xs
xsm
sm
md
lg

สวทช.ร่วมสภาหอฯ-ม.เกษตรฯ ดันทุเรียนไทยรับมาตรฐาน ThaiGAP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช. และ นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองปธ.หอการค้าไทย  ผศ.ดร.ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญโครงการฯ โปรแกรม ITAP และ อ.ประจำภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร ม.เกษตรฯ กำแพงแสน  ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือ โครงการยกระดับผักผลไม้ไทย
สวทช. ร่วมกับสภาหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้นำเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในจังหวัดจันทบุรีเข้าสู่โครงการยกระดับผัก และผลไม้ไทย เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการทุเรียนได้รับมาตรฐาน ThaiGAP ชี้ปัจจุบันมีเจ้าของสวนทุเรียนได้รับมาตรฐานแล้วกว่า 40 ราย

นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช. เปิดเผยว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) นำผู้ประกอบการทุเรียนไทย กลุ่มสหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ จ.จันทบุรี ที่เข้าร่วม “โครงการยกระดับผักและผลไม้ไทย : โอกาสสำหรับพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืน” ซึ่ง สวทช.ดำเนินงานร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการผักและผลไม้ไทยให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในอาเซียน และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคด้วยความปลอดภัยของสินค้าเกษตร

ล่าสุดมีผู้ประกอบการได้รับมาตรฐาน ThaiGAP แล้วจำนวนมากกว่า 40 ราย และภายในงาน THAIFEX 2018 ยังได้ทำการเปิดตัวระบบใหม่ ThaiGAP Platform Service แอปพลิเคชันวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อขอรับรองมาตรฐาน ThaiGAP นำร่องที่ผลไม้ทุเรียนไทย กับกลุ่มสหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ จ.จันทบุรี ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมาตรฐานส่งออกสินค้าได้ถูกต้องรวดเร็วยิ่งขึ้น

ด้าน นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงมาตรฐาน ThaiGAP ว่า เป็นมาตรฐานระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัยของภาคเอกชน ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย หรือสถาบัน ThaiGAP ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตผักและผลไม้ของไทยตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยมีระบบตรวจสอบย้อนหลังในรูปแบบ QR Code จาก GISTDA ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ผลิตได้ง่ายโดยผ่านโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และแม่นยำ
บรรยากาศภายในบูธ ThaiGAP ในงาน THAIFEX 2018

ด้าน ผศ.ดร.ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญโครงการฯ โปรแกรม ITAP และอาจารย์ประจำภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวถึงนวัตกรรมระบบตรวจรับรองว่า ThaiGAP Platform Service พัฒนาขึ้นโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นการนำระบบแอปพลิเคชันเข้ามาใช้ในการตรวจรับรองผล โดยรวบรวมข้อมูลภาคสนามด้วยอุปกรณ์พกพาเข้าสู่ระบบประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ ซึ่งติดตั้งที่สถานีรับสัญญาณดาวเทียมจุฬาภรณ์ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ผลได้ในเบื้องต้น และสามารถให้คำแนะนำผ่านระบบเวลาจริง (real time) หรือสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลองค์ความรู้ เป็นผลให้เกิดการสร้างและ/หรือต่อยอดองค์ความรู้กับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมาตรฐานสำหรับการส่งออกสินค้าได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว โครงการนี้จึงเป็นการสร้างนวัตกรรมระบบตรวจรับรอง ThaiGAP เพื่อส่งเสริมความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน ของภาคการเกษตรไทย ตามนโยบายประเทศไทย 4.0

“โดยในการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ประกอบด้วย 6 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ 1) การปรับเปลี่ยนการรับรองมาตรฐานจากระบบเอกสารเป็นระบบเทคโนโลยีดิจิทัล 2) การติดตามสถานะการขอรับรอง และเพิ่มความรวดเร็วในการตรวจสอบ 3) การพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรในพื้นที่ด้วยการเรียนรู้ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 4) การบันทึกข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP ซึ่งสามารถตรวจสอบการรับรองได้ตั้งแต่เริ่มต้น รับรู้ และเก็บเกี่ยว 5) การขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญผ่านระบบ Meeting และ 6) การจัดทำรายงานเพื่อขอรับรองมาตรฐาน ThaiGAP” หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญโครงการฯ กล่าว

ขณะที่ นายชรัตน์ เนรัญชร สมาชิกสหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ จำกัด และรองเลขาธิการหอการค้าจันทบุรี กล่าวว่า ในการยกระดับคุณภาพผลผลิตทุเรียนของกลุ่มสมาชิกสหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ ได้รับคำแนะนำจากหอการค้าจันทบุรีผ่านทางสหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ จำกัด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เพื่อให้ทำมาตรฐาน ThaiGAP ซึ่งเน้นในเรื่องอาหารปลอดภัย ทำให้แปลงทุเรียนในท่าใหม่ได้รับมาตรฐาน ThaiGAP แล้วหลายรายและกำลังจะได้รับการรับรองอีกจำนวนมากในเร็ววันนี้ เพราะเราในฐานะผู้ประกอบการผลไม้ไทยอยากให้ผู้บริโภคได้รับประทานผลไม้ทุเรียนที่มีความปลอดภัย รวมถึงยังสามารถขยายตลาดไปได้กว้างขวางมากขึ้น นอกจากนี้ จุดเริ่มต้นจากการสนับสนุนผลไม้ทุเรียน ยังสามารถต่อยอดขยายไปช่วยยังกลุ่มผลไม้อินทผาลัมของสมาชิกฯ ในการขอรับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP ได้ด้วย โดยขณะนี้แปลงลำไยของตนได้รับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น