ฟังจากปาก 7 สตาร์ทอัพในเวทีสัมมนาหัวข้อ “STARTUP จับต้องได้ : เจาะลึกธุรกิจ สร้างสังคมแห่งสตาร์ทอัพ” ณ โรงละครอักษรา คิง พาวเวอร์ จัดโดย Positioningmag.com ในเครือผู้จัดการ หวังเป็นแนวทางให้ผู้ที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งธุรกิจที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้นำแนวคิดไปดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทีมงาน “SMEsผู้จัดการ” จึงได้นำแนวคิดในการเป็นสตาร์ทอัพจาก 7 ผู้ประกอบการไทยที่ดังไกลในต่างแดนมาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการก้าวขึ้นเป็นสตาร์ทอัพในเวทีโลกมาฝากกัน เริ่มจาก...
***สแนปอาส์ค ติวเตอร์ส่วนตัวหาได้ใน 1 นาที***
นายชวัล เจียรวนนท์ ซีอีโอ บริษัท สแนปอาส์ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเป็นสตาร์ทอัพเป็นเรื่องยาก และหลายคนคิดว่าอาจจะต้องทำอะไรหลายๆ อย่าง แต่ถ้าหากว่าเลือกโฟกัสในการทำธุรกิจจะต้อง “Have a Purpose” (H.A.P) คือจะต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการทำธุรกิจ และจะต้องมีสิ่งที่อยากจะทำและลงมือทำ ซึ่ง 'สแนปอาส์ค' เป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนามาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วย Machine Learning และ AI ที่สร้างมาเพื่อให้บริการสำหรับนักเรียนที่ต้องการพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้กับติวเตอร์ในวิชาที่ตนเองไม่ถนัด เป็นแอปพลิเคชันที่เริ่มต้นมาจากฮ่องกง และสามารถขยายสาขาไปถึง 7 ประเทศในเอเชีย และประเทศไทยเป็นแห่งที่ 8 ก็เป็นสิ่งการันตีถึงคุณภาพและการตอบรับของนักเรียนได้เป็นอย่างดี
หลังจากที่ได้เปิดตัวในประเทศไทยมาสักระยะหนึ่งแล้ว ทาง 'สแนปอาส์ค' ก็ได้สุ่มโทร.สัมภาษณ์นักเรียนทั้งหมด 230 คน และมีเด็กชายอายุ 12 ปี ได้เล่าถึงตัวเองว่า มีเรื่องที่ทำให้เครียดอยู่หนึ่งอย่างคือ ตนเองอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่พ่อไม่เห็นด้วยเพราะอยากให้ตนเป็นทหาร และเด็กได้ถามกลับมายัง 'สแนปอาส์ค' ว่า ที่ทำแอปพลิเคชันนี้ขึ้นมาเพื่ออะไร ด้วยคำถามนี้ จึงได้เกิดเป็นภารกิจขึ้นมา 2 ข้อ คือ 1. การให้พลังกับเด็กนักเรียนได้ก้าวผ่านอุปสรรคที่มี 2. ให้เด็กนักเรียนได้ทำสิ่งที่อยากทำอย่างแท้จริง
อ่านเรื่องราว “สแนปอาส์ค” เพิ่มเติมที่ https://mgronline.com/smes/detail/9610000009914
***AIRPORTELs ขนส่งกระเป๋าทำเงิน***
นายอภิโชค ประเสริฐรุ่งเรือง กรรมการฝ่ายการขนส่งและผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจ AIRPORTELs กล่าวว่า การทำงานหนักเป็นปัจจัยสำคัญของการเป็นสตาร์ทอัพ เพราะตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจนี้มีเทคนิคการทำงานอยู่ 4 ข้อหลัก คือ 1. การเป็นผู้ประกอบการจะต้องทำงาน 7 วัน/สัปดาห์ 2. มีเฉพาะเวลาเริ่มงาน แต่ไม่มีเวลาเลิกงาน 3. ทะเลาะกับพาร์ตเนอร์เป็นประจำ เพื่อหาช่องทาง และทางออกที่ดี 4. เลิกคิดถึงการท่องเที่ยว เพราะถ้าคิดถึงเรื่องพักเมื่อไหร่จะมีคู่แข่งเกิดขึ้นมาใหม่เสมอ เนื่องจาก AIRPORTELs เป็นธุรกิจขนส่งกระเป๋าจากสนามบินไปยังโรงแรม, จากใน กทม. ไปยังต่างจังหวัด รวมถึงบริการรับฝากกระเป๋าด้วย ขณะนี้หลังเปิดให้บริการมานานกว่า 2 ปี ขนส่งกระเป๋าของลูกค้ามาแล้วกว่า 3 แสนใบ และตอนนี้มีโรงแรมที่เป็นพาร์ตเนอร์ด้วยกันกว่า 500 โรงแรม รายได้จากการทำธุรกิจที่ได้จากการขนส่งในปี 2017 เติบโตไปกว่า 750% ส่วนรายได้จากการฝากกระเป๋าเติบโตไปกว่า 2,000%
สำหรับจุดเริ่มต้นของธุรกิจ AIRPORTELs เกิดจากปัญหาที่ประสบด้วยตนเอง คือ ไปเจอนักท่องเที่ยวถือกระเป๋าไปใหญ่ออกจากสนามบินเพื่อไปยังแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (Airport Rail Link) ลงบันไดที่มีความสูงพอสมควร และพี่ชายของตนก็ไปเที่ยวต่างประเทศกับคุณแม่ และไปถือของที่ซื้อมา จึงคิดว่าทำไมถึงไม่มีบริการที่อำนวยความสะดวก จึงเกิดมาเป็น “AIRPORTELs” ขึ้น
อ่านเรื่องราวของ “AIRPORTELs” เพิ่มเติมที่ https://mgronline.com/smes/detail/9600000077714
***บ๊อกซ์24 ล็อกเกอร์ที่เป็นได้มากกว่า***
นายนิธิพนธ์ ไทยานุรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท บ๊อกซ์24 จำกัด กล่าวว่า เขาใช้การมองปัญหาให้เป็นการสร้างโอกาสให้แก่ตัวเองเพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจตนเองเพิ่มเติม โดยการก่อตั้งบริษัทนี้เพราะเห็นโอกาสทางธุรกิจเมื่อ 5 ปีที่แล้วที่เห็นประโยชน์ของตู้ล็อกเกอร์ที่เป็นมากกว่าตู้ฝากของ ดังนั้นเขาจึงวางตำแหน่งผู้นำรายแรกของโลกที่นำตู้ล็อกเกอร์มาผูกโยงกับธุรกิจซักรีด ภายใต้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจรับส่งพัสดุไปรษณีย์ ซื้อสินค้าออนไลน์ รับฝากส่งสิ่งของระยะสั้น-ยาว และรับจ่ายบิลทุกชนิด อีกทั้งยังให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ปัจจุบันมีทั้งหมด 150 ตู้ และมีจำนวนลูกค้าอยู่ 30,000 คน ที่ใช้บริการ
สำหรับวอชบ๊อกซ์ มีจำนวน 5-6 หมื่นชิ้น/เดือน หลายคนอาจจะเกิดคำถามว่า คนใช้บริการเป็นจำนวนมากขนาดนี้ตู้จะเต็มหรือไม่ แต่ก็มองเป็นปัญหาที่ดี ที่จะได้เพิ่มตู้เพื่อบริการมากขึ้นโดยให้รองรับต่อความต้องการของลูกค้า คุณนิธิพนธ์ใช้การมองปัญหาให้เป็นการสร้างโอกาสให้แก่ตัวเอง เพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจตนเองเพิ่มเติมต่อไป
อ่านเรื่องราว “ บ๊อกซ์24” เพิ่มเติมที่ https://mgronline.com/smes/detail/9580000120790
***ทัวร์อวกาศเรื่องใกล้ตัวกับ mu Space***
นายวรายุทธ เย็นบำรุง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด หรือ mu Space กล่าวว่า แนวคิดในการทำธุรกิจสำหรับสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จนั้น ต้องคิดต่าง ทำเร็ว และทีมเวิร์กที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ และตนเองในฐานะที่เป็นคนไทยมีความสนใจในเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ จึงมุ่งมั่นศึกษาด้านนี้ในต่างประเทศ พร้อมมีแนวคิดที่จะใช้ดาวเทียมลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ห่างไกล ด้วยการจับมือกับ Blue Origin เตรียมส่งดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่วงโคจรด้วยจรวด New Glenn เที่ยวแรกในปลายปี 2563 ซึ่งถือเป็นสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่มีความมุ่งมั่นนำเทคโนโลยีอวกาศมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ขณะนี้เขาเตรียมสร้างห้องสภาวะไร้น้ำหนัก เพื่อฝึกฝนผู้ที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวในอวกาศ ได้มีการฝึกฝนและปรับตัวอย่างง่ายในระยะเวลาอันสั้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการท่องอวกาศในเร็วๆ นี้แล้ว
