•เดินหน้ากิจกรรมเด่น 3 ขาซีเอสอาร์ไปต่อยอดด้วยการสร้างคุณค่าร่วม
•เริ่มจากปลูกป่าต้นน้ำ ป่าเศรษฐกิจ ที่จังหวัดน่าน
•ขยายผล “โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ให้เกษตรกรเรียนรู้การนำจุลินทรีย์ (EM) มาใช้ทดแทนสารเคมี
•ผนึก มธ.เล็งต่อยอด Move World Together ให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม
สหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคมของกฟผ.ว่า ในปีนี้จะเห็นว่ากิจกรรมเพื่อสังคมในโครงการหลัก เพื่อเป็นการต่อยอด สานประโยชน์สู่สังคมและชุมชนตามเป้าหมายให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของผู้ว่า กฟผ. - กรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ที่ว่ามุ่งมั่นผลักดัน กฟผ. ให้มีการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนควบคู่กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน และตอกย้ำ กฟผ. เป็นองค์กรที่มีคุณค่าต่อประชาชน สังคม และประเทศชาติ โดยเฉพาะการได้รับการยอมรับและสนับสนุนอย่างยั่งยืนจากชุมชนรอบโรงไฟฟ้าและสังคมในภาพรวม
“กิจกรรมซีเอสอาร์กฟผ. ปีนี้คงขับเคลื่อนผ่านโครงการเพื่อสังคม 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม การศึกษา สังคม และชุมชน แต่ก็จะเป็นแนวทางใหม่ที่พัฒนาต่อยอดจากกลยุทธ์ซีเอสอาร์ด้วยการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value หรือ CSV) ระหว่างเรา คือ กฟผ. และสังคมซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียไปพร้อมๆ กัน เรียกว่าเป็นการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักของกิจการมาสร้างให้เกิดเป็นคุณค่าเชิงเศรษฐกิจและสังคมไปด้วยกันในลักษณะ R&D 2 C (Research and Development to Commercial) การวิจัยและพัฒนาสู่การตลาด มีแนวคิดในลักษณะ Social Enterprise ไม่หวังผลด้านกำไรสูงสุด หมายความว่า การพัฒนาจะต้องตอบสนองความต้องการสิ่งใดสิ่งหนึ่งใน 2 ลักษณะสำคัญ คือ ต้องสามารถแก้ปัญหา หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ส่วนโครงการช่วยเหลือด้วยการให้ การบริจาคแบบเดิมนั้นยังคงอยู่แต่ก็จะลดบทบาทลงไป”
เดินหน้าปลูกป่าต้นน้ำ ป่าเศรษฐกิจ
ด้านสิ่งแวดล้อม เน้นไปที่โครงการปลูกป่า เราร่วมกับหน่วยงานต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน กฟผ.ได้ปลูกป่าทั่วประเทศแล้วกว่า 4.4 แสนไร่ โดยในปี 2558 เป็นต้นมา กฟผ. มีเป้าหมายปลูกป่าเพิ่มปีละ 20,000 ไร่ เช่น ในส่วนขององค์การสวนสัตว์ กฟผ. ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณร่วมสองล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการปลูกป่าและบำรุงรักษา เริ่มตั้งแต่ปี 2558-2560 บนพื้นที่ 300 ไร่ บนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติสวนป่าดงภูดิน
ส่วนในปีนี้เรามุ่งการปลูกป่าถาวรเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะในพื้นที่ปลูกป่า จังหวัดน่าน ซึ่งปลูกต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2537 เป็นระยะเวลากว่า 22 ปี มีต้นไม้จำนวนกว่า 16,560,000 ต้น ในพื้นที่ 82,800 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่เกือบทุกอำเภอ ภายใต้โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ กฟผ. เพื่อให้เป็นต้นแบบในการเพิ่มพื้นที่ป่าซึ่งเป็นแนวทางที่ยั่งยืน ส่งผลทั้งชุมชน และสังคมส่วนรวมจากการได้แหล่งน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตความเป็นอยู่ในระยะยาว
สหรัฐ บอกว่า ในปีนี้เป้าหมายปลูกป่า จ.น่าน ต่อเนื่องอีก 17,000 ไร่ ประกอบด้วย ป่าใช้สอย หรือป่าชุมชน จำนวน 500 ไร่ (ปลูกในพื้นที่ชุมชน) และป่าต้นน้ำ หรือป่าบก จำนวน 16,500 ไร่ (ปลูกในเขตอุทยานแห่งชาติ, ป่าสงวนแห่งชาติ และโครงการพระราชดำริ) สำหรับพื้นที่ป่าต้นน้ำ และป่าชุมชน นั้น กฟผ. มีความตั้งใจร่วมสร้างเมืองน่านน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำร่วมกับชาวน่าน เนื่องจาก จ.น่าน เป็นต้นน้ำลำธารที่ไหลลงสู่เขื่อนสิริกิติ์ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
ทั้งนี้ โครงการปลูกป่าของ กฟผ. จะดำเนินการควบคู่ไปกับการปลุกจิตสำนึกชาวน่าน ให้รัก หวงแหน และร่วมอนุรักษ์ป่าไม้ ตามแนวทาง “ปลูกที่ท้อง ปลูกที่ใจ ปลูกในป่า” สู่การปลูกที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จในการดูแลป่าเหนือเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศมาแล้ว
“ปลูกที่ท้อง” กฟผ. เน้นส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ด้วยการจ้างงานชุมชนในพื้นที่ให้ปลูกป่า และบำรุงรักษาป่าให้ โดยใช้งบประมาณการจ้างไม่ต่ำกว่าปีละ 80 ล้านบาท ทำให้ชุมชนในท้องถิ่นมีรายได้ ส่งผลให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากนั้นเรานำโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผสมผสานกับกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านได้ปฏิบัติเป็นต้นแบบ เพื่อให้ชุมชนที่ดูแลป่ามีกินมีใช้ พึ่งพาตัวเองได้
“ปลูกที่ใจ” กฟผ. เรารณรงค์ปลุกจิตสำนึกชาวน่าน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ด้วยการจัดทำโครงการกล้าดี เป็นโครงการเด็กคิด เด็กทำ เด็กพูด เพื่อรักษาป่าไม้ของ จ.น่าน ทำให้เด็กเห็นคุณค่า และพร้อมดูแล ปกป้องผืนป่าให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์
“ปลูกในป่า” นอกจาก กฟผ.ปลูกป่าตามเป้าหมายร่วมกับชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยประสานการขอพื้นที่อย่างถูกต้องตามกฎหมายจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมุ่งเน้นแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลปกป้องผืนป่า เพราะหากมีการดูแลรักษาที่ดี ป่าไม้ก็จะยังคงอยู่โดยไม่ต้องปลูกป่าซ้ำทุกปี
ผนึก สอศ. ขยายผลโครงการชีววิถีฯ
กฟผ. ดำเนินโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นการส่งเสริมด้านชุมชนของ กฟผ. แสดงถึงการน้อมนำแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปฏิบัติเป็นรูปธรรมจนเกิดผลสำเร็จต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาในแต่ละปีสามารถสร้างเครือข่ายและขยายผลได้ ไม่น้อยกว่า 120 ชุมชน 50 โรงเรียน และประชาชนทั่วไปกว่า 100,000 คน จนกระทั่งนำมาสู่ความร่วมมือโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในปีนี้ ด้วยการขยายองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการส่งเสริมการนำจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ (EM) มาใช้ทดแทนสารเคมีในชีวิตประจำวันของประชาชน พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณ บุคลากร และข้อมูลด้านวิชาการ ที่ผ่านมามีวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี วิทยาลัยประมง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเข้าร่วม 92 แห่ง
“การดำเนินโครงการฯ สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชุมชนนำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ระยะเริ่มต้นเกษตรกรในชุมชนส่วนหนึ่ง เกิดข้อสงสัยว่าผลผลิตการทำเกษตรอินทรีย์ที่ลดลงจะเกิดผลดีต่อคุณภาพชีวิตอย่างไร แต่ในที่สุดได้พิสูจน์ว่า ผลกระทบจากสารเคมีต่อสุขภาพของเกษตรกรหากคิดเป็นเม็ดเงินใช้จ่ายดูแลสุขภาพก็ยังคุ้มค่ากว่า ถึงแม้ผลผลิตที่ลดลง หรือใช้ระยะเวลาเพาะปลูกนานกว่า” สหรัฐ กล่าว พร้อมบอกว่า ตอนนี้มีโครงการจะขยายผลการดำเนินงานไปสู่วิทยาลัยการอาชีพ และวิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการต่างๆ อีกด้วย
ผนึก 3 ภาคี เล็งต่อยอด SE
โครงการ Move World Together
ด้านการศึกษา ในปีนี้ โครงการ Move World Together : เพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อม ของ กฟผ. ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง จากผลงาน “โรงเรือนตากขี้ยางพารา” ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรม 2016 International Invention Innovation Competition in Canada : iCAN 2016 ณ เมืองโทรอนโท ประเทศแคนาดา สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยได้สำเร็จ
สหรัฐ กล่าวว่า ผลงาน “โรงเรือนตากขี้ยางพารา” คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผลงานของ iCAN 2016 พิจารณาคัดเลือกผลงาน “โรงเรือนตากขี้ยางพารา” ของโรงเรียนสิรินธรวิทยานุสรณ์ จังหวัดอุบลราชธานี ในพื้นที่โรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร ของ กฟผ. ซึ่งได้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้รับรางวัลเหรียญทอง โดยเกณฑ์ในการตัดสินผลงาน พิจารณาจากความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม การใช้เทคโนโลยีและเอกลักษณ์ คุณลักษณะเด่น สามารถนำมาใช้งานได้จริง ด้านผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและความเป็นไปได้ด้านการตลาดและการจำหน่าย ซึ่งโรงเรือนตากขี้ยางพารา ช่วยชาวบ้านในชุมชนอำเภอสิรินธร มีอาชีพจำหน่ายยางพาราในรูปแบบขี้ยางหรือยางก้นถ้วย แก้ปัญหาการตากขี้ยางบนลานคอนกรีต ซึ่งใช้พื้นที่มากและเปียกชื้นจากฝน รวมทั้งต้องพลิกกลับให้รับแสงแดดทั้งสองด้านเพื่อไล่ความชื้นไม่ให้เกิดเชื้อรา ซึ่งผลงานสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวใช้พื้นที่น้อย ออกแบบให้มีการหมุนวนถ่ายเทของอากาศเพื่อไล่ความชื้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2555-2558 เยาวชนของโครงการฯ ได้คิดค้นผลงานนวัตกรรมถึงขั้นได้รับรางวัลระดับนานาชาติแล้ว 5 ผลงาน รวม 20 รางวัล เช่น เตาประหยัดพลังงาน จากโรงเรียนร่มเกล้ากาญจนบุรี กระติบไฟฟ้า จากโรงเรียนอุบลรัตน์พิทยาคม ขอนแก่น หวดประหยัดพลังงาน จากโรงเรียนปิยะมหาราชาลัย นครพนม เตาเอนกประสงค์ จากโรงเรียนปลาปากวิทยา นครพนม และเครื่องดำนามือหมุน จากโรงเรียนปลาปากวิทยา นครพนม เป็นต้น
นับเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง กฟผ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรมกิจการเด็กและเยาวชน และสมาคมพัฒนาศักยภาพและอัจฉริยภาพมนุษย์ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนในรูปแบบค่ายอบรมผู้นำเยาวชนเพื่อโลกที่ยั่งยืน ได้จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ในปีนี้ทำเป็นปีที่ 5 โดยที่ผ่านมาระหว่างปี 2557 - 2559 มีผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมได้รับรางวัลรวมถึง 38 รางวัล และ กฟผ. จะสนับสนุนและต่อยอดโครงการนี้ เพื่อนำผลงานนวัตกรรมต้นแบบต่างๆจากโครงการไปสู่การผลิตเป็นสินค้าและจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและสร้างรายได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศ
“เรามุ่งเน้นการเปลี่ยนวิธีคิดของเยาวชนด้วยกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้เยาวชนสามารถนำความคิดนอกกรอบอย่างสร้างสรรค์ไปใช้ในการแก้ปัญหา ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นของตน ลดปัญหาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับประเทศและนานาชาติ และในขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์จากผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นชิ้นงานนวัตกรรม โดยการสร้างเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งจะเป็นการพัฒนาต่อยอดสร้างสรรค์ชิ้นงานให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น เพื่อจะเป็นเครื่องมือที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้งานได้จริง หรือนำไปปรับใช้กับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์แก่เจ้าของงานอย่างแท้จริง รวมถึงโรงเรียน ชุมชน สังคมและประเทศชาติ”
ขณะเดียวกันก็ดำเนินโครงการ "กฟผ.เพาะเมล็ดพันธุ์จิตอาสาพัฒนาสังคม" หรือ EGAT CSR CAMP ต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 8 ในปีนี้ โครงการนี้มุ่งปลูกจิตสำนึกที่ดีแก่นิสิต นักศึกษา และจิตอาสา ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์โดยเข้าร่วมพัฒนาต่อยอดโครงการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ที่ กฟผ. เข้าไปพัฒนา ซึ่งตั้งแต่เริ่มจนถึงปัจจุบัน มีนิสิต นักศึกษา และจิตอาสาที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมแล้ว เกือบ 2,000 คน สามารถสร้างกิจกรรมเพื่อชุมชนทั่วประเทศไปแล้วกว่า 160 โครงการ
ในปีนี้เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา และคณาจารย์ที่มีจิตอาสาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอุทิศตนช่วยเหลือสังคมเป็นจำนวน 43 ทีม รวมทั้งสิ้นกว่า 240 คนจาก 20 สถาบันศึกษาทั่วประเทศ โดยเยาวชนที่เข้าร่วมจะได้เยี่ยมชมกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำและพลังแสงอาทิตย์ เรียนรู้แนวคิดและวิธีการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” การใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า และเรียนรู้การปฏิบัติตามแนวชีววิถีในพื้นที่จริง