อน เพราะการปรับปรุงคุณภาพอาจจะตรวจด้วยตาเปล่าไม่ได้ ต้องใช้การตรวจสอบผ่านห้องปฏิบัติการ
โดยพลอยที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยการเผามีหลายประเภท เช่น ทับทิม ไพลิน เขียวส่อง บุษราคัม แทนซาไนต์ อะความา-รีน ทัวร์มาลีน และเพทาย และยังมีการย้อมสี การอาบรังสี การใส่สารพอลิเมอร์ ซึ่งวิธีการปรับปรุงคุณภาพในแต่ละแบบขึ้นอยู่กับชนิดของพลอย โดยการย้อมสีเหมาะกับหยก เทอร์ควอยส์ ลาปิสลาซูรี การอาบรังสี เหมาะกับโทแพสสีฟ้า ทัวร์มาลีนสีแดงชนิดรูเบลไลต์ เบริลสีทอง เป็นต้น ส่วนการปรับปรุงคุณภาพด้วยการใส่สารพอลิเมอร์ เช่น น้ำมัน ให้เข้าไปอุดตามรอยแตกร้าวในพลอยเพื่อบดบังรอยแตกและทำให้พลอยสวยขึ้นพบมากในมรกต และหยก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นใจในการซื้อขายอัญมณีและเครื่องประดับ จีไอทีขอแนะนำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าจากร้านที่ได้รับตรารับรอง BWC หรือซื้อด้วยความมั่นใจ โดยปัจจุบันมีร้านค้าที่ได้รับการรับรองแล้วกว่า 100 รายทั่วประเทศ ซึ่งสินค้าที่ซื้อหาจากร้านเหล่านี้ไม่เพียงแต่ได้ของดี มีคุณภาพ แต่ยังมีใบรับรองคุณภาพเป็นเครื่องรับประกันอีกด้วย