ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
มีคนไทยจำนวนไม่น้อยอยากไปเที่ยวญี่ปุ่นดูสักครั้งในชีวิต บางคนฝันไกลกว่านั้นว่าอยากไปเรียน บางคนอยากลองไปทำงาน ผมในฐานะคนที่ได้เห็นญี่ปุ่นมานานคนหนึ่งประเมินว่า จากนี้ไปความฝันเช่นนั้นของหลายๆ คนจะค่อยๆ เป็นจริงได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งเข้าสู่วัยรุ่นถึงวัยสามสิบ เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นไว้เถิด ความฝันไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน ตัวอย่างก็เริ่มมีให้เห็นชัดเจนแล้ว อย่างการไปเที่ยวญี่ปุ่นสมัยนี้ก็ง่ายกว่าเดิมมาก การไปเรียนก็มีช่องทางทุนการศึกษามากขึ้น และในอนาคต การมีโอกาสได้งานทำในญี่ปุ่น (อย่างถูกกฎหมาย) ก็จะง่ายกว่าเดิมด้วย
พอสบโอกาสเมื่อ “วันแรงงานสากล” เวียนมาบรรจบ ก็อยากจะแนะนำบางแง่มุมของตลาดแรงงานญี่ปุ่นให้คนไทยได้ทราบกันบ้าง ก่อนอื่น ต้องบอกว่า วันที่ 1 พฤษภาคม หรือ “เมย์เดย์” ไม่ใช่วันหยุดราชการในญี่ปุ่นขณะที่หลายประเทศรวมทั้งไทยถือว่าเป็นวันหยุด แต่ญี่ปุ่นก็ไม่ได้โหดร้ายถึงขั้นมองข้ามความสำคัญของแรงงาน ญี่ปุ่นมี “วันขอบคุณแรงงาน” ต่างหาก (勤労感謝の日; kinrō kansha no hi) ตรงกับวันที่ 23 พฤศจิกายนและเป็นวันหยุดราชการ
เมื่อย้อนมาเข้าเรื่องตลาดแรงงานในญี่ปุ่น จะพบว่าสาเหตุที่ทำให้คนต่างชาติได้งานญี่ปุ่นง่ายกว่าเดิมคือ ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ภาวะขาดแคลนแรงงาน ถ้าพูดเรื่องแรงงาน มีประเด็นที่ญี่ปุ่นจะต้องคิดอย่างจริงจังเพื่อคลี่คลายไปให้ได้ นอกจากเรื่องวัฒนธรรมการทำงานหนัก ซึ่งก็มีกระแสวิจารณ์ถี่ขึ้น อีกเรื่องหนึ่งที่จะเห็นชัดขึ้นทุกปีๆ คือ หาคนมาทำงานไม่ได้ หนักเข้าก็จะต้องจ้างคนต่างชาติ
ทุกวันนี้ ตามร้านค้าทั่วไป ร้านอาหาร หรือร้านสะดวกซื้อ ก็มีพนักงานที่เป็นคนต่างชาติมากขึ้น มีทั้งนักศึกษาต่างชาติที่ทำงานพิเศษและคนต่างชาติที่เป็นพนักงานประจำ ในเบื้องต้น อาจเป็นการจ้างเพื่อให้พนักงานชาวต่างชาติมาดูแลต้อนรับลูกค้าชาวต่างชาติด้วยกัน เพราะนักท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาว จุดประสงค์นั้นจะค่อยๆ แปรเปลี่ยนไปเป็นการจ้างเพื่อทดแทนแรงงานญี่ปุนที่ไม่เพียงพอ
เมื่อดูโครงสร้างประชากรญี่ปุ่น ผลการสำรวจเมื่อปี 2558 ชี้ว่าญี่ปุ่นมีประชากร 127 ล้าน 9 หมื่นคน ลดลง 96,000 คนจากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อปี 2553 และเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจเมื่อปี 2463 ทั้งยังมีการประเมินด้วยว่า เมื่อถึงปี 2593 จะเหลือประมาณ 100 ล้านคน สาเหตุหลักคืออัตราการเกิดลดลง เมื่อเกิดสภาพเช่นนี้ ก็คิดต่อได้ไม่ยากว่าจำนวนคนทำงานจะลดลงด้วย และขณะที่จำนวนผู้สูงอายุกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมตลาดแรงงาน บางกระแสอาจมองว่า ส่วนที่ลดลงไปนั้นก็ให้เครื่องจักรทำแทนสิ คงจะทดแทนได้บ้าง แต่ใครจะรับประกันได้ว่าทดแทนได้ถึงขนาดไหน?
ขณะนี้เกณฑ์อายุที่ญี่ปุ่นถือว่ามีผลิตภาพคือ 15-64 ปี (แต่ในความเป็นจริง คนอายุ 15-20 ปีเศษเป็นจำนวนมากก็ยังเป็นนักเรียนนักศึกษาอยู่ และบริษัทอีกมากมายในญี่ปุ่นก็ยังคงกำหนดอายุเกษียณที่ 60 ปี) ณ ปี 2558 มี 77.28 ล้านคน หรือ 60.8% ของประชากรทั้งหมด แต่ในปี 2568 หรือ 10 ปีต่อไป จะเหลือ 70.85 ล้านคน หรือ 58.7% เมื่อถึงวันนั้นแรงงานจะขาดแคลน 6 ล้านคน (ข้อมูลจากนิตยสาร ekonomisuto (economist) ฉบับวันที่ 18 เมษายน 2560)
ทางกระทรวงแรงงานของญี่ปุ่นประกาศออกมาเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ว่า จำนวนชาวต่างชาติที่ทำงานในญี่ปุ่น ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2559 คือ 1 ล้าน 83,769 คน ซึ่งเป็นตัวเลขเกิน 1 ล้านคนครั้งแรก และเป็นการเพิ่มขึ้น 19.4% จากปีก่อนหน้า อีกทั้งยังเพิ่มขึ้นติดต่อกันถึง 4 ปีด้วย เมื่อแยกเป็นประเทศ อันดับ 1 คือคนจีน (344,658 คน), อันดับ 2 เวียดนาม (172,018 คน), อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ (127,518 คน) และอันดับ 4 บราซิล (96,672 คน) ตัวเลขแรงงานไทยไม่ปรากฏเป็นเอกเทศในการประกาศครั้งนี้ คาดว่าถูกรวมอยู่ในประเภท “อื่น ๆ” เพราะมีจำนวนไม่มาก
แรงงานเหล่านี้กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ มากที่สุดตามลำดับคือ 1) โตเกียว, 2) ไอชิ, 3) คะนะงะวะ, 4) โอซะกะ, 5) ชิซุโอะกะ ทางการให้เหตุผลของการเพิ่มขึ้นว่า “การจ้างแรงงานต่างชาติผู้มีทักษะซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นนั้นกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ผ่านทางโครงการส่งเสริมการหางานสำหรับนักศึกษาต่างชาติ นอกจากนี้ การปรับปรุงสภาพการจ้างงานก็กำลังคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง”
สภาพปัจจุบันก็เริ่มสะท้อนให้เห็นอนาคตบ้างแล้ว และก่อนจะเกิดความขาดแคลนจนถึงขั้นเดือดร้อน บริษัทญี่ปุ่นคงต้องคิดวางแผน ผมมองว่า การปรับตัวที่น่าจะทำได้คือ 1) จ้างพนักงานชาวต่างชาติภายในญี่ปุ่นมากขึ้น, 2) จ้างพนักงานชาวต่างชาติมาจากภายนอกญี่ปุ่นมากขึ้น พร้อมทั้งปรับวัฒนธรรมองค์กรให้มีความเป็นสากลมากขึ้นเพื่อรองรับ, และ 3) รักษาหรือขยายขนาดการผลิตในต่างประเทศ ในจำนวนนี้ สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดน่าจะเป็นข้อ 1 สำหรับข้อ 2 ก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นตามมา แต่อาจใช้เวลาสักหน่อย ส่วนข้อ 3 นั้น บริษัทใหญ่ๆ ทำอยู่แล้วและคงต้องคิดทำเพิ่มเติม แต่บริษัทเล็กๆ อาจไม่จำเป็น
เมื่อขยายความข้อแรกจะได้ว่า สิ่งที่บริษัทจะทำคือ ว่าจ้างนักศึกษาที่มาเรียนในญี่ปุ่นจนสื่อสารเป็นภาษาญี่ปุ่นได้ และเข้าใจสังคมญี่ปุ่นในระดับหนึ่ง ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลปูทางไว้ให้แล้วด้วยการพยายามเชื้อเชิญนักศึกษาต่างชาติให้มาเรียนมากขึ้นผ่านแรงจูงใจที่เป็นทุนการศึกษาหลากหลายรูปแบบ ซึ่งก็เป็นเรื่องดีสำหรับคนที่มีฝันจะไปเรียนในญี่ปุ่น และญี่ปุ่นเองก็ได้ประโยชน์ในระยะยาว เพราะคนเหล่านี้จะช่วยสร้างบรรยากาศความเป็นนานาชาติให้แก่สถาบันการศึกษา พอเรียนจบแล้ว นักศึกษาจำนวนมากก็อยากทำงานในญี่ปุ่นต่อ เพราะรายได้ดีกว่าในประเทศตัวเอง ซึ่งก็ช่วยตอบสนองความต้องการของบริษัทได้พอดี
จริงอยู่ที่ว่าสภาพการทำงานในบริษัทญี่ปุ่นอาจจะถือว่าหนักสำหรับคนชาติอื่น แต่เมื่อเทียบกับตัวเงินที่ได้ ส่วนใหญ่กลายเป็นว่าปากบ่นแต่ก็ทนทำ ยกตัวอย่างนักศึกษาไทยจบใหม่ในญี่ปุ่น ถ้าทำงานที่ญี่ปุ่น เริ่มต้นได้เดือนละ 6-7 หมื่นบาท ต้องทำงานถึงทุ่มสองทุ่มทุกวัน ถามว่าถ้าให้ทำงานบริษัทในเมืองไทย เงินเดือนเริ่มที่ประมาณ 2 หมื่นบาทแล้วกลับบ้าน 5 โมงทุกวัน จะเลือกแบบไหน? ผมเชื่อว่าหลายคนเอนเอียงไปทางญี่ปุ่น
และเมื่อถึงจุดหนึ่ง นอกจากการจ้างงานคนต่างชาติภายในประเทศแล้ว ก็อาจจำเป็นต้องเพิ่มการจ้างแรงงานจากต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะประเภทช่างเทคนิค และขยับขยายไปสู่การฝึกอบรมแรงงานฝีมือระดับหัวหน้า ความเป็นไปได้ที่สูงขึ้นคือ พนักงานต่างชาติระดับหัวหน้าในประเทศที่เป็นฐานการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นจะมีโอกาสได้ไปทำงานในญี่ปุ่นมากขึ้นเป็นเวลายาวนานขึ้น ส่วนหนึ่งคือเพื่อทดแทนคนญี่ปุ่น และอีกส่วนหนึ่งคือเพื่อรับการถ่ายทอดทักษะให้นำกลับมาบริหารลูกน้องในประเทศตนอย่างครอบคลุมมากขึ้น เพราะจำนวนคนญี่ปุ่นที่บริษัทจะส่งไปดูแลได้โดยตรงนั้นอาจไม่เพียงพอแล้ว
สำหรับญี่ปุ่น ขณะที่ธุรกิจหลายอย่างเริ่มไปต่อไม่ไหวอย่างเช่นชาร์ปและโตชิบา ก็ถึงเวลาที่จะต้องหันมาปรับตัวทั้งด้านการบริหารและด้านแรงงานด้วยเพราะจะเป็นปัญหาในเร็ววัน และคนภายนอกคงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่าประเทศต้นแบบแห่งความเจริญของเอเชียจะก้าวไปทางไหน
แรงงานคือพลังทางเศรษฐกิจ ควรแล้วที่จะต้องตระหนัก ถึงได้มีวันแรงงานสากลขึ้นมา แต่ถึงแม้วันที่ 1 พฤษภาคมไม่ใช่วันแรงงานในญี่ปุ่น คนทำงานทั้งหลายก็คงไม่เดือดร้อนอะไร เพราะมีวันอื่น ๆ ที่จะได้หยุดยาวกันในช่วงนี้ ซึ่งเรียกว่า “โกลเดน-วีก” หรือ “สัปดาห์ทอง” ได้แก่ วันที่ 29 เมษายน วันโชวะ และ 3-4-5 พฤษภาคม วันรำลึกรัฐธรรมนูญ-วันสีเขียว-วันเด็ก
อากาศแจ่มใสต้นเดือนพฤษภาคมกับลมเย็นใต้ฟ้าโปร่งติดๆ กันหลายวันถือเป็นของกำนัลมีค่าสำหรับคนทำงานในญี่ปุ่นที่จะได้ว่างเว้นจากการงานนานกว่าช่วงอื่น ปีนี้เสียอย่างเดียวคือเกิดบรรยากาศล่อแหลมแถบคาบสมุทรเกาหลี ไม่งั้นมนุษย์งานคงจะได้เบิกบานผ่อนคลายกันอย่างจุใจ ไม่ใช่เดี๋ยวคลายเดี๋ยวเครียด
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th