อ่านเรื่องราว “mu Space” เพิ่มเติมที่ https://mgronline.com/smes/detail/9610000025522
***N-Save นวัตกรรมความเย็นประหยัดไฟ***
นางสาวพริบตา วงศ์อนวัช กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นอาร์จีเอ็ม จำกัด ผู้ผลิตอุปกรณ์ช่วยเพิ่มความเย็นให้กับเครื่องปรับอากาศ แบบประหยัดไฟ และใส่ใจสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เทคนิคการก้าวขึ้นเป็นสตาร์ทอัพของแบรนด์ N-Save ต้องทำให้สินค้ามีความเป็นแมส (mass) และมีความยืดหยุ่นสูง และหากมีการจดสิทธิบัตรให้กับผลิตภัณฑ์ก็จะทำให้ผลิตภัณฑ์ก้าวเข้าไปนั่งในใจของผู้บริโภคได้ไม่ยาก โดย N-Save สามารถนำไปติดตั้งได้กับเครื่องปรับอากาศทุกรุ่น ติดตั้งง่าย ด้วยการนำน้ำทิ้งจากเครื่องปรับอากาศมาหมุนเวียนในกล่องที่ชื่อว่า N-Save ไปหยดที่คอยด์เย็น ซึ่งเป็นน้ำบริสุทธิ์เหมือนน้ำกลั่น ทำให้เครื่องปรับอากาศเย็นเร็วขึ้น และเมื่ออุณหภูมิลดลงระบบการทำงานจะตัดไม่เปลืองไฟ สามารถช่วยประหยัดไปได้ถึง 40-50% ปัจจุบันมีองค์กรใหญ่นำนวัตกรรมดังกล่าวไปช่วยประหยัดไฟหลายราย ทั้งได้มีการจดสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
***Priceza เว็บเทียบราคาสัญชาติไทยโกอินเตอร์***
นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด กล่าวว่า การเป็นสตาร์ทอัพได้นั้น สิ่งที่ต้องมีคือ Passion หรือชอบที่เชื่อว่าทุกคนมี ซึ่งเขามีความชอบในเรื่องคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เด็ก และเดินตามฝันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ จนก่อเกิดเป็นเว็บไซต์ Priceza ทำให้ผู้คนสามารถค้นหาสินค้าที่ต้องการพร้อมการเปรียบเทียบราคาที่ดีที่สุดได้ โดยเมื่อปี 2560 มีจำนวนผู้คนเข้ามาชมเว็บกว่า 200 ล้านครั้ง/ปี ในภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในประเทศอินโดนีเซียมีผู้เข้าชม 2 ล้านครั้ง/เดือน
***TUK TUK PASS แอปฯ เดียวเที่ยวรอบโลก***
นางสาวปรางพิสุทธิ์ แดงเดช เจ้าของธุรกิจและผู้ก่อตั้งตุ๊กตุ๊กพาส (TUK TUK PASS) แอปพลิเคชันที่รวบรวมข้อมูลด้านการท่องเที่ยวอย่างครบวงจร กล่าวว่า เป็นแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้อย่างแท้จริง ซึ่ง TUK TUK PASS เป็นสตาร์ทอัพน้องใหม่ของไทยที่ประกาศเตรียมระดมทุนในรูปแบบใหม่ ICO (Initial Coin Offering) มูลค่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเตรียมติดตั้งเครื่องคีออสก์รวบรวมข้อมูลท่องเที่ยว 100 เมืองท่องเที่ยวระดับโลก คาดว่าโครงการจะพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ตามแผนภายในระยะ 5 ปี โดยเกิดจากความชอบในการท่องเที่ยวได้มีโอกาสเดินทางไปทั่วโลก และได้พบปัญหาของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะโปรแกรมการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ที่ยังไม่มีแหล่งข้อมูลที่ครบวงจรแบบเบ็ดเสร็จ เธอจึงคิดทำแอปพลิเคชัน TUK TUK PASS ขึ้น เพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้ตรงจุด
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager