ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทยเปิดโผผลการวิจัย 10 อันดับธุรกิจรุ่ง-ร่วงประจำปี 60 อันดับ 1 ได้แก่ ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม ได้ถึง 94.1 คะแนน ครองแชมป์ต่อเนื่องมา 6 ปีเพราะเทรนด์รักสุขภาพ ตามด้วยธุรกิจเครื่องสำอางและบำรุงผิว ส่วนธุรกิจขาลงทั้งหมดอยู่ในกลุ่มที่ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบัน
นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการวิจัย 10 อันดับธุรกิจเด่น และด้อย ของปี 2560 จากปัจจัยด้านยอดขาย ต้นทุน กำไรสุทธิ ความนิยม และความสามารถในการรับปัจจัยเสี่ยง จากคะแนนรวม 100 คะแนน พบว่าธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงามได้ถึง 94.1 คะแนน ยังคงอยู่อันดับ 1 มา 6 ปีติดต่อกัน เนื่องจากกระแสการให้ความสำคัญต่อการรักษาสุขภาพและดูแลความงามยังมีอยู่ต่อเนื่อง ประกอบกับการบริการทางการแพทย์และความงามของไทยมีคุณภาพดีราคาไม่แพงได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เช่นเดียวกับธุรกิจเครื่องสำอางและครีมบำรุงผิวได้ 92.2 คะแนน ขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 2 จากอันดับ 3 ในปีที่แล้ว เนื่องจากพฤติกรรมการดูแลรักษาผิวพรรณของทุกช่วงอายุเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ตามด้วย ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ธุรกิจทางด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร , ธุรกิจวัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้าง , ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ , ธุรกิจบริการทางการเงิน (เคาเตอร์เซอร์วิส ฟินเทค และออนไลน์แบงก์กิ้ง) ธุรกิจห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจออแกไนท์ , ธุรกิจซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจการศึกษา , และธุรกิจให้คำปรึกษาทางกฎหมายและบัญชี
โดยธุรกิจเด่นในปี 2560 เป็นไปตามเมกะเทรนด์ของโลกที่มี 4 ตัวหลัก คือ ดิจิทัลที่ทำให้กลุ่มอี-คอมเมิร์ซ และบริการทางการเงินแบบฟินเทคมาแรง , การเป็นสังคมเมือง ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป มีการซื้อสินค้าในห้างโมเดิร์นเทรดมากขึ้น , การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ การออมเงินและการประกันโต และสุดท้าย คือ กระแสกรีน ที่ทำให้การรักษ์สุขภาพจะเด่นชัดขึ้น
นอกจากนี้ ธุรกิจเด่นยังได้รับผลดีจากนโยบายของรัฐ ทั้งนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ไทยแลนด์ 4.0 ที่ช่วยส่งเสริมและเติมเต็มในหลายๆ ธุรกิจ เช่น อี-คอมเมิร์ซ การท่องเที่ยว บริการการเงิน ขณะที่นโยบายส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และการอัดฉีดงบกลางลงสู่ 18 กลุ่มจังหวัด ก็จะมีผลต่อการลงทุน การค้าชายแดน ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจวัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจออแกไนท์ และธุรกิจให้คำปรึกษาทางกฎหมายและบัญชีในการทำการค้ากับต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม การสำรวจในปีนี้ พบว่า ธุรกิจเด่นที่เคยติดอันดับ 1 ใน 10 ของปี 2559 กลับไม่ติด 1 ใน 10 ของธุรกิจเด่นในปี 2560 ได้แก่ ธุรกิจจัดการตลาด ทั้งตลาดนัด ตลาดสด ตลาดนัดกลางคืน , ธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ , ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์และสมุนไพรธรรมชาติ , ธุรกิจออกกำลังกาย เช่น ฟิตเนต สนามกีฬา และธุรกิจพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน ส่วนธุรกิจเด่นในปี 2560 ที่ไม่ติด 1 ใน 10 ของธุรกิจเด่นในปี 2559 ได้แก่ ธุรกิจบริการทางการเงิน , ธุรกิจ Modern Trade , ธุรกิจออแกไนท์ , ธุรกิจซ่อมและจำหน่ายอะไหล่อิเล็กทรอนิกส์ และธุรกิจให้คำปรึกษาทางกฎหมายและบัญชี
