ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
แม้เมื่อมองจากภายนอกเข้ามา คนญี่ปุ่นมักเป็นที่ชื่นชมว่าเป็นคนมีคุณภาพ มีระเบียบวินัย ยินดีปฏิบัติกฎกติกาเพื่อส่วนรวม แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่ออยู่ญี่ปุ่นไปนานๆ ก็จะได้เห็นลักษณะ ‘ความเป็นคน’ ของคนญี่ปุ่นมากขึ้น คือมีความชอบ ความโกรธ ความไม่พอใจคนรอบตัว เหมือนกับคนชาติอื่น และสำหรบครั้งนี้ “ญี่ปุ่นมุมลึก” ก็อยากจะเล่าอีกมุมหนึ่งของคนญี่ปุ่น ซึ่งไม่ได้สวยงามเสมอไป นั่นคือ “ความอิจฉา”
ความอิจฉา คือ ความไม่พอใจเมื่อเห็นคนอื่นได้ดี จึงอยากจะมีหรืออยากเป็นเช่นนั้นบ้าง ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ชิตโตะ” (嫉妬;shitto) และเป็นความรู้สึกตามสัญชาตญาณ พอเป็นแบบนี้แล้วก็ทำให้รู้สึกว่า ในตัวมนุษย์นี้ช่างเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ไม่น่าพึงปรารถนา และนี่เป็นแค่หนึ่งในความรู้สึกเชิงลบหลายๆ อย่างที่หมักหมมติดอยู่ในใจมนุษย์เท่านั้น แต่มันคือความจริง ซึ่งก็แล้วแต่ว่าใครจะบริหารความรู้สึกทำนองนี้ได้ดีแค่ไหน
ถ้าเป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน คงไม่ต้องอธิบายมากก็น่าจะนึกภาพออกว่า ความอิจฉาเกิดขึ้นในทุกวงการ การแปลงความรู้สึกนั้นให้เป็นรูปธรรมก็มีหลายระดับดังที่พบเห็นในละคร เช่น การกลั่นแกล้ง การนินทาว่าร้าย ไม่เว้นแม้ในวงการศึกษาซึ่งเต็มไปด้วยบุคลากรที่จะต้องคนให้เป็นคนดี การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายถึงมีอยู่ทั่วไปในการทำงาน และบางครั้งก็มีแม้กระทั่งกรณีเจ้านายอิจฉาลูกน้องของตัวเอง
ในญี่ปุ่นก็เช่นกัน สิ่งเหล่านี้มีหมด และต้องยอมรับด้วยว่าสิ่งที่คนไทยเรียกว่า “เส้น” และ “การเล่นพรรคเล่นพวก” ก็มีในสังคมญี่ปุ่น แต่ของญี่ปุ่นอาจจะต่างจากของไทยตรงที่ว่า หากเกิดการกระทบกระทั่งจนเข้าข่ายรังแกกันเพราะความอิจฉาหรือการเอื้อประโยชน์เพื่อเอาชนะอีกฝ่าย ก็มีกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำในฐานะผู้ตกเป็นเหยื่อของ “การประทุษร้าย” (harassment) รูปแบบหนึ่ง ซึ่งสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้
แง่มุมหนึ่งว่าด้วยความอิจฉาของคนญี่ปุ่นถูกสะท้อนออกมาในผลสำรวจเกี่ยวกับสื่อสังคมออนไลน์ และคนญี่ปุ่นด้วยกันเองก็คงตกใจกับผลที่ออกมา ถึงได้มีการนำไปถกกันใน “ช่อง 2” (2channel) ซึ่งเปรียบเสมือนกระทู้พันทิปของไทย กล่าวคือ ผลการสำรวจในญี่ปุ่นชี้ว่า ผู้คนเกินครึ่งรู้สึกอิจฉาเมื่อได้เห็นภาพหรือข้อความที่มีความสุขสนุกสนานของคนอื่นถูกโพสต์
เมื่อมองแนวโน้มรวมของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ บริษัทแคสเปอร์สกีแล็บ (Kaspersky Lab) ซึ่งเป็นบริษัทด้านซอฟต์แวร์ของรัสเซีย สำรวจจากคน 16,750 คนใน 18 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งญี่ปุ่นและอเมริกาด้วย และประกาศผลเมื่อต้นปีนี้ว่า เหตุผลที่ทำให้ผู้คนใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น “เพื่อเชื่อมโยงกับเพื่อนฝูง” (65%), “รู้สึกว่าสนุก” (61%), “เป็นงานอดิเรก” (54%) จะเห็นได้ว่าหลักๆ แล้วก็เป็นไปในทางบวก
แต่เมื่อเจาะจงดูผลสำรวจ 1,000 คนในญี่ปุ่น ในข้อที่ถามว่า “เหตุผลที่ทำให้รู้สึกแย่ขณะที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์คืออะไร พบว่า อันดับ 1 “เห็นคนอื่นมีชีวิตที่ดีกว่าตัวเอง (แต่งงาน, ลูก, ท่องเที่ยว, การพักผ่อน)” 54%, อันดับ 2 “โฆษณาน่ารำคาญ” 48%, อันดับ 3 “เพื่อนโพสต์ภาพการพักผ่อนที่ดูสนุกสนาน” 43%, อันดับ 4 “สิ่งที่ตัวเองโพสต์ ไม่ค่อยมีคนกด Like” 42% อันดับ 1 ก็คือความอิจฉานั่นเอง สำหรับของไทย ผมไม่พบข้อมูลส่วนนั้น แต่เดาว่าคงจะคล้ายๆ เพราะแนวโน้มรวมที่แคสเปอร์สกีแล็บประกาศไว้ก็มาในแนวทางนี้
เมื่อหันมาสำรวจชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น ก็มีอีกหนึ่งการสำรวจซึ่งให้ความรู้สึกว่าใกล้ตัวมากกว่าโลกออนไลน์ นิตยสาร PRESIDENT ฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ลงผลการสำรวจโดยเจาะกลุ่มพนักงานเงินเดือน 300 คน (ชายหญิง = 7:3) และพบว่าผู้ที่ไม่รู้สึกอิจฉาคนอื่นเลยมีแค่ประมาณ 1% แต่คนกลุ่มนี้ก็มักจะนึกเอาคนรอบๆ ตัวมาเปรียบเทียบกับตัวเองอยู่บ่อยๆ (23%) หรือนานๆ ทีก็จะเปรียบเทียบสักที (36%) อย่างไรก็ตาม ถ้าแค่คิดเปรียบเทียบ ย่อมถือว่าไม่สร้างมลภาวะแก่บรรยากาศการทำงาน
เมื่อถามลึกลงไปอีกว่า “คุณอิจฉาคนอื่นเรื่องอะไร” ก็ได้คำตอบซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจทีเดียว จึงขอนำ 10 อันดับสูงสุดมาลงไว้ ดังนี้
1) รายได้สูง49.4%
2) พูดภาษาอังกฤษได้34.9%
3) มีเงินเก็บมาก34.6%
4) หัวไว32.4%
5) ทำงานเก่ง28.8%
6) มีความสามารถในการสื่อสารสูง27.9%
7) เป็นที่รัก26.0%
8) จิตใจเข้มแข็ง24.7%
9) รู้จักผู้คนกว้างขวาง24.4%
10) ลายมือ (ตัวอักษรญี่ปุ่น) สวย23.4%
การอิจฉากันเรื่องเงินทองเป็นสิ่งที่พอจะคาดเดาได้ แต่คำตอบประเภทนี้ก็ติด 10 อันแรก แค่ 2 รายการคือ “รายได้สูง” (1) กับ “มีเงินเก็บมาก” (3) สิ่งที่น่าสนใจคือ “การพูดภาษาอังกฤษได้” (2) ถือเป็นความสามารถยอดปรารถนาของคนญี่ปุ่นและเป็นที่อิจฉากันด้วย และ “ลายมือสวย” (10) ก็ติดอันดับ ซึ่งเป็นอันดับที่สูงกว่า “มีบ้านชั้นดี” (อันดับ 11) และ “มีรถชั้นดี” (อันดับ 15) ซึ่งเป็นด้านวัตถุนิยม
จิตแพทย์ญี่ปุ่นชี้ว่า ลักษณะของคนที่จะอิจฉาคนอื่นได้ง่าย คือ 1) หวั่นเกรงความสูญเสีย เช่น พี่อิจฉาน้องเมื่อแม่เอาใจน้องมากกว่า (กลัวว่าแม่จะถูกแย่งไป) ความหึงหวงคนรัก, 2) มีนิสัยชอบเปรียบเทียบคนอื่นกับตัวเอง คนลักษณะนี้มักไม่มีจุดยืนที่มั่นคงของตัวเองภายในใจ มักนำคนอื่นมาเป็นเกณฑ์วัดความสุข, 3) มีความคิดในทางลบมากเกินไป คนแบบนี้มักคิดอะไรไปเองและมีความรู้สึกรุนแรงว่าตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำ
สำหรับคนต่างชาติที่ทำงานอยู่ในญี่ปุ่น ส่วนใหญ่แล้ว ความเป็นคนต่างชาติจะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ถูกคนญี่ปุ่นอิจฉาได้ในระดับหนึ่ง เพราะคนญี่ปุ่นมองว่าไม่ใช่คู่แข่ง แต่เมื่อใดที่คนต่างชาติผู้นั้นอยู่ในสถานะหรือในตำแหน่งเดียวกันกับคนญี่ปุ่น ก็ต้องระวังตัวไว้เช่นกัน เพราะเมื่อถึงเวลานั้น ก็เท่ากับลงสนามทางความรู้สึก ไม่ต่างกับที่คนญี่ปุ่นทั่ว ๆ ไปอิจฉากันเอง เกราะป้องกันจึงไม่ใช่หลักประกันเสมอไป และเมื่อนั้นคนต่างชาติก็อาจจะช็อกเพราะนึกไม่ถึงว่าคนญี่ปุ่นจะมีความรู้สึกซับซ้อนแบบนั้นด้วย (จริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องซับซ้อน เพราะคนญี่ปุ่นก็ยังขัดแข้งขัดขากันเองอยู่)
ความอิจฉาอาจไม่ใช่สิ่งเลยร้ายเสมอไปหากเราเลือกที่จะแปลงความรู้สึกนั้นอย่างเหมาะสม ให้เป็นความพยายามของเรา ไม่ใช่การทำลายคนอื่นเพื่อให้เราดูดีกว่า ถ้าบริหารความอิจฉาไม่ดี ก็อาจจะรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นความริษยา พานจะไม่ชอบหน้าอีกฝ่ายไปด้วย ส่วนฝ่ายที่มีแนวโน้มว่าจะถูกอิจฉาริษยา วัฒนธรรมญี่ปุ่นสอนวิธีป้องกันไว้อย่างหนึ่งคือ “ความถ่อมตัว” ซึ่งสะท้อนออกมาในคำพูด เช่น “เพราะได้รับการสนับสนุนจากทุกคน” (皆さんのおかげです; Mina-san no o-kage desu) หรือ “แค่โชคช่วยเท่านั้นเอง” (運がよかったです; Un ga yokatta dake desu)
และหากต้องทำงานกับคนญี่ปุ่นในระดับพอๆ กัน เพื่อหลีกเลี่ยงความอิจฉาหรือความหมั่นไส้ สิ่งสำคัญคือต้องไม่พูดจาโอ้อวดความสามารถ (ซึ่งตรงข้ามกับวัฒนธรรมการทำงานของชาติตะวันตก) และไม่อวดรวย ในทางกลับกัน พยายามถามคำถามง่ายๆ ที่เรารู้คำตอบอยู่แล้ว ถามเพื่อสื่อให้เห็นว่าเราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง หรือพูดง่ายๆ คือต้องฉลาดที่จะรู้จักโง่เพื่อลดแรงเสียดทานทางความรู้สึก
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th