ความนิยมในสมุนไพรไทยและความใส่ใจสุขภาพของคนยุคปัจจุบันที่เพิ่มมากขึ้น สร้างโอกาสให้แบรนด์ “ชีววิถี” แจ้งเกิดในวงการเวชสำอางสมุนไพร และด้วยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อย่างหลากหลาย มาพร้อมหาช่องทางตลาดกว้างขวาง ผลักดันจากกิจการครัวเรือนเล็กๆ สู่ธุรกิจยอดขายหลักร้อยล้านบาทต่อปี ในเวลาหนึ่งทศวรรษ
ธนวัฒน์ เจริญนิเวศนุกูล และอรประภา พรมรังฤทธิ์ ประธาน และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เซนต์ บิวตี้ คอสเมติก (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ “ชีววิถี” เริ่มต้นจากการเปิดร้านขายส่งปลีกผลิตภัณฑ์เวชสำอางสมุนไพรต่างๆ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก่อนจะผันตัวมาเป็นผู้ผลิตเอง
“ดิฉันชื่นชอบเรื่องผลิตภัณฑ์ความงามที่มีส่วนผสมของสมุนไพรอยู่แล้ว เลยไปเรียนต่อด้านเวชสำอาง และสมุนไพรจนจบเภสัชกรแพทย์แผนไทย จากสถาบันการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำความรู้มาต่อยอดทำธุรกิจเวชสำอางของตัวเอง” อรประภา เผยจุดเริ่มต้นธุรกิจ
เบื้องต้นสมาชิกครอบครัว 7 คน ช่วยกันทำในครัวเรือน นำวัตถุดิบ “มะพร้าว”ที่มีอยู่จำนวนมากในพื้นที่ใกล้บ้าน อ.สามพราน จ.นครปฐม มาทำ “ทรีทเมนท์น้ำมันมะพร้าว” จากนั้น เฟ้นหาสมุนไพรดีเยี่ยมจากทั่วประเทศมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดเสมอ ปัจจุบัน มีแหล่งวัตถุดิบหลัก 2แห่ง ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน “บ้านน้ำเกี๋ยน” จ.น่าน แหล่งปลูกใบหมี่ นำไปใช้ทำแชมพูสมุนไพร และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรแม่บ้าน “รำมะสัก” จ.อ่างทอง เป็นแหล่งวัตถุดิบปลูกขิง ข่า ตะไคร่ ไพล ใช้ทำผลิตภัณฑ์นานาชนิด
อรประภา เสริมว่า ในยุคแรกเข้าโครงการโอทอป ได้รับคัดสรรระดับ 5 ดาว ช่วยให้มีช่องทางตลาด ขายงานโอทอปต่างๆ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญ ผลักดันให้สินค้าระดับชุมชน เพิ่มยอดขายก้าวกระโดด เกิดขึ้นจากการไปเสนอวางขายในร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น” ในปี พ.ศ.2555 ทำให้เพิ่มช่องทางตลาดกว้างขวางอย่างยิ่ง
“หลังจากที่เริ่มมีชื่อเสียงในระดับหนึ่งแล้ว พยายามมุ่งหาช่องทางตลาดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เลยนำสินค้าไปเสนอเซเว่นฯ และได้รับพิจารณาเข้าวางขาย กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้เราต้องกลับมาพัฒนาทุกด้าน ตั้งแต่การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การทำตลาด และการผลิต ฯลฯ เพื่อจะได้มาตรฐานตามที่เซเว่นฯ กำหนด” เจ้าของธุรกิจ ระบุ
ความพยายามในการพลิกโฉมธุรกิจดังกล่าว นับว่าคุ้มค่าอย่างยิ่ง ช่วยถีบยอดขายจากเดิม ที่ได้หลักแสนบาทต่อเดือน เพิ่มเป็นหลักล้านบาทต่อเดือน และเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 30%ทุกปี อีกทั้ง ยังช่วยสร้างเครดิตให้สถาบันการเงินเชื่อมั่น อนุมัติสินเชื่อมาสร้างโรงงานแห่งใหม่ มูลค่ากว่า 33 ล้านบาท สามารถขยายกำลังผลิต กว่า 5,000-7,000 ชิ้นต่อวัน พนักงานเพิ่มเป็นกว่า 120 คน โดยปีที่แล้ว (2558) ยอดขายรวมกว่า 150 ล้านบาท ซึ่งมาจากขายผ่านเซเว่นฯ กว่า 40% ขณะที่อีก 30% มาจากขายผ่านหน้าตัวแทนต่างๆ และอีก 30% มาจากรับจ้างผลิต (OEM) และออกงานแฟร์ต่างๆ
อรประภา กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่เป็นหัวใจผลักดันให้ธุรกิจเติบโตขึ้นมาได้ เกิดจากคุณภาพที่ผู้ใช้เชื่อถือ ประกอบกับราคาเหมาะสม ไม่สูงกันไป มีสินค้าหลากหลาย รวมกว่า 200 รายการ ทำให้ผู้บริโภคและร้านตัวแทนขายมีทางเลือกหลากหลาย
“ตั้งแต่เริ่มธุรกิจมาประมาณ 10 ปี เราแทบไม่เคยทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ใดๆ เลย ยุคแรกลูกค้าจะพบเราในงานโอทอปต่างๆ ซื้อเพื่อทดลองใช้ และเมื่อใช้แล้วถูกใจ ก็จะจำแบรนด์ได้และซื้อใช้ซ้ำต่อเนื่อง ยิ่งพอไปเจอขายในร้านสะดวกซื้อ ทำให้สามารถซื้อได้ง่ายขึ้น ทำให้ยอดขายเติบโตต่อเนื่อง” เธอ กล่าวและเผยอีกว่า
“ส่วนเรื่องราคาเป็นสิ่งที่เราพยายามกำหนดให้เหมาะสม ลูกค้าซื้อได้ง่ายที่สุด เนื่องจากสมุนไพรไทย ในความรู้สึกของลูกค้าคนไทยแล้ว จะมองว่าต้องเป็นของถูก เคยปรับบรรจุภัณฑ์ให้ดูหรูหราเพื่อเพิ่มมูลค่า แต่ลูกค้ากลับไม่ยอมรับ ต้องหันมาใช้บรรจุภัณฑ์แบบเดิมๆ ดังนั้น กำไรต่อหน่วยของ “ชีววิถี” จึงน้อยมาก แต่อาศัยขายในปริมาณมากทดแทน รวมถึง ซื้อวัตถุดิบต่างๆ เก็บสต็อกไว้ เพื่อควบคุมต้นทุน สามารถขายสินค้าได้ในราคาย่อมเยา” อรประภา ระบุ
ธนวัฒน์ ให้ข้อมูลเสริมว่า เพื่อจะเพิ่มมูลค่าให้สินค้า บริษัทฯ ได้ทำสินค้าเป็น 3 แบรนด์ จับตลาดแตกต่างกันชัดเจน ได้แก่ 1.“ชีววิถี” เน้นเป็นเวชสำอางจากสมุนไพร ตลาดผู้บริโภคทั่วไป 2.“SENSE” (เซน) เป็นผลิตภัณฑ์ที่เจาะจงใช้ในร้านสปา มุ่งตลาดตั้งแต่กลางไปถึงบน และล่าสุด 3. “SENS’E” (เซน-เซ่)เน้นเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีนวัตกรรม ขายราคาสูง เจาะตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวจีน เช่น สบู่น้ำนมข้าวผสมรังนก เป็นต้น
“สิ่งที่ช่วยให้เราประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ ผมเชื่อว่า มาจากความนิยมในสมุนไพรไทยและความใส่ใจสุขภาพของคนยุคปัจจุบันที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบเราสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ และหลากหลายครอบคลุมทุกความต้องการ เมื่อลูกค้าใช้แล้วสัมผัสถึงคุณภาพที่ดีได้ ก็จะกลับมาซื้อซ้ำเรื่อยๆ” ประธานบริษัทฯ ระบุ
อรประภา เสริมด้วยว่า บริษัทฯ มุ่งที่จะสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ โดยให้ความสำคัญตั้งแต่การปลูกพืชสมุนไพรต่างๆ ที่จะรับซื้อตรงจากกลุ่มเกษตรที่ไว้วางใจได้ พร้อมกำหนดคุณภาพ โดยจะรับซื้อในราคาที่ผู้ปลูกพึงพอใจ ปัจจุบัน มีเกษตรกรหลายร้อยคน จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “บ้านน้ำเกี๋ยน” จ.น่าน และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรแม่บ้าน “รำมะสัก” จ.อ่างทอง ที่ได้รับประโยชน์จากการขายพืชสมุนไพรต่างๆ ให้บริษัท มูลค่ารวมกัน หลักสิบล้านบาทต่อปี
ส่วนแผนธุรกิจในปีหน้า (2560) ซื้อที่ดินกว่า 8 ไร่ใน จ.กาญจนบุรี ปลูกพืชสมุนไพรบางชนิด เพื่อขยายแหล่งปลูกวัตถุดิบ รวมถึง พยายามนำผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมของบริษัท ไปล่ารางวัลจากเวทีประกวดระดับนานาชาติ เพื่อใช้เป็นใบการันตีคุณภาพ เปิดช่องทางจะขยายตลาดไปสู่ลูกค้าต่างชาติมากยิ่งขึ้น เช่น ส่งออกไปกลุ่ม CLMV และตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเยือนเมืองไทย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *