xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาที่ยากในการแก้ไข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

มีอยู่เรื่องหนึ่งในสังคมไทย ที่ผมสังเกตว่าเป็นแบบแผนของปมปัญหาจนยากที่จะคลี่คลายลงไปได้นั่นคือเมื่อเราจัดตั้งหน่วยงานหรือองค์การเพื่อแก้ปัญหาสังคมใดปัญหาหนึ่ง แทนที่ปัญหานั้นจะบรรเทาหรือหมดหายไป กลับกลายเป็นว่าปัญหากลับขยายตัวและทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้น เหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดสภาพเช่นนั้นคือ หน่วยงานที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา กลายส่วนหนึ่งในการสร้างปัญหาเสียเอง

ในสังคมไทยเราจึงมีประโยคล้อเลียนการทำงานของหน่วยงานของรัฐจำนวนมาก ในทำนองที่ว่าหากไม่มีหน่วยงานนั้นปัญหาคงไม่ลุกลามขนาดนี้ หรือการตั้งคำถามว่ามีหน่วยงานนั้นไปทำไม เช่น มีกรมป่าไม้ทำไม หากไม่สามารถหยุดยั้งการทำลายป่าไม้และรักษาป่าไม้เอาไว้ได้ มีตำรวจไว้ทำไม หากไม่สามารถรักษากฎหมายและดำรงความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้

มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เผยแพร่สู่สาธารณะอย่างต่อเนื่องว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนหนึ่งที่อยู่ในหน่วยงานต่างๆ อาศัยอำนาจหน้าที่ ช่องทาง และทรัพยากรของหน่วยงานสร้างปัญหาอาชญากรรมขึ้นมาซ้ำเติมสังคม บางแห่งก็มีการกระทำโดย ปัจเจก บุคคล คือก่ออาชญากรรมแต่เพียงผู้เดียวไม่เกี่ยวกับคนอื่น บางแห่งก็กระทำกันเป็นกลุ่ม แต่บางแห่งกลับกระทำกันเป็นขบวนการที่มีคนของหน่วยงานนั้นเกี่ยวข้องเกือบทั้งหมดหน่วยงานทั้งทางตรงและทางอ้อม และบางเรื่องก็มีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง

ทำไมบุคคลหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่แก้ปัญหาจึงกลายเป็นผู้สร้างปัญหาเสียเอง เหตุผลพื้นฐานคือกรอบทางจิตใจของคนที่เข้าไปทำงานในหน่วยงานต่างๆ มีลักษณะคลาดเคลื่อนตั้งแต่ต้น นั่นคือมีกรอบคิดว่าการเข้าไปทำงานเพื่อใช้อำนาจหน้าที่สร้างความมั่งคั่งและอำนาจแก่ตนเอง โดยขาดสำนึกแห่งพันธกิจที่แท้จริงของหน่วยงาน อาจมีบางบุคคลที่พอมีสำนึกแห่งพันธกิจอยู่บ้าง แต่ก็มีน้อย และเมื่อคนเหล่านี้เข้าไปอยู่ในหน่วยงานแล้ว ก็มักถูกหล่อหลอมและกล่อมเกลาโดยวัฒนธรรมองค์การ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกับคนส่วนใหญ่ขององค์การ ส่วนคนที่รอดพ้นจากการถูกครอบงำก็มักจะไม่ค่อยก้าวหน้าและถูกจัดให้อยู่ในตำแหน่งซึ่งไม่สลักสำคัญนัก

เราจึงมักได้ยินเสมอว่า คนดีหรือคนมีอุดมการณ์เพื่อบ้านเมือง หรือเพื่อมุ่งแก้ปัญหา หากไม่เปลี่ยนแปลงความคิดและการกระทำตามกระแสหลักขององค์การ ก็มักจะถูกปิดกั้นความก้าวหน้า หรือไม่ก็ต้องลาออกจากหน่วยงานเหล่านั้นไป

แรงกดดันจากสังคมเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บุคคลมีการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับพันธกิจและเป้าประสงค์ขององค์การ ในสังคมไทยนั้น มีคนจำนวนมากที่มีวิธีคิดว่า เมื่อมีเครือญาติหรือพวกพ้องเข้าไปทำงานในองค์การใดที่มีอำนาจหน้าที่พอจะช่วยเหลือตนเองในทางใดทางหนึ่งได้ พวกเขาก็มักจะขอให้ช่วยเหลือเสมอ โดยไม่คำนึงว่าสิ่งนั้นจะถูกต้องเป็นธรรมต่อสังคมโดยรวมหรือไม่ เรียกว่าเอาความปรารถนาและความต้องการของตนเองเป็นตัวตั้ง และร้องขอให้บุคคลที่เป็นเครือญาติพวกพ้องของตนเองใช้อำนาจหน้าที่บันดาลให้ความปรารถนาของพวกเขาประสบความสำเร็จ

ความต้องการก้าวหน้าในอาชีพ โดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมและจรรยาบรรณของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ปัญหาสังคมเลวร้ายยิ่งขึ้น ในบางหน่วยงาน เจ้าหน้าที่บางคนต้องการผลงานเพื่อเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง โดยไปสร้างปัญหาความอยุติธรรมที่เลวร้ายขึ้นมาเพื่อเป็นบันไดแก่ตนเอง เช่น การจับแพะและสร้างหลักฐานเพื่อทำให้ผู้บริสุทธิ์ติดคุก และตนเองได้ผลงาน นำไปเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง จนเกิดเป็นกรณีอื้อฉาวขึ้นมา หลายหน่วยงานก็มีการซื้อขายตำแหน่งอย่างแพร่หลาย และบางหน่วยงาน เจ้าหน้าที่บางคนไปจ้างผู้อื่นทำผลงานแทน เพื่อนำไปประเมินเลื่อนขั้นก็มี

การแสวงหาความก้าวหน้าในอาชีพโดยไร้คุณธรรมและจรรยาบรรณเป็นการก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงต่อสังคม หากเกิดในแวดวงกระบวนการยุติธรรมก็ย่อมสร้างความไม่สงบแก่สังคมขึ้นมา หากเกิดในแวดวงการศึกษาก็สร้างอาชญากรรมทางปัญญาแก่สังคม ความโง่เขลาของผู้คนในสังคมก็จะเป็นผลตามมา

ในปัจจุบันหลายหน่วยงานของสังคมไทยตกอยู่ในสภาพที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคม การจะแก้ปัญหาสังคมได้ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขหน่วยงานเหล่านั้นเสียก่อน การปรับเปลี่ยนต้องกระทำทั้งสามด้านคือ ด้านบุคคล ด้านระบบ และด้านสิ่งแวดล้อมทางสังคม ไปพร้อมๆกัน การปรับเล็กๆน้อยๆทีละเรื่องทีละอย่างแบบเสี่ยงเสี้ยวและขาดการเชื่อมโยง นอกจากไม่สามารถแก้ปัญหาได้แล้ว กลับจะทำให้ปัญหานั้นซับซ้อนยุ่งเหยิงหนักขึ้นไปอีก

องค์การก็คล้ายกับแม่น้ำ หากแม่น้ำทั้งสายเน่าเสีย การเติมน้ำสะอาดลงไปหนึ่ง แก้ว ไม่มีทางทำให้แม่น้ำสะอาดได้เลย รังแต่จะทำให้น้ำสะอาดที่เติมลงไปกลายเป็น น้ำเสียไปด้วย เปรียบเสมือนการเติมคนดีลงไปในองค์การที่มีปัญหาทั้งระบบ ในท้ายที่สุดคนดีก็จะถูกระบบกลืนกินไป

และหากจะถ่ายน้ำเสียออกไปจากแม่น้ำทั้งสาย และชักนำน้ำดีเข้ามาแทนทั้งหมด ซึ่งเหมือนกับการปฏิรูปโครงสร้างองค์การทั้งระบบและนำคนใหม่เข้ามา การทำแบบนี้จะได้ผลดีชั่วคราว แม่น้ำจะสะอาดชั่วระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเหมือนกับองค์การที่อาจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในช่วงเวลาหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป หากเงื่อนไขสภาพแวดล้อมทางสังคมไม่เปลี่ยนแปลงน้ำทิ้งจากสิ่งแวดล้อมก็จะไหลลงไปในแม่น้ำอีก และในที่สุดแม่น้ำก็เริ่มเน่าเสียใหม่ องค์การก็เช่นเดียวกัน หากสภาพสิ่งแวดล้อมทางสังคมไม่เปลี่ยนแปลง ในไม่ช้าค่านิยมวัฒนธรรมของสังคมแบบเดิมๆก็จะแทรกซึมและมีอิทธิพลต่อการทำงานขององค์การ จนเกิดปัญหาขึ้นมาอีก

การปรับเปลี่ยนองค์การจึงต้องปรับเงื่อนไขสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เกี่ยวข้องไปพร้อมๆกันด้วย เพื่อสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมทางสังคมแบบใหม่ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดซ้ำขึ้นมาอีก ซึ่งหากดำเนินการในแนวทางเช่นนี้ได้ ปัญหาสังคมต่างๆก็ย่อมจะมีหนทางในการเยียวยาแก้ไขได้อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น

การปฏิรูปตำรวจที่รัฐบาลกำลังจะเริ่มลงมือขยับหลังจากปล่อยเฉยไม่ดำเนินอะไรในช่วงสองปีที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ท้าทายอยู่ไม่น้อยเกี่ยวกับวิธีคิดและแนวทางการจัดการในการปฏิรูป แผนยุทธศาสตร์และทิศทางการปฏิรูปจะเป็นอย่างไร ผมจะไม่ขอปรามาสล่วงหน้า แต่ของฝากข้อคิดว่า

1.ในการปฏิรูปตำรวจ หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ โดยยังมองว่าตำรวจเป็นเสมือนเหล่าทัพที่๔ เหมือนเดิม จะไม่มีทางปฏิรูปตำรวจได้สำเร็จ

2.การนำระบบการเลื่อนขั้นและตำแหน่งแบบที่ใช้ในกองทัพมาใช้กับตำรวจ จะไม่สามารถทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนการอำนวยความยุติธรรมของตำรวจพัฒนาดีขึ้นได้

3.การให้ตำรวจเป็นกลุ่มหลักที่มีอำนาจหน้าที่ในคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ไม่มีทางที่จะทำให้การปฏิรูปตำรวจประสบความสำเร็จได้ หากตำรวจจะเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปก็ควรเกี่ยวข้องในระดับที่เป็นผู้ให้ข้อมูลข่าวสารในการปฏิบัติงานและการทำหน้าที่เท่านั้น

4.การปรับเปลี่ยนระบบการทำงานทั้งระบบของตำรวจ โดยมีสถานีตำรวจเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งการปลูกฝังวัฒนธรรมการทำงานใหม่เป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการปฏิรูปตำรวจ

5.การเปลี่ยนถ่ายบุคลากร ทั้งโดยความสมัครใจและการบังคับให้ปลี่ยนอาชีพอย่างน้อยครึ่งหนึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เกิดระบบและวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ขึ้นมาได้

อันที่จริงผมไม่ค่อยมีความคาดหวังเท่าไรนักกับรัฐบาลในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ก็จะขอจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไป ดูว่ารัฐบาลจะทำได้มากน้อยเพียงใด ในเวลาที่เหลืออยู่ไม่มากนักในการใช้อำนาจรัฐอย่างเบ็ดเสร็จเช่นนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น