“เดนสึ” บริษัทโฆษณายักษ์ญี่ปุ่นยอมรับว่า ให้พนักงานทำงานล่วงเวลามากกว่า 100 ชั่วโมงติดต่อกันหลายเดือนจนพนักงานสาวรายหนึ่งเสียชีวิต ขณะที่สหภาพแรงงานเผยว่า ทางบริษัทบังคับให้พนักงานรายงานขั่วโมงทำงานน้อยกว่าความเป็นจริงเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย
คู่มือพนักงานใหม่ของ “เดนสึ” เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่บ่งชี้ว่า เอเจนซี่โฆษณายักษ์ญี่ปุ่นรายนี้บีบบังคับให้พนักงานทำงานจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ในคู่มือกล่าวถึง “กฎเหล็ก 10 ประการ” ที่เขียนขึ้นโดยนายฮิเดโอะ โยชิดะ ประธานบริษัทคนที่ 4 ในปี 1951 ระบุว่า
“เมื่อลงมือทำแล้ว ห้ามล้มเลิก ถึงแม้จะต้องตายก็อย่าล้มเลิกจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย”
“ห้ามยอมแพ้ จงถวายชีวิตด้วยความตั้งใจและความรับผิดชอบสูงสุด”
คู่มือนี้จะแจกจ่ายให้กับบรรดาพนักงานใหม่ในเดือนธันวาคม เพื่อชี้แจงถึงแนวทางการทำงานขององค์กร การระบุถึง “กฎเหล็ก” เช่นนี้แสดงให้เห็นว่า ทางบริษัทมีวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่คำนึงถึงชีวิตของพนักงาน มุ่งเน้นเพียงประสิทธิผลของงานเท่านั้น
บริษัทเดนสึกำลังถูกเจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นสอบสวน หลังจากพนักงานสาววัย 24 รายหนึ่งฆ่าตัวตายเพราะทำงานหนัก โดยเมื่อจำนนต่อหลักฐานทางผู้บริหารของบริษัทจึงยอมรับว่า มีการบังคับให้พนักงานทำงาน “อย่างไม่เหมาะสม” เป็นสาเหตุให้ต้องตาย และจะเลิกแจกจ่ายคู่มือพนักงานที่ระบุถึง “กฎเหล็ก” ดังกล่าว
บังคับพนักงานแจ้งชั่วโมงทำงานน้อยเกินจริง หวังเลี่ยงกฎหมาย
ปัญหาการทำงานจนตายเป็นเรื่องใหญ่ในญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลได้ออกกฎหมายจำกัดการทำงานล่วงเวลาไม่เกินเดือนละ 50 ชั่วโมง หากแต่บริษัทจำนวนมากรวมทั้ง “เดนสึ” ได้ให้พนักงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่เพิ่งจบการศึกษาทำงานล่วงมากกว่ามากกว่า 100 ชั่วโมง โดยอ้างว่าเป็น “กรณีพิเศษ”
จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่พบว่า พนักงานสาวที่เสียชีวิตทำงานล่วงเวลามากถึง 105 ชั่วโมงติดต่อกันหลายเดือนจนร่างกายรับไม่ไหว หากแต่ในบันทึกการทำงานกลับระบุว่าเธอทำงานล่วงเวลาเพียง 50ชั่วโมงต่อเดือนตามที่กฎหมายกำหนด
สหภาพแรงงานของ “เดนสึ” ระบุว่า เจ้านายบังคับให้ลูกน้องลงเวลาทำงานล่วงเวลาน้อยกว่าความเป็นจริงเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งทางสหภาพฯได้ร้องเรียนกับผู้บริหารหลายครั้ง แต่ก็ก็ได้รับคำตอบเพียงว่า “ไม่อาจเชื่อว่าคำพูดของพนักงานเพียงคนสองคนว่าเป็นความจริง”
เมื่อเรื่องนี้ถูกเปิดเผยโดยสื่อมวลชนจนเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานต้องเข้ามาตรวจสอบ ทางผู้บริหารของ “เดนสึ” จึงจำต้องยอมรับผิดและขอโทษต่อครอบครัวของพนักงานที่เสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหน้าที่ได้สืบสวนและสรุปสำนวนฟ้อง ทางบริษัทจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมทั้งชดใช้ค่าเสียหายให้กับครอบครัวพนักงานที่ทำงานจนตาย.