สำหรับ 10 อันดับธุรกิจดาวร่วงในปี 2560 ได้แก่ อันดับหนึ่ง ได้แก่ ธุรกิจฟอกย้อม รองลงมา คือ ธุรกิจหัตถกรรม ธุรกิจนิตยสาร ธุรกิจร้านเช่าหนังสือ ธุรกิจร้านเช่าวีดีโอและซีดี สิ่งทอผ้าผืนที่ไม่เน้นฝีมือ ธุรกิจจัดทำโปสเตอร์ ธุรกิจโรงไม้ ธุรกิจตัดและซ่อมรองเท้า ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ และธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องจักรทางการเกษตร
“ธุรกิจดาวร่วง ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ไม่มีการพัฒนา โดยเฉพาะกลุ่มฟอกย้อม หัตถกรรม รองเท้าและสิ่งทอที่ตัดเย็บทั่วไป ซึ่งกลุ่มนี้จะถูกสินค้าจากจีนที่มีต้นทุนต่ำกว่าเข้ามาตีตลาด ส่วนธุรกิจนิตยสารและหนังสือ มองว่า ภายใน 2 ปีนับจากนี้ จะเป็นช่วงที่เหนื่อยมากของธุรกิจกลุ่มนี้ โดยเฉพาะนิตยสารที่มีความเฉพาะอาจต้องปรับตัวหนัก เนื่องจากพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่หันไปอ่านผ่านอี-บุ๊ค และอี-แมกกาซีนมากขึ้น ซึ่งต้องเป็นกลุ่มที่เข้าถึงตลาดทั่วไป (แมส) หรือมีฐานใหญ่ในต่างจังหวัดที่ยังเข้าถึงเทคโนโลยีมากนัก จึงจะอยู่ได้”
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในปี 2560 จะเป็นปีแห่งการปรับตัว เริ่มจากการปรับโครงสร้าง ซึ่งจะเห็นว่าทุกประเทศหันกลับมาใช้และสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศตัวเองมากขึ้น ทั้งในสหรัฐฯ ยุโรปและจีน รวมทั้งไทย การปรับสมดุล เพราะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกซึมตัว ทำให้มีภาวะโอเวอร์ซัพพลายสูง แต่ในปีหน้าโลกจะเริ่มปรับสมดุล ภาวะโอเวอร์ซัพพลายในตลาดก็จะลดลง ไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำมันที่เริ่มปรับลดปริมาณลง ทำให้คาดว่าราคาน้ำมันจะยืนอยู่ที่ระดับ 55-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล นำไปสู่การปรับสมดุลการบริโภค ส่งผลให้การลงทุนใหม่ในกลุ่มสินค้าที่มีโอเวอร์ซัพพลายจะไม่เกิด ผลักดันให้ราคาสินค้า ทั้งข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมันค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น และสุดท้าย การปรับเปลี่ยน ที่คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะเริ่มปรับเปลี่ยนไปในทางบวก ฟื้นตัวดีขึ้น แม้ว่าจะความเสี่ยงในเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบและความวุ่นวายทางการเงินในยุโรปจะยังคงอยู่ และการปรับปรุงที่จะเห็นว่าโลกเริ่มมีการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อไปสู่มาตรฐานที่มากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวรับเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด
ทั้งนี้ คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัวอยู่ในกรอบ 3.5-4% โดยจะค่อยฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาส2 หลังจากที่รัฐบาลอัดฉีดงบกลางลงไปขับเคลื่อน รวมทั้งการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท ทั้งรถไฟรางคู่และมอเตอร์เวย์ เป็นต้น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *