กฟผ. น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ จัดพิธีแสดงความอาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 30 วัน และแต่งกายไว้ทุกข์เป็นเวลา 1 ปี
วันนี้ (17 ตุลาคม 2559) ผู้บริหารและพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั่วประเทศกว่า 20,000 คน ร่วมกันแสดงความอาลัยถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 โดยมี นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. นำแสดงความอาลัยฯ ณ หอประชุมเกษม จาติกวณิช สำนักงานใหญ่ กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า พนักงาน กฟผ.ทุกคนน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ และมีความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสถวายงานตามเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ด้วยพระปรีชาสามารถด้านวิศวกรรม พระองค์ทรงมีพระราชดำริในการพัฒนาแหล่งน้ำและเขื่อน เพื่อความสว่างไสวและความเจริญให้แก่ประเทศ และความผาสุกของประชาชน ทำให้มีการพัฒนาเขื่อนอเนกประสงค์หลายแห่ง ที่มีการนำพลังน้ำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าควบคู่กับการชลประทาน อาทิ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานพระปรมาภิไธยให้เป็นชื่อเขื่อน และในยามที่เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยือนราษฎรในส่วนภูมิภาค กฟผ.ยังได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ถวายการรับรอง ณ พระตำหนักที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขื่อนของ กฟผ.อยู่เสมอ นำมาซึ่งความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
นอกจากนี้ พระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กที่จะช่วยพัฒนาชุมชนในพื้นที่ห่างไกล กฟผ.ได้รับสนองพระราชดำริในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านยาง โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านขุนกลาง จ.เชียงใหม่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนห้วยกุ่ม เขื่อนพรมธารา จ.ชัยภูมิ โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติ จ.ยะลา โรงไฟฟ้าพลังน้ำคลองช่องกล่ำ จ.สระแก้ว และพระองค์ท่านยังให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทน โดย กฟผ.ได้สนองพระราชดำริด้วยการดำเนินการ “โครงการบ้านพลังงานแสงอาทิตย์” และ “โครงการผลิตเชื้อเพลิงแกลบอัดแท่ง” รวมถึง “การสกัดน้ำมันไบโอดีเซลจากเมล็ดต้นสบู่ดำ” เพื่อเป็นต้นแบบแก่ประชาชน
นอกเหนือจากการผลิตไฟฟ้าแล้ว กฟผ.ยังได้สนองเบื้องพระยุคลบาทด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม ด้วยการดำเนินโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2542 โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ชุมชนรอบเขต เขื่อน โรงไฟฟ้า และระบบส่งของ กฟผ.ทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่โดยรอบหน่วยงานที่ กฟผ. ตั้งอยู่รู้จักการพึ่งพาตนเองด้วยวิถีธรรมชาติ ช่วยลดค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง กลายเป็นชุมชนต้นแบบ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศได้นำแนวทางไปปฏิบัติ
ขณะเดียวกัน กฟผ.ได้สนองแนวพระราชดำริด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ เช่น โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ (อพ.สธ.) เพื่อรักษาและปกปักรักษาผืนป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งไปกว่านั้น กฟผ. ได้น้อมนำพระราชจริยาวัตรอันงดงามของพระองค์ มาเป็นต้นแบบในการดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ได้แก่ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพุทธมามกะ กฟผ.จึงจัดให้มีพิธีถวายผ้าป่ามหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ ในโครงการ “ทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย” เป็นประจำทุกปี เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ตลอดไป
นอกจากนี้ พระองค์ทรงเป็นต้นแบบการเสวยข้าวกล้องเป็นพระกระยาหารหลัก กฟผ.จึงได้ดำเนินโครงการ “ข้าวกล้องเบอร์ 5” เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนหันมาบริโภคข้าวกล้องเพื่อสุขภาพที่ดี ขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริมรายได้ให้เกษตรกร ไปพร้อมกับการประหยัดพลังงานจากการลดขั้นตอนในกระบวนการสีข้าวได้อีกทางหนึ่ง
“เมื่อข้าพเจ้าและพนักงาน กฟผ.รับทราบประกาศสำนักพระราชวัง เรื่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สวรรคต ทุกคนมีความเศร้าโศกเฉกเช่นเดียวกับพสกนิกรไทยทั้งชาติ และจะขอแสดงความจงรักภักดีด้วยการเจริญตามรอยพระยุคลบาท ปฏิบัติและสานต่อภารกิจตามพระราชดำริของพระองค์ และจะประพฤติปฏิบัติตนเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริต เพื่อความเจริญผาสุกของประเทศชาติและประชาชนสืบไป” ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าว
ทั้งนี้ กฟผ.ได้ไว้ทุกข์ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี โดยการลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 30 วัน และแต่งกายด้วยชุดไว้ทุกข์เป็นเวลา 1 ปี ทั้งยังมีการประดับผ้าขาว-ดำ รวมถึงได้จัดสถานที่เพื่อประกอบพิธีลงนามถวายความอาลัย ณ สำนักงาน เขต เขื่อน และโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ทั่วประเทศ อีกทั้งได้เตรียมจุดบริการน้ำดื่มและอาหารกล่องสำหรับประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระบรมศพที่พระบรมมหาราชวังอีกด้วย