xs
xsm
sm
md
lg

จับตาธุรกิจบริการส่งอาหารเอเชีย และไทย ในปี 2018

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธุรกิจบริการส่งอาหารในเอเชีย อาจจะดูเป็นอุตสาหกรรมเล็กๆ เมื่อเทียบกับในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก แต่พบว่ามีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ 15% ต่อปี และพร้อมที่จะบุกทะลวงข้ามไปยังอีกขั้นเนื่องจากมีผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมนี้ ทั้งจากในประเทศเองและจากต่างประเทศ

เมื่อมีธุรกิจบริการส่งอาหารเกิดขี้นมา เป็นที่มาของสงครามใหม่ในธุรกิจอาหารขึ้น ตัวแทนร้านอาหารออนไลน์และเครือข่ายด้านคมนาคมเกิดการแข่งขันกันอย่างรุนแรง เนื่องจากเกิดการร่วมมือกันหลายกลุ่มเพื่อวางโครงสร้างธุรกิจที่ดึงดูดลูกค้าแต่ละกลุ่มให้ได้มากที่สุดซึ่งแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกัน

ธุรกิจบริการส่งอาหารในจีนมีบริษัทในประเทศเป็นผู้เล่นรายใหญ่ ตลาดที่เล็กลงมาอย่างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็นที่จับตามองของบริษัทระดับนานาชาติและระดับภูมิภาคได้มากกว่า เช่น Deliveroo, Foodpanda, Ubereats และ LINEMAN ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศไทย ศักยภาพการเติบโตที่สูงและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงสามารถชดเชยขนาดตลาดที่เล็กได้และดึงดูดธุรกิจรายใหม่เข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง

ลูกค้ามีพลังกว่าที่เคยมีมาก่อน

อีไอซีพบว่ามี 2 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงขาขึ้นนี้

ปัจจัยแรก คือ อิทธิพลของสมาร์ทโฟนและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเชื่อมต่อทุกสิ่งได้เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส เมื่อมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ผู้บริโภคสามารถหาสิ่งที่สนใจผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน จึงไม่จำเป็นต้องออกไปนอกบ้านเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ใหม่ๆ ด้วยตัวเอง

ปัจจัยที่ 2 คือ ผู้บริโภคในยุคดิจิทัลมีความรอบรู้และเป็นตัวของตัวเอง นอกจากนั้น ผู้บริโภคยังทำให้แน่ใจว่าความคิดเห็นของพวกเขาได้รับความสนใจมากขึ้นผ่านการคอมเมนต์และรีวิวในอินเทอร์เน็ต

ดังนั้น ธุรกิจบริการส่งอาหารจึงตอบโจทย์ได้ตรงใจผู้บริโภคในยุคดิจิตอลที่มีความรอบรู้ โดยให้ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารจานโปรดที่ตนเป็นผู้เลือกได้ทุกที่ทุกเวลา บริการเหล่านี้ทำหน้าที่แทนลูกค้าในการต้องออกไปข้างนอก อดทนกับการจราจรและการรอที่นั่งในร้านอาหารเป็นชั่วโมง อีกนัยหนึ่งบริการนี้ยังเข้ามาแทนอาหารที่ปรุงและรับประทานเองในบ้าน เมื่อเมืองกำลังขยายตัวและชาวเอเชียมีวัฒนธรรมการทำงานหนัก ผู้บริโภคจึงมองหาสิ่งที่มาบำบัดจิตใจอย่างง่าย และไม่มีอะไรจะดีไปกว่าอาหารที่ส่งตรงถึงบ้านและรับประทานไปพร้อมๆ กับชมรายการโปรดในโทรทัศน์ ธุรกิจบริการส่งอาหารเหล่านี้และบริการใหม่ๆ ทางดิจิทัลอื่นๆ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่มีความต้องการสูง

การปรับตัวเข้ากับท้องถิ่นเพื่อยืนหยัดในการต่อสู้ที่เข้มข้น

ถึงแม้อุปสงค์จะมีอยู่ตลอด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าธุรกิจรายใดรายหนึ่งจะคงความได้เปรียบเสมอไปในโอกาสทองนี้ มีปัจจัยการแข่งขัน 5 ประการที่ผู้ให้บริการที่ต้องการเป็นผู้ชนะในธุรกิจบริการส่งอาหารจะต้องมี ได้แก่ เวลาและพื้นที่ในการจัดส่ง ความหลากหลายของร้านอาหารที่มีให้เลือก ค่าบริการส่ง วิธีการชำระเงิน และประสบการณ์ของผู้ใช้งาน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพของตลาดมีการแข่งขันกันสูง อุปสรรคจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ อีไอซีได้แบ่งอุปสรรคต่างๆ ที่ผู้ให้บริการส่งอาหารน่าจะพบออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน

ปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยที่ผู้ให้บริการไม่สามารถควบคุมได้ ได้แก่ มาตรฐานของอาหารจากร้านค้า การยอมรับเทคโนโลยีหรือระดับอัตราการรับเทคโนโลยีมาใช้ของผู้ใช้งาน และราคาที่สูงเนื่องจากการแข่งขันในตลาด ส่วนปัจจัยภายใน ได้แก่ การจัดการการขนส่ง รูปแบบธุรกิจสำหรับคนขับและต้นทุนการตลาดที่สูง ผู้ให้บริการที่มีรูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมเพื่อใช้ประโยชน์จากบริการขนส่งของตนได้สูงสุดและวางรูปแบบผลตอบแทนที่ดึงดูดให้คนขับทำงานอยู่กับบริษัทไปเป็นระยะเวลานานจะสามารถสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าได้

นอกจากนี้ ควรระลึกไว้เสมอว่าตลาดแต่ละแห่งมีลักษณะเฉพาะ ความสำเร็จจากที่หนึ่งอาจไม่สามารถนำมาใช้กับอีกที่หนึ่งได้โดยตรง การปิดตัวลงของ Foodpanda ในเวียดนามและอินโดนีเซียเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน Foodpanda ซึ่งมีบริษัทใหญ่อยู่ที่เยอรมนีได้ขายธุรกิจในเวียดนามให้แก่คู่แข่งสัญชาติเวียดนามในปี 2558 และในปีเดียวกันก็ได้ปิดกิจการในอินโดนีเซีย โดยยอมรับว่าพ่ายแพ้ต่อการแข่งขันกับบริการการแท็กซี่ผ่านแอปรุ่นใหม่ที่ให้บริการส่งอาหารด้วย

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ Foodpanda พ่ายแพ้ในตลาดเหล่านี้ คือ รูปแบบธุรกิจที่ไม่ยั่งยืนสำหรับตลาดท้องถิ่น ส่วนที่เวียดนาม คู่แข่งของ Foodpanda ชื่อ Vietnammm ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเว็บไซต์ Takeaway ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำหรับบริการส่งอาหารออนไลน์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่ง Vietnammm สามารถส่งอาหารด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับ Foodpanda ในช่วงที่ Foodpanda ดำเนินธุรกิจในเวียดนาม ได้จ้างพนักงานประจำประมาณ 100 คนซึ่งมากเกินไปสำหรับบริการของธุรกิจ ในขณะที่ธุรกิจในอินโดนีเซียนั้น เชื่อกันว่าบริการการส่งอาหารระยะใกล้เป็นจุดอ่อนที่ Foodpanda ยากที่จะสู้ได้ กลยุทธ์นี้ทำให้ผู้ใช้มีตัวเลือกจำกัดจนเลิกใช้บริการไปในที่สุด

ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดที่จะเข้าไปทำธุรกิจจึงเป็นกลยุทธ์ที่มีความสำคัญที่จะนำไปสู่ชัยชนะได้ ผู้ให้บริการส่งอาหารและเว็บไซต์เหล่านี้จะต้องทราบสิ่งที่ลูกค้าในแต่ละตลาดให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก และต้องแน่ใจความต้องการเหล่านี้ได้รับการตอบสนองเสมอ

การผสมผสานทุกอย่างได้อย่างลงตัวเพื่อเป็นผู้ชนะที่แท้จริง

“อีไอซี” ได้รับคำถามว่าในอนาคตคาดว่าจะเห็นอะไรในอุตสาหกรรมบริการส่งอาหารในอนาคต อีไอซีได้ทำการวิเคราะห์และคาดว่าจะเกิดความไม่ชัดเจนระหว่างการบริการส่งอาหารและสินค้าที่มิใช่อาหารเนื่องจากผู้บริการอาจให้บริการทั้งสองอย่าง อย่างไรก็ดี เราคาดว่าเว็บไซต์บริการส่งสินค้าที่มิใช่อาหารจะผันตัวไปเป็นเว็บไซต์บริการส่งอาหาร มากกว่าที่เว็บไซต์บริการส่งอาหารจะผันตัวไปเป็นผู้ให้บริการส่งสินค้าที่มิใช่อาหาร

การเข้าซื้อหรือการร่วมหุ้นส่วนกันเพื่อครอบคลุมบริการทั้งสองส่วนจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไปเพื่อให้มีฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงการร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งและเว็บไซต์รีวิวอาหารเพื่อมอบประสบการณ์ผู้ใช้ที่สมบูรณ์และมีปฏิสัมพันธ์ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ เรายังคาดว่าเมื่อผ่านไปสักระยะจะเหลือผู้ให้บริการเพียงไม่กี่ราย เนื่องจากในระยะแรกต้องใช้เงินลงทุนด้านการตลาดอย่างหนักเพื่อให้มีจำนวนผู้ใช้งานมาก จึงจะมีเพียงผู้ให้บริการที่มีสถานะทางการเงินที่มั่นคงเท่านั้นที่อยู่รอดและเติบโตได้ในระยะยาว ท้ายที่สุดแล้ว ความแตกต่างของสินค้าจะเป็นปัจจัยความสำเร็จตัวสุดท้าย ผู้ให้บริการจะแข่งขันกันเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ซับซ้อน เช่น การมีตัวเลือกร้านอาหาร ชนิดของร้านอาหาร บริการแนะนำร้าน ขยายพื้นที่การให้บริการ และการบริการลูกค้าที่ไม่เหมือนใคร เป็นที่แน่ชัดว่าธุรกิจบริการส่งอาหารในเอเชียกลายเป็นสิ่งธรรมดาไปเสียแล้ว และผู้ที่สามารถหารูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมในการจับตลาดและใช้กลยุทธ์ glocalization (globalization + localization) ได้ลงตัวที่สุดจะกลายเป็นผู้ชนะในที่สุด

ที่มา : SCB EIC Analysis
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *




กำลังโหลดความคิดเห